วิสัยทัศน์ปธอ.กับการรับมือโควิด-19

สวัสดีครับ เพื่อนๆชาวซีพี สัปดาห์นี้ไม่พูดถึงเรื่องนี้คงไม่ได้ เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญของชาติบ้านเมือง ที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19

แต่ก่อนอื่นคงต้องบอกกับเพื่อนๆชาวซีพีว่าเครือซีพีของพวกเราทำได้สำเร็จกับการเปิดเครื่องเดินหน้าผลิตหน้ากากอนามัยและท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ท่านประธานกรรมการสุภกิต เจียรวนนนท์ ท่านประธานผู้บริหารศุภชัย เจียรวนนท์ ได้ทำพิธีมอบหน้ากากอนามัยจำนวน 100,000 ชิ้น ล็อตแรกให้กับโรงพยาบาลจุฬาฯตามที่สื่อทั้งกระแสหลัก สื่อโซเชียลมีเดียพากันนำเสนอข่าว

ซึ่งน่าภาคภูมิใจที่กระแสสังคมต่างชื่นชมในความคิด จิตใจท่านประธานอาวุโสและเครือซีพีที่มองการณ์ไกลในการช่วยบุคลากรการแพทย์มีเครื่องมือสำคัญไว้ต่อสู้กับเชื้อร้ายรวมทั้งคนไทยที่จะมีหน้ากากอนามัยใช้ต่อกรณ์กับเชื้อร้ายเช่นกัน แม้แต่คอลัมนิสต์ดังอย่างคุณเปลว สีเงินยังเขียนชื่นชม อนุโมทนาสิ่งที่ท่านประธานอาวุโสคิดและทำ

แต่นอกเหนือจากเหตุการณ์ดังกล่าว ผมคิดว่าสิ่งที่มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการกับภาวะวิกฤตที่เกิดตามมา ซึ่งท่านประธานอาวุโสได้กลั่นกรองจากประสบการณ์บวกกับข้อมูล ข้อเท็จจริงออกมาเป็นข้อคิด ข้อเสนอแนะเพื่อให้ประเทศชาติ ประชาชน ภาคธุรกิจอยู่รอดปลอดภัยและเดินหน้าต่อไปได้ ที่ผมอยากชวนชาวซีพีศึกษาทำความเข้าใจและช่วยกันแบ่งปันให้ผู้คนในสังคมร่วมแรงร่วมใจกันฟื้นฟูประเทศ

คาดว่าวิกฤตโควิด-19 จะผ่านพ้นในไม่ช้า
ประธานอาวุโส คาดว่าวิกฤตโควิด-19 จะผ่านพ้นในไม่ช้า เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและทุกประเทศมีปัญหาเหมือนกันทำให้ผู้เชี่ยวชาญต่างคิดค้นวัคซีนป้องกันรักษา โดยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะส่งผลให้การคิดค้นเร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้บางประเทศเริ่มใช้วัคซีนทดลองในคนแล้วและจะผลิตในเร็วๆนี้แน่นอน

ผลักดันนโยบายด้านการลงทุนต่อเนื่อง
ประธานอาวุโสบอกว่าการที่ไทยรับมือโรคโควิด-19 ได้ดีกว่าเมื่อเทียบหลายประเทศ ดังนั้นจึงเหมาะสมที่รัฐบาลใช้โอกาสนี้ตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก โดยการผลักดันนโยบายด้านการลงทุนต่อเนื่อง ทยอยผ่อนปรนปลดล็อคดาวน์ทีละจุด ไม่จำเป็นต้องรอทำทั้งประเทศ เพื่อสร้างจุดท่องเที่ยว แบบเช่าเหมาลำ เข้าพักโรงแรมเดียวกันไม่ปะปนกับกลุ่มอื่น ระยะเวลากักตัว 15 วัน มีแพทย์และพยาบาลพร้อมรักษาให้คำแนะนำ มีงานบริการทุกด้านอย่างครบวงจร ประกอบกับไทยมีวัฒนธรรมที่น่าสนใจจึงมั่นใจว่ามีนักท่องเที่ยวมาไทยมาก

ประธานอาวุโสมองว่าวิกฤตรอบนี้ไม่เหมือนกับที่ผ่านๆ มา เพราะจู่ๆ ก็เกิดขึ้นทำให้คนต้องกักตัว หยุดงานอยู่กับบ้าน ปิดร้านค้า ร้านอาหาร ทำให้การท่องเที่ยวหายหมดเลย ซึ่งแต่ละปีเงินเข้าประเทศจากการท่องเที่ยว 3.2 ล้านล้านบาท รัฐบาลได้ภาษีจากการท่องเที่ยวประมาณ 4 แสนล้านบาท

ส่วนนี้หายจากตลาดไปเลย ร้านอาหาร บริษัททัวร์ ไกด์ ตกงานกันหมด ซึ่งถ้าตนเป็นผู้บริหารบริษัท จะไปกู้เงินเพื่อมาพยุงเอาไว้ไม่ให้บริษัทเสียหาย แล้วเงินก้อนนี้รับรองว่าได้คืน เพราะถ้าเตรียมพร้อม สะสมพลังไว้ไม่ให้เสียหาย แล้วพอฟื้นจะเป็นโอกาสอย่างมหาศาล

รัฐบาลต้องกล้ากู้เงิน
ประธานอาวุโสบอกว่าท่านเองเจอวิกฤตมาหลายครั้งแล้ว สำหรับวิกฤตเที่ยวนี้มองว่าอยู่ไม่นาน เพราะทุกอย่างไม่ถูกทำลาย ไม่เหมือนวิกฤตคราวก่อน เศรษฐกิจป่วยอยู่แล้ว นักธุรกิจมีปัญหาอยู่แล้ว แต่วันนี้รัฐบาลสะสมเงินตราเกินตัว ซึ่งตรงข้ามกับต้มยำกุ้งที่มีหนี้เกินตัว รัฐบาลมีเงิน 3.8 หมื่นล้าน แต่รัฐบาลมีหนี้ 1 แสนกว่าล้าน แต่วันนี้เรามีหนี้น้อยมาก เรามีเงินสะสมอยู่ตั้ง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เราเป็นหนี้เพียง 41% แต่หลายประเทศทั่วโลกเกิน 100% ต่อ GDP แล้ว

“ยามแบบนี้จะไปเซฟตี้อะไร ยามแบบนี้เราได้เปรียบ ต้องชมเชยแบงก์ชาติที่ทำให้วันนี้ได้เปรียบ แต่ต้องกล้าใช้ แม้จะกู้ 100% ก็ต้องเอา เพื่อให้นักธุรกิจไม่ล้มละลาย คนตกงานยังมีกำลังจับจ่าย ภาษีรัฐบาลก็จะได้รับด้วย

“ด้วยเทคโนโลยีและยาวันนี้ ผมไม่เชื่อว่าจะเรื้อรัง ถ้าแก้เรื่องโรคได้เราจะฟื้น และผมเชื่อว่าเราจะฟื้นได้เร็วที่สุด ถ้าประชาชนเรามีวินัยก็เท่ากับปกป้องประเทศไทย เราไม่เอาโรคไปติดคนอื่นหรือคนอื่นไม่เอาโรคมาติดให้เรา ก็เป็นพลังมหาศาลของประชาชนช่วยประเทศชาติ ไม่จำเป็นต้องเอาเงินมาช่วย หรือเอาหน้ากากมาช่วย”

พยุงศก.ไม่ให้ล้มละลาย ธุรกิจเดินคนไม่ตกงาน
ประธานอาวุโสบอกวันนี้รัฐบาลต้องทุ่มให้กับธุรกิจที่เสียภาษีอยู่ หรือสร้างงานอยู่ หรือท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่หายไป ยกตัวอย่างที่รัฐบาลอังกฤษช่วยธุรกิจจ่ายเงินเดือนให้ 80% จึงมองว่าของไทยก็ควรทำ โดยสามารถจ่ายแทนเจ้าของโรงแรมไป 80% แต่ก็มีการตกลงกันถ้าช่วยวันนี้ห้ามไล่คนออก ก็จะทำให้คนก็มีเงินจับจ่าย รัฐบาลก็มีเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม การจ้างงานต่างๆ ก็ไม่เสียหายไป

รัฐบาลมีหนี้ได้จะ 10 ปี หรือ 20 ปี ก็ออกพันธบัตร ดอกเบี้ยถูกด้วย แล้วทำให้ธุรกิจไม่ล้มหายตายจากไป พอหลังวิกฤตแล้วคนมาท่องเที่ยว เขาก็พร้อมที่จะบริการ แต่ขณะเดียวกันวันนี้ต้องมาคิดว่าหลังวิกฤตการท่องเที่ยวกลับมา เราจะมีอะไรที่ยังทำไม่ดี ช่วงนี้รัฐบาลต้องกล้าลงทุนในส่วนของสาธารณะ ส่วนโรงแรมก็ต้องให้กู้ดอกเบี้ยถูกๆ เพื่อนำเงินไปเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยขึ้น

“ผมมองว่ารัฐบาลต้องช่วยเต็มที่ แต่จริงๆ ยามแบบนี้ให้ต่อให้จ่าย 80% อีก 20% ธุรกิจก็ไม่รู้จะไปกู้จากใคร ถ้าจะช่วยจริงๆ ต้องการ 100% ต้องช่วย 100% แล้วรับรองว่า เงินที่ช่วยไปคืนมาแน่นอน แต่ต้องใช้เวลา

“ปกติแล้วธุรกิจโรงแรมมีกำไร มีการเสียภาษี ในยามแบบนี้รัฐต้องช่วย รัฐช่วยเขาอยู่รอดก็เท่ากับรัฐอยู่รอด อย่าไปเข้าใจผิดว่านักธุรกิจไม่เกี่ยวกับรัฐบาล หรือเอื้อประโยชน์ให้กับนักธุรกิจ ไม่ใช่ ภาษีของรัฐบาลมาจากไหน ถ้าเราไม่ส่งเสริมให้ธุรกิจต้องอยู่รอด การจ้างงานก็จะมีปัญหา ภาษีของรัฐก็จะมีปัญหา

“ความจริงต้องช่วยกันในยามแบบนี้ อย่าไปเกี่ยงว่าเขาเป็นนายทุนหรือนักธุรกิจ อะไรที่ช่วยเขาก็เท่ากับช่วยประเทศชาติอยู่รอด อย่าทำให้พนักงานของเขาตกงาน ไม่ให้ล้มละลาย แต่ถ้าบริษัทเขาไม่แข็งแรง ก็ปล่อยให้ล้มไปไม่เป็นไร แต่ถ้าอยู่ดีๆ คนไม่มาเที่ยวจะไปโทษใคร ไปว่าบริหารไม่ดีก็ไม่ใช่ แต่เกิดจากโควิด-19 ทำไมเราไม่ช่วยเขา 100%”

อย่าปลดพนง.เตรียมคนรับการเปลี่ยนแปลง
ประธานอาวุโสยังมีคำแนะนำไปยังธุรกิจต่างๆ คือไม่ต้องบริจาคก็ได้ แต่ต้องช่วยพนักงานให้อยู่รอด อย่าไปปลดพนักงาน แล้วต้องมาคิดว่าหลังวิกฤต มีมืดก็ต้องมีสว่าง มีวิกฤตย่อมมีโอกาส จะทำอะไรต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่วันนี้ เตรียมคน เปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุค 4.0 สร้างให้พวกเขามีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปอีก

ใช้โอกาสปรับปรุงเรื่องล้าสมัย
ด้านการลงทุน รัฐบาลต้องเดินหน้าต่อเนื่อง แก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบที่ล้าสมัย โดยเปิดทางให้นักลงทุนเข้ามาสนับสนุนแรงงานข้ามชาติที่มีประสิทธิภาพ และไม่ต้องสงวนอาชีพเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนานาแรงงานที่มีฝีมือในประเทศ

“ประเทศไทย มีความแข็งแกร่งทางการเงินระดับท็อปของโลก จากที่ผ่านมาไทยลงทุนซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ รายใหญ่เป็นอันดับ18 ของโลก ซึ่งมองว่ามีความเหมาะสมหากจะต้องมีการกู้เงิน สิ่งที่รัฐบาลจะต้องกล้าลงทุนหลังผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจโรงแรม ที่จะต้องเร่งปรับปรุงให้มีความทันสมัย ปลอดภัย ธุรกิจร้านอาหาร ที่มีบริการเทคโฮม หรือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้โดยมีแนวทาง

เช่น การออกพันธบัตร ระยะเวลา 10ปี 20ปี หรือ 30 ปี ช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจที่รับผลกระทบ ซึ่งหลังจากโลกผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้แล้ว ไทยจะเป็นประเทศที่ฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่น และขอให้ภาคเอกชนและธุรกิจต่างๆ เตรียมพร้อมด้านกำลังคน และภาคแรงงานไว้ หากสามารถที่จะช่วยเหลือไม่เลิกจ้างแรงงาน ทำให้ผู้คนยังมีกำลังจับจ่ายภายในประเทศได้จะเป็นเรื่องที่ดี

“เพราะวันนี้เมื่อมืดที่สุดแล้วก็จะมีความสว่าง ไม่มีวันที่จะมืดไปตลอดกาล ดังนั้นเมื่อสว่างแล้วจะต้องเตรียมตัวทำอย่างไร เช่นเดียวกับที่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วจะเป็นโอกาสของประเทศไทยอย่างมาก”