CPF บุกตลาดไก่จีน-สิงคโปร์ คว้าโอกาสสหรัฐ หลังเจอวิกฤตขาดแคลนอาหาร พร้อมรุกธุรกิจรับ New Normal

คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า การบริหารจัดการการระบาดของโควิด19 รัฐบาลทำได้ดีมากทั้งระบบสาธารณสุขและวิกฤติด้านอาหารเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ ที่ขณะนี้มีปัญหามาด้านการขาดแคลนโดยสิงคโปร์เดิมที่ปฏิเสธการนำเข้าอาหารจากไทยมาโดยตลอด เนื่องจากนำเข้าจากมาเลเซียเป็นหลัก ปัจจุบันเมื่อมาเลเซียปิดด่านเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด ทำให้เกิดปัญหาจึงหันมาสั่งซื้อจากไทยแทน เป็นการเปิดไข่ไก่ ให้กับไทยอย่างเป็นทางการ และหากสถานการณ์โควิดทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์ ยังไม่สามารถควบคุมได้ คาดว่าในที่สุดสิงคโปร์จะเปิดตลาดให้กับไก่สดของไทย

ในส่วนของสหรัฐฯ มี 147 โรงงาน ที่จีนรับรองเพื่อสั่งซื้อ แต่ปัจจุบันโรงงานเหล่านี้มีปัญหา และผลผลิตไก่โดยรวมของสหรัฐฯยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ต้องนำเข้าไก่จากบราซิลไปทดแทนบางส่วน ในขณะที่ จีนที่สามารถควบคุมการระบาดของโควิดได้แล้ว มีความต้องการนำเข้าไก่สดจำนวนมาก และได้เข้ามารับรองโรงงานไก่ของไทยเพิ่มเป็น 21 แห่งแล้ว

ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะผลักดันการส่งออกตลาดจีนได้อีกมหาศาล ซึ่งไทยมีศักยภาพที่จะผลิตไก่ที่มีคุณภาพ ปลอดภัยเป็นที่ยอมรับของโลก เป็นผู้ส่งอิอกอันดับ 3 รองจากสหรัฐฯและบราซิล กำลังการผลิต 8 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ใช้บริโภคภายในประเทศไม่เกิน 5 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ที่เหลือจำเป็นต้องผลักดันส่งออก และจะไม่กระทบกับความมั่นคงทางด้านอาหารของไทยแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามยอมรับว่าในช่วงการระบาดของโควิด กำลังซื้ออาหารลดลงบ้าง แต่มั่นใจว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นทุกอย่างจะกลับดีกว่าเดิม โดยเฉพาะผู้บริโภคจะใส่ใจเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งเป็นหัวใจหลักของซีพีเอฟที่มีผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัย ส่วนอาหารตลาดสดต้องพัฒนาให้ได้มาตรฐานต่อไป

สำหรับรายได้ของซีพีเอฟส่วนใหญ่มาจากการขายในประเทศ 20-25 % จีน 20 % เวียดนาม 10 % ซึ่งเป็นประเทศที่สามารถจัดการโควิดได้ดีทำให้ไม่ได้รับการผลกระทบ และคาดว่ายอดขายในไตรมาส 4 จะฟื้นตัวดันยอดขายโดยรวมได้

“เป็นความโชคดีประเทศที่เป็นรายได้หลักของซีพีเอฟ ได้แก่ ไทย จีน และเวียดนาม มีการบริหารจัดการเรื่องการแพร่ระบาดไวรัส โควิด-19 ได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้ซีพีเอฟไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งขณะนี้กำลังติตตามปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหาร ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในสหรัฐ ทำให้การดำเนินธุรกิจโรงงานชำแหละไก่และหมู ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เพราะมีคนงานจำนวนหนึ่งติดเชื้อ โควิด19 ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการในจีนหันมาซื้อสินค้าไก่สดไทยมากขึ้น”

ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19นี้ ซีพีเอฟได้ร่วมบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน ล่าสุด ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯจะใช้รถ Food Truck CP Freshmart นำอาหารไปอุ่นร้อนแจกจ่ายประชาชนในเขตบางกอกน้อยและบางพลัด และการส่งมอบอาหารให้ประชาชนในครั้งนี้ เป็นอีกส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือประเทศชาติและประชาชน ให้ก้าวผ่านวิกฤตไวรัสโควิด-19 ไปด้วยกัน โดยก่อนหน้านี้ CPF ได้มอบอาหารให้แก่ชุมชนคลองเตยไปแล้ว 8,499 ครัวเรือน

“อาหารที่นำมาแจกเป็นชุดที่ผลิตจำหน่ายในราคา 20 บาท ที่หลังจากหมดโควิดไปแล้ว ซีพีเอฟก็คงไม่ผลิตขายในราคานี้ได้อีก โดยมีแผนจะแจกใน 16 จัหวัดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามเป้าหมายที่ต้องการกระจายความช่วยเหลือไปให้มากที่สุด”

คุณประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ผลกระทบของสถานการณ์โรคระบาดไวรัส โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ธุรกิจอาจมีการชะงักงันบ้างขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละประเทศในการบริหารจัดการ และการยกระดับมาตรการป้องกันความเสี่ยง รวมทั้งเรื่องการเตรียมการและความสามารถในการกระจายสินค้าของแต่ละบริษัท

สำหรับซีพีเอฟนั้น ได้มีการยกระดับความเสี่ยงเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ในระยะแรกฯ ของการแพร่กระจาย และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนการเตรียมความพร้อมร่วมกับหลายหน่วยงาน เช่น การปรึกษาและทำงานร่วมกับกรมอนามัยในเรื่องความเพียงพอของระบบการป้องกันการกระจายโรคในโรงงานและฟาร์มต่างฯ พร้อมกันนั้น ซีพีเอฟได้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าวกับบริษัทของซีพีเอฟในต่างประเทศอีก 16 ประเทศ ด้วยการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี และเป็นความโชคดีประเทศที่เป็นรายได้หลักของซีพีเอฟ ได้แก่ ไทย จีน และเวียดนาม มีการบริหารจัดการเรื่องการแพร่ระบาดได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้ซีพีเอฟไม่ได้รับผลกระทบ

บริษัทให้ความสำคัญเสมอด้านกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยสำหรับพนักงานทุกคน ที่ไม่ก่อให้เกิดภาวะธุรกิจหยุดชะงัก ด้วยการดำเนินงานอาจมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ความชะงักงันของการดำเนินการบางอย่างอาจเกิดขึ้น แต่เราจะต้องปรับตัวและวางแผนต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งแน่นอนเราได้เห็นความต้องการบริโภคลดน้อยลง แม้แต่ในธุรกิจเกษตรและอาหาร จากพฤติกรรมทางสังคมและการดำเนินการด้านการส่งออกของแต่ละประเทศที่เปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น (New normal) เหล่านี้เป็นผลกระทบระยะสั้น ดังนั้น เราต้องประเมินสถานการณ์และวางแผนงานปรับตัวให้สอดคล้องกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ