Brixham…เสน่ห์เมืองประมงเล็กๆ บนเกาะอังกฤษ ต้นแบบการพัฒนาเมืองประมง

ดร.ณวัฒน์ คำนูณวัฒน์
สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล
เครือเจริญโภคภัณฑ์

หาดหินกรวดกับน้ำเย็น ๆ ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับเด็กๆ ที่มาเล่นน้ำกันเลย

บินลัดฟ้าจากไทยไปอังกฤษ
ช่วงเดือนนี้เมื่อปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเมืองเล็ก ๆ ที่ประเทศอังกฤษ ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดอุตสาหกรรมประมงอวนลาก (Birthplace of the Trawling Industry) สำหรับท่านที่ไม่รู้จักว่าอวนลากคืออะไร มันคือการจับปลาครั้งละจำนวนมาก ๆ ด้วยวิธีการ “ลาก” ตาข่ายใหญ่ ๆ ในทะเล เป็นวิธีที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน

เมืองนี้ชื่อ Brixham อยู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอังกฤษ เป็นเมืองประมงเล็กๆ ประชากรราวสองหมื่นคน ที่น่าสนใจคือพวกเขามีประวัติที่น่าภาคภูมิใจเกี่ยวกับการทำประมงอวนลาก ตั้งแต่การคิดค้นการต่อเรือประมงแบบด้วยอวนลากบนเรือใบ (sailing trawler) มาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งก่อนหน้านี้ประมงที่นี่ใช้วิธีจับที่มีประสิทธิภาพต่ำที่อาศัยเบ็ดราว (long-lining) เป็นหลักเท่านั้น

หลังจากที่มีการคิดค้นอวนลากที่ประสิทธิภาพดีกว่าขึ้นมา จำนวนเรือก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ ประมาณ 200-300 ลำในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เรือจากท่าเรือเล็ก ๆ ของ Brixham ก็สามารถออกไปทำประมงในที่ที่ไกลขึ้นได้ จนทำให้มีท่าเรือเกิดในที่ต่าง ๆ ของอังกฤษเช่น ท่าเรือเมือง Hull Grimsy Lowestoft Great Yarmouth จนกระทั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 จบ เรือหลายลำโดยจมโดยเรือรบเยอรมัน จำนวนเรือประมงก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปี 1926 มีเรือเหลืออยู่ประมาณ 40 ลำ นอกจากนี้สงครามยังทำลายหน้าดิน (seabed) ของพื้นทะเลมาก มีซากปรักหักพังของเรือต่าง ๆ ถึงแม้ในช่วงปีแรกๆของการเสร็จสิ้นสงครามจำนวนปลาเหมือนจะเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่สภาพพื้นทะเลที่ย่ำแย่ทำให้อัตราการการจับสัตว์น้ำได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด ในปี 1936 จำนวนเรืออวนลากที่ใช้ใบในเมือง Brixham เหลือเพียง 29 ลำ และได้สิ้นสุดโดยสิ้นเชิงในปี 1939 หรือ ช่วงประกาศสงครามโลกครั้งที่สองนั่นเอง

บริเวณท่าเรือกลางเมือง Brixham มีเรือลำเล็กๆ จอดเรียงรายเต็มไปหมด
ในวันอากาศดีๆ เช่นนี้ ท้องฟ้าตัดกับสีบ้านเรือน
สีน้ำเข้มสงบไร้คลื่น …บรรยากาศแบบนี้เป็นใครก็ติดใจได้ไม่ยาก

ผมมาถึงที่เมืองนี้ช่วงบ่าย ๆ เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ตรงมา London แล้วต่อรถมาที่เมืองนี้โดยไม่ได้แวะพักที่ไหนเลย สภาพเมื่อมาถึงที่พักนั้นคือเหนื่อย เพลีย และหิวข้าวแบบสุด ๆ ระหว่างทางก็สลึมสลือไม่ได้ดูทางหรือวิวภายนอกรถโดยสารมากนัก พอมาถึงที่พักผมก็แบกกระเป๋าขึ้นไปยังชั้นสองครึ่ง (เนื่องจากโรงแรมเกิดจากการดัดแปลงบ้านมาต่อกัน มีบันไดที่ซับซ้อนพอควร จึงบอกไม่ได้แน่นอนว่าห้องผมอยู่ชั้นอะไรกันแน่) เปิดประตูเข้าพบกับภาพวาดที่ไม่ใช่ภาพวาด แต่มันคือวิวของเมือง Brixham ที่อวดผู้มาเยือนจากอีกมุมโลกอย่างภาคภูมิใจ ภาพของเรือหลายลำจอดเรียงรายในอ่าวใจกลางขอเมือง ท้องฟ้าตัดกับบ้านเรือนหลายสีสันเบียดกันดูอบอุ่น น้ำสีเข้มออกเขียวฟ้า นิ่งสงบ ปลอบประโลมคนมาเยือนได้ดียิ่ง

วิวจากห้องนอน งดงามเหมือนภาพวาด กับกรอบไม้สีขาว
ต้อนรับผู้มาเยือนที่แม้ไม่ได้นอนมาหลายขั่วโมง ให้ตื่นเต้นกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้

เมือง Brixham เมืองของชาวประมง
ผมกลับมีแรงอีกครั้ง ร่างกายและสมองทำงานพร้อมกันว่าออกไปข้างนอกดีกว่า เวลามีน้อย อากาศดีเช่นนี้ในอังกฤษหายากนัก ผมจึงรีบวางของและออกไปเดินเล่นภายในเมืองทันที และแน่นอนต้องเติมพลังด้วย Fish & Chips เมนูสิ้นคิดของที่นี่ แต่มันช่างเหมาะสมกับเมืองนี้ และเวลานี้มาก ๆ เพราะเมือง Brixham เป็นเมืองของชาวประมง เป็นเมืองที่มีบรรยากาศของความภาคภูมิใจในความเป็นเมืองประมงเป็นอย่างมาก ที่เราจะเห็นได้จากการตั้งชื่อร้านรวง การแต่งบ้านเมือง ทุกอย่างจะมีเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินเรือและประมงเสมอ

ร้านไอศครีม


4 สาวนั่งกินไอศครีมรับไอแดด

ชื่อ Pub หนีไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับเรือ

ร้าน Fish & Chips ที่ตกแต่งน่าสนใจ

บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์ประจำเมือง

การตกแต่งบ้านด้วยสัญลักษณ์ของการเดินเรือ

Pride in Brixham
บรรยากาศในเมือง ร้าน Fish & Chips ทางเดินริมหาดทอดยาว ความภาคภูมิใจในความเป็นชาวประมงอบอวนไปทั่วเมือง Brixham

มื้อแรกกับอาหารสิ้นคิดประจำชาติ ประหนึ่งผัดกระเพราไก่ไข่ดาว

วันแรกผ่านไปอย่างรวดเร็ว ผมเดินสำรวจเมืองเล็ก ๆ นี้ ด้วยความสุข อาจจะเป็นเพราะลึก ๆ แล้วผมคิดถึงอังกฤษเป็นอย่างมาก ช่วงหนึ่งของชีวิตก็เคยมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้แม้จะเป็นอีกเมืองหนึ่ง แต่บรรยากาศของเมืองในอังกฤษ ผู้คน ร้านขาย sausage rolls ร้านสะดวกซื้อกับของที่คุ้นเคย ได้กิน Dr Pepper ความทรงจำเก่า ๆ ก็ทำให้เรามีความสุขได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

วันต่อมาหลังจากทำภาระกิจเสร็จ (ทริปนี้ผมมาทำงานนะ) ช่วงบ่ายเย็นๆ พอมีเวลาก่อนพระอาทิตย์จะตกดิน ผมรีบเปลี่ยนเสื้อผ้า ออกมาวิ่งชมเมืองบริเวณที่เขาเรียกว่า Berry Head ซึ่งถือเป็น National Nature Reserve (แปลเป็นไทยก็น่าจะประมาณเขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติ) เป็นธรรมชาติลักษณะเป็นหน้าผาหินยื่นไปในทะเล ยังมีจุดเด่นเป็นประภาคาร และป้อมปราการเปรียบเหมือนจุดทางเข้าเมือง Brixham จากทางทะเลบริเวณช่องแคบอังกฤษ (English Channel) จะว่าไปแล้วก็เป็นทิวทัศน์ที่เห็นได้ทั่วไปในเมืองติดทะเลของประเทศอังกฤษ ถึงแม้จะไม่ได้เด่นอะไรเป็นพิเศษ แต่การวิ่งผ่านลัดเลาะเมืองชนบทที่เงียบสงบในวันที่อากาศไม่เกิน 20 องศานั้น มันคือประสบกาณ์ที่ยากจะลืมเลือน

Berry Head

ตลาดปลา Brixham Fish Market
สิ่งที่น่าสนใจในเมืองนี้นอกจากวิวทิวทัศน์แล้วคือ ตลาดปลา Brixham Fish Market เพราะเป็นที่ที่เราได้รับโอกาสให้เข้าไปดูกระบวนการประมูลปลาที่พึ่งจับได้มา เราได้เห็นพันธุ์ปลา สัตว์น้ำต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนบ้านเรา ส่วนใหญ่จะมีขนาดใหญ่กว่ามาก ยกตัวอย่างเช่น ปลาที่มีรูปร่างแบน (Flat Fish) อย่างปลา Plaice ซึ่งมีหน้าตาคล้ายปลาลิ้นหมา หรือปลาตาเดียวในบ้านเรา แต่ตัวใหญ่กว่า ปูที่นี่ก็ใหญ่มากผมลองจับขึ้นมามีขนาดประมาณหน้าอกผมได้เลย
นอกจากพันธุ์ปลาที่น่าสนใจแล้ว เราจะเห็นได้ว่าปลาที่เป็นเศษเหลือ (Trash Fish หรือ By-Catch) ที่จับติดมาด้วยนั้นมีปริมาณน้อยมาก คือแทบจะเป็นปลาที่คนกินได้ทั้งหมด มีมูลค่าสูง สามารถส่งให้ร้านอาหารหรือการแปรรูปต่าง ๆ ได้เลย ทั้งนี้น่าจะเป็นด้วยหลายสาเหตุ เช่น การกำหนดโควต้าการจับแบบเฉพาะเจาะจงชนิดพันธุ์และบริเวณที่จับ การบริหารจัดการที่ใช้กลไกตลาดเป็นตัวขับเคลื่อน และสุดท้ายการพัฒนานวัตกรรมของเครื่องมือประมงเอง

ตลาดปลา Brixham กับการประมูลสัตว์น้ำช่วงเช้า

ปลา Plaice เนื้อนุ่ม

หอยแมลงภู่

รวมปลาหลากชนิด

แน่นอนชมตลาดปลาเสร็จแล้วเราก็ไม่พลาดที่ขอชิมปลาห้รู้รสก่อนกลับบ้าน
การจะเข้าใจถึงพัฒนาการของการประมงอังกฤษนี้เราอาจต้องย้อนไปเมื่อหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้เชี่ยวชาญที่ผมเจอในทริปนี้เล่า ช่วงนั้นประเทศอังกฤษทำการประมงอย่างขยันขันแข็ง เนื่องจากรัฐบาลต้องการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วจึงมีความจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมาก มีการสนับสนุนการต่อเรือโดยภาครัฐ ทำให้การควบคุมจำนวนเรือไม่สามารถทำได้ แม้จะมีการกำหนดจำนวนเรือที่อังกฤษควรจะมีในช่วงปี 1970 แล้วก็ตาม เรือประมงมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ สถานการณ์สัตว์น้ำแย่ลงต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น กรณีปลา Herring ที่บริเวณน่านน้ำตอนบนของอังกฤษ (North Sea) ที่ลดลงจนถึงขั้น Collapse หรือพูดง่าย ๆ ว่าสูญสิ้นหายไปและไม่กลับมาอีกเลย ประกอบกับการริเริ่มกำหนดโควตาการจับ (Quotas) จากการตกลงระหว่างประเทศยุโรป ทำให้รัฐบาลหันมาจริงจังกับเรื่องทรัพยากรทางทะเล และการควบคุมการประมงอย่างจริงจังมากขึ้น จำนวนเรือประมงของอังกฤษก็ได้ค่อย ๆ ถอยกลับไปยังตัวเลขที่มันควรจะเป็นที่คำนวณไว้ตั้งแต่ช่วงปี 1970s

3 วัน 2 คืนเรียนรู้อะไรสำหรับเมืองไทย
ข้อแรก Pride of Fishing Town ในประเทศไทยเราไม่มี เราจะมีซักเมืองไหมที่ภาคภูมิใจกับการทำประมงได้ขนาดนี้ เพราะผมว่ามันเป็นเสน่ห์ สร้างคุณค่าให้กับเมืองเอง จากประสบกาณ์ทำงานร่วมกับชาวประมงมา ผมไม่เคยเห็นจังหวัดไหนที่มีการ Promote ตัวเองว่าเป็นเมืองประมง เมืองของนักเรือ เมืองของผู้เชี่ยวชาญด้านการทำประมง ผู้คิดค้นนวัตกรรมการจับปลาแบบใหม่ ๆ ทั้ง ๆ ที่ประเทศเราก็มีการจับปลา บริโภคปลามายาวนาว ผมมั่นใจว่าเรามีองค์ความรู้ของเราเช่นกัน และมีเสน่ห์ที่หลากหลาย มีอัตลักษณ์ในแต่ละพื้นที่

ข้อที่สอง บทเรียนปลา Herring ไม่ควรซ้ำรอยกับปลาทูหรือปลาใดๆ ในประเทศไทย เราสามารถถอดบทเรียนอะไรได้บ้างจากประเทศอังกฤษ จริงอยู่บริบททางชีวภาพ วัฒนธรรม สังคมและเศรษฐกิจนั้นแตกต่างกัน แต่เราก็ไม่ควรละเลยไม่เรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น คนฉลาดย่อมสามารถหาวิธีที่มาปรับใช้ไม่มากก็น้อยได้ เราสามารถเห็นเรียนรู้ได้จากตลาดปลา Brixham เรียนรู้จากกลไกตลาดที่นั่น อะไรคือ incentives หรือแรงจูงใจที่ทำให้เขาไม่จับปลาตัวเล็ก ทำไมเขายินดีที่จะลงทุนเสียเงินเสียแรงกับการคิดค้นทำอวนรูปแบบใหม่ ๆ แล้วภาครัฐเกี่ยวข้องมากน้อยขนาดไหนกับกระบวนการทั้งหมดนี้ เพราะผมไม่เชื่อว่าคนอังกฤษจะประเสริฐกว่าคนไทย ไม่เชื่อว่าจู่ ๆ เขาจะมารักโลกรักปลามากกว่าคนไทย แต่ผมเชื่อในกลไกของตลาดกัลการบริหารบนหลักเศรษฐศาสตร์ของการใช้ทรัพยากรร่วมที่จะทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรได้อย่างสมดุลย์