เปิดธุรกิจ CP เดินหน้าลงทุนทั่วโลก ทุกประเทศที่ CP ไปลงทุน ต้องมีธงชาติไทยไปอยู่ที่หน้าโรงงานเสมอ เพื่อให้ทั่วโลกเห็นว่าคนไทยทัดเทียมประเทศชั้นนำของโลก

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ทีมงาน Brandinside asia ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ท่านประธานธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยท่านประธานอาวุโสเปิดเผยว่า CP เป็นบริษัทที่ลงทุนกว่า 20 ประเทศ ทำตลาดกว่า 100 ประเทศทั่วโลก เพราะเป็นธุรกิจอาหารและการเกษตรจึงสามารถไปได้ทุกแห่ง และสามารถสร้างรายได้ส่วนใหญ่ 60-70% ของบริษัทมาจากต่างประเทศ และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ

CP มีมุมมองที่ว่าบริษัทคนไทย ที่เมื่อใหญ่แล้วต้องออกไปบุกเบิกตลาดต่างประเทศ นำรายได้เข้าสู่ประเทศไทย ทุกประเทศที่ CP ไปลงทุน ต้องมีธงชาติไทยไปอยู่ที่หน้าโรงงานเสมอ เพื่อให้ทั่วโลกเห็นว่าคนไทยทัดเทียมประเทศชั้นนำของโลก แต่ไม่ว่าไปประเทศไหนก็ได้รับการต้อนรับ

“CP เป็น International Company มานานแล้ว แต่ไม่เคยบอกใคร แนวทางของ CP คือ การบุกตลาดต่างประเทศต้องเข้าไปลงทุน ไม่ได้ไปแค่ขายของเท่านั้น สนับสนุนให้คนในประเทศนั้นได้เรียนรู้ ได้พัฒนา เท่ากับว่า CP เติบโตขึ้น แต่คนในประเทศนั้นก็เติบโตขึ้นด้วย”

ซีพีกับการลงทุนในประเทศจีน

หลังจากจีนเริ่มเปิดประเทศในปี พ.ศ. 2521 ซีพี เป็นบริษัทต่างชาติบริษัทแรกที่เข้าไปลงทุน อีกทั้งเป็นบริษัทต่างชาติบริษัทแรกที่ได้จดทะเบียนการค้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ตั้งแต่นั้นมาใช้ชื่อ เจียไต๋ กรุ๊ป หรือที่ภาษาจีนกลางอ่านว่า“เจิ้งต้า” หนึ่งในการดำเนินธุรกิจที่ประเทศจีน ซึ่งก็ได้กลายเป็นชื่อที่คุ้น ในประเทศจีนนั้น ซีพีในจีนจัดเป็นบริษัทขนาดใหญ่ เฉพาะธุรกิจของเครือฯในจีนมีมูลค่าเกือบ 40% ของยอดขายรวมของเครือเจริญโภคภัณฑ์

ซีพีผนึกรายใหญ่ “เบลลิซิโอฟู้ด” เร่งเครื่องเจาะตลาดอเมริกา

หลังจากเริ่มต้นกลยุทธ์สำคัญตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 ให้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ทุ่มเม็ดเงินกว่า 38,000 ล้านบาท ซื้อหุ้น 100% ของบริษัท เบลลิซิโอ ฟู้ด อิ้งค์ (Bellisio) ผู้นำด้านการผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในสหรัฐอเมริกา เพื่อรองรับเทรนด์อาหารแช่แข็งทั่วโลกที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เบลลิซิโอเป็นผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายอาหารแช่แข็งแบบSingle Serve ภายใต้ตราสินค้า มิชิลิน่าส์ (Michelina’s) แอทคินส์ (Atkins) บอสตันมาร์เก็ต (Boston Market) ชิลีส์ (Chili’s) อีทติ้งเวล (EatingWell) และอีท (Eat!) รวมทั้งเป็นผู้ผลิตร่วมสินค้าภายใต้แบรนด์ของลูกค้า (Private Label) และผู้ประกอบการธุรกิจอาหารต่างๆ ซึ่งการประเดิมนำเข้าสินค้าแบรนด์บอสตัน มาร์เก็ต เข้ามาเจาะตลาดไทย ถือเป็นการเริ่มต้น Synergy ของ 2 ธุรกิจใหญ่

ตลาดอเมริกามีศักยภาพมาก จำนวนประชากรมากถึง 325 ล้านคน คิดเป็น 5% ของประชากรโลก และมีกำลังซื้อสูง ประกอบกับยังมีมูลค่าธุรกิจอาหารมากกว่า 5.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งตลาดอาหารแช่แข็งและอาหารกินเล่นมีอัตราเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4-5% ต่อปี ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพีราว 19 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 1 ใน 4 ของจีดีพีของโลก

ซีพีขยายฐานในยุโรป

ซีพีเอฟขยายตลาดในยุโรป ซื้อกิจการอาหารพร้อมรับประทาน“ท็อปส์ฟู้ดส์” สัญชาติเบลเยียม หนุนแผนขยายฐานการผลิตเสริมความแข็งแกร่งในการกระจายสินค้าในยุโรป Tops Foods เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านการผลิตและจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน จดทะเบียนจัดตั้งในราชอาณาจักรเบลเยียมในปี 2536 มีรายได้ประมาณ 12 ล้านยูโรในปี 2555 และมีสินทรัพย์รวมมูลค่าประมาณ 10.6 ล้านยูโร โดยมีกำลังการผลิตอาหารพร้อมรับประทานจำนวนประมาณ 100,000 ถาดต่อวัน การตอกย้ำการเป็นครัวของโลก ด้วยการขยายฐานการผลิตอาหารพร้อมรับประทานไปยังทวีปยุโรปเพื่อการจำหน่ายให้แก่ประเทศต่างๆ ในแถบนั้น โดยโรงงานของ Tops Foods เป็นโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตอาหารพร้อมรับประทานด้วยไมโครเวฟที่ทันสมัยและได้มาตรฐาน

ซีพีกับตลาดอินเดีย

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ (อินเดีย) เริ่มทำธุรกิจที่เมืองเจนไน รัฐทมิฬนาฑู ในปี 2540 โดยตั้งโรงงานอาหารสัตว์ และทำฟาร์มไก่เนื้อระบบจ้างเลี้ยง จากนั้นจึงขยายไปยังกิจการสร้างฟาร์มไก่พันธุ์ และโรงฟักที่เมืองบังคาลอร์ ตามมาด้วยเมืองวิจายาวาดา รัฐอานธรประเทศ, เมืองปูเน่ รัฐมหาราษฏระ, เมืองเวลลอร์ รัฐทมิฬนาฑู, เมืองชิททู รัฐอานธรประเทศ,รัฐปัญจาบและรัฐฮารียาน่าสำหรับประเทศอินเดียปัจจุบันซีพีได้เข้ามาลงทุนใน 4 บริษัทฯ คือ (1) บริษัท CP Aquaculture (India) จำกัด ผลิตและจำหน่ายอาหารกุ้งและปลา เพาะฟักลูกกุ้ง (2) บริษัท Charoen Pokphand (India) จำกัด ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ เพาะฟักลูกไก่ และ (3) บริษัท Charoen Pokphand Seeds (India)จำกัด ผลิตและจำหน่ายเมล็ดข้าวโพดพันธุ์ผสม และ (4) บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือกลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) ประกาศลงทุนในธุรกิจค้าส่งCash & Carry ตั้งเป้าหมายเปิดศูนย์ค้าส่ง 15 สาขา ภายใน3 ปี ด้วยเงินลงทุน 10,000 ล้านรูปี ใน 5 ปีแรก ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้จะสร้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับชุมชนกว่า5,000 ตำแหน่ง โดย LOTS Wholesale Solutions สองสาขาแรกเปิดดำเนินการในปี 2018 ณ กรุงเดลี

ซีพี กับรัสเซีย

ซีพีเอฟขยายฐานซื้อบริษัทไก่ครบวงจรในประเทศรัสเซีย เล็งใช้เป็นฐานผลิตส่งออกสินค้าไปยังภูมิภาคใกล้เคียง กิจการไก่ครบวงจรของบริษัท Agro-Invest Brinky B.V. ในประเทศรัสเซียจะเป็นฐานที่สำคัญสำหรับการขยายธุรกิจในประเทศรัสเซียของซีพีเอฟ เนื่องจากตลาดสัตว์ปีกในประเทศรัสเซียเป็นตลาดที่ไม่มีผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาด (fragmented market) ในขณะที่อัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับประเทศรัสเซียมีจำนวนประชากรสูงคือมากกว่า 140 ล้านคน นอกจากนั้น เมื่อรวมกับธุรกิจสุกรที่ซีพีเอฟได้ลงทุนอยู่แล้ว บริษัทจะมีศักยภาพในการเติบโตในอนาคตจากการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่หลากหลายและมีโอกาสที่จะพัฒนาธุรกิจไปสู่การส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์จากประเทศรัสเซียไปยังประเทศอื่นๆ

ซีพีกับความร่วมมือในประเทศญี่ปุ่น

ซีพีได้ผนึกกำลัง อิโตชู ซึ่งเป็นบริษัทการค้าใหญ่เป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น มียอดขายเมื่อสิ้นงวดบัญชีมีนาคม 2557 ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนยอดขายของธุรกิจอาหารในสัดส่วน26% หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 400,000 ล้านบาท โดยมีการทำธุรกิจหลากหลายในประเทศญี่ปุ่นและมีการลงทุนในต่างประเทศหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ธุรกิจของอิโตชูมีทั้งการค้าภายในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ธุรกิจค้าปลีกภายใต้ชื่อ แฟมิลี่มาร์ท ที่มีสาขามากกว่า 10,000 สาขา ธุรกิจค้าส่งและศูนย์กระจายสินค้า การให้บริการด้านระบบขนส่งสินค้า(โลจิสติกส์) การทำธุรกิจผลไม้กระป๋องภายใต้ตราสินค้าDole ธุรกิจด้านการเงิน ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจ Textile เป็นต้น ทั้งยังเป็นบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ 1 ใน 5 ในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น นอกจากนั้นอิโตชูยังเป็นผู้นำเข้าสินค้าอาหารระดับต้น ๆ ของประเทศญี่ปุ่นด้วย

นอกจากนี้ ซีพี ยังผนึกกำลังกับ อิโตชู ไปเป็นพันธมิตรกับกลุ่มซิติก ประเทศจีน ทั้งนี้นับเป็นการสร้างความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ระหว่างบริษัทชั้นนำของเอเชีย ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น และจีน โดยมีเป้าหมายที่จะผนึกกำลังเพื่อแสวงหาโอกาสทางการค้าการลงทุน ทั้งในเอเชีย และทั่วโลก ซึ่งจะเสริมศักยภาพของภาคธุรกิจในเอเชียให้โดดเด่นบนเวทีโลก โดยในส่วนของเครือเจริญโภคภัณฑ์นั้นการร่วมทุนนี้จะช่วยขยายโอกาสธุรกิจด้านเกษตรอุตสาหกรรม และอาหาร การค้าปลีก และการค้าระหว่างประเทศ และอื่นๆ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของทุกฝ่าย ซึ่งมั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นการค้า และส่งเสริมการลงทุนในไทย และทั่วภูมิภาค

ซีพีในประเทศเวียดนาม

ซีพี ก่อตั้ง บริษัท ซี.พี.เวียดนาม ไลฟ์สต๊อค จำกัด สร้างโรงงานผลิตอาหารสัตว์บกภาคใต้ที่จังหวัดด่องนายเป็นแห่งแรก หลังจากนั้นในปี 2554 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซี.พี. เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น จากนั้นขยายไปสู่ธุรกิจเพาะเลี้ยงสุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ส่วนทางภาคใต้เน้นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะกุ้งขาวแวนนาไม และปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ ณ บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

ปัจจุบัน ซีพีเวียดนาม มีธุรกิจตั้งแต่อาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงงานแปรรูป และจุดจำหน่าย ครอบคลุมทั้งในสัตว์บกและสัตว์น้ำ ซึ่งถ้าพิจารณาดีๆ จะเห็นว่าซีพีเวียดนาม ยกโมเดลธุรกิจแบบครบวงจรจากประเทศไทยไปดำเนินการ การทำธุรกิจครบวงจรเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งกระบวนการผลิต อันเป็นปัจจัยสำคัญในการตอบสนองความปลอดภัยในอาหาร (Food Safety) เพื่อผู้บริโภคทั่วโลก นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะยกระดับภาคเกษตรของประเทศเวียดนามให้ทัดเทียมสากล

กูมูสต้า…ฟิลิปปินส์

ซีพีเอฟ นำเทคโนโลยีทางการเกษตรและอาหาร ถ่ายทอดสู่เกษตรกรชาวฟิลิปปินส์ เพื่อเพิ่มผลผลิตอาหารโปรตีนคุณภาพสูง พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่น พัฒนากระบวนการผลิตอาหารของฟิลิปปินส์ให้เข้าสู่ผู้ผลิตอาหารปลอดภัยและมีความมั่นคงทางอาหารมาโดยตลอด ทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศฟิลิปปินส์ ผ่านโครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อย

ปัจจุบันธุรกิจของซีพีเอฟในฟิลิปปินส์ ประกอบด้วยการผลิตอาหารสัตว์บกและสัตว์น้ำ ฟาร์มไก่และฟาร์มสุกร โดยการผลิตดังกล่าวเป็นไปเพื่อรองรับความต้องการในประเทศเป็นหลักช่วยทดแทนการนำเข้าเนื้อสัตว์ และมุ่งเน้นการสร้างงานสร้างอาชีพตลอดจนสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยชาวฟิลิปปินส์ เพื่อให้ปัจจัยการผลิตอาหารมนุษย์มีคุณภาพดีตั้งแต่ต้นทางคืออาหารสัตว์ ตลอดจนพ่อพันธุ์–แม่พันธุ์ทั้งไก่และสุกร ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมาถึงการผลิตอาหารคุณภาพดีเพื่อเลี้ยงผู้บริโภคในประเทศอย่างเพียงพอในราคายุติธรรม

ซาลามัด ดาตัง… มาเลเซีย

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์มาเลเซีย จำกัด (ซีพีมาเลเซีย) ล่าสุดได้นำโครงการเลี้ยงไก่ไข่ครบวงจร มาสร้างประโยชน์มหาศาลแก่ประเทศมาเลเซีย โดยเชิญภาครัฐบาล กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตร ของมาเลเซีย เข้ามาเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตไก่ไข่ที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม (Green Farm-Zero Waste) ศึกษาระบบ Biogas ที่ทำให้ฟาร์มสามารถผลิดไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มได้ถึง7.2 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี ลดต้นทุนพลังงานได้ปีละ 30 ล้านบาท

ขณะที่ผลผลิตไข่ไก่ที่วางจำหน่ายจะเป็นไข่ไก่ที่ผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ มีระบบการลำเลียงไข่โดยสายพานมาโรงบรรจุที่เรียกว่าระบบ Inline ไม่ต้องใช้มือสัมผัสไข่จนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค เครื่องคัดขนาดไข่ของที่นี่ ถือว่าทันสมัยที่สุดในเอเชียไข่ทุกฟองจะผ่านการล้าง และฆ่าเชื้อโดยระบบ UV ถึง 3 ครั้ง ก่อนเครื่องจะนำไข่ลงบรรจุภัณฑ์ ที่มีระบบฆ่าเชื้อระดับ Nano Technology ใหม่ล่าสุดในเอเชียไข่ไก่จากฟาร์มซีพีมาเลเซียจึงปลอดจากเชื้อSalmonella 100%

ส่วนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในมาเลเซีย มีความโดดเด่นอย่างมากในการเพาะเลี้ยงกุ้ง ตลอดจนแปรรูปกุ้งตามมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูง กระทั่งสามารถส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น สร้างรายได้แก่ประเทศมาเลเซียอีกทางหนึ่ง มาเลเซีย จึงเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ซีพีเอฟ เข้าไปมีบทบาทในการต่อยอดการพัฒนาภาคเกษตรในภูมิภาคอาเซียน ด้วยการส่งมอบคุณภาพการผลิตที่สะอาด ปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับได้

ที่มา:Brandinside.asia