Social Business โมเดลทางออกของโลกที่คนซีพีเรียนรู้

สวัสดีครับพี่น้องซีพีที่รัก เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงคงต้องระวังเรื่องสุขภาพกัน หลายคนบอกนับวันโลกจะอยู่ยากขึ้น ประเทศที่เคยหนาวต้องเผชิญอากาศร้อนแบบไม่คาดคิด ประเทศที่อยู่ในเขตร้อนกลับมีหิมะตก แม้แต่ประเทศไทยของเราเข้าฤดูฝนแล้วแต่ฝนกลับไม่ตกอย่างที่คาด

ไม่เพียงปัญหาความผันผวนของดินฟ้าอากาศ โลกใบนี้ยังคงเผชิญกับปัญหาด้านสังคม สิ่งแวดล้อมอื่นๆอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัญหา มลภาวะโดยเฉพาะจากขยะพลาสติก ทำให้ผู้คนบนโลกเริ่มตั้งคำถามว่าถ้าเรายังกินอยู่ ใช้ชีวิตกันแบบนี้โลกจะเป็นอย่างไร ความสุข สงบของผู้คนบนโลกจะเกิดขึ้นจริงหรือ

และเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพวกเราชาวซีพีคงรับทราบข่าวทางเครือฯซีพี จับมือ ‘เครือข่ายยูนุส’ ของศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ผู้ริเริ่มแนวคิด Social Business หรือธุรกิจเพื่อสังคม จัดสัมมนาพูดคุยกันถึงเรื่องSocial Business ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ถัดจากนั้นมาทางตลาดหลักทรัพย์ฯก็เป็นเจ้าภาพจัดงานSocial Impact Day 2019 ประจำปี2562 โดยเชิญบรรดาผู้ที่เป็นผู้ประกอบการสังคม ผู้สนใจมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงการขับเคลื่อนเรื่องของส่งเสริมผู้ประกอบการสังคมให้เติบโต เข้มแข็ง ผมมีโอกาสไปร่วมด้วย มีการจัดนิทรรศการ นำเสนอการดำเนินงานของผู้ประกอบการสังคมที่ทำงานด้านต่างๆทั้งเรื่องของสังคม สิ่งแวดล้อม

จากเหตุการณ์ทั้ง2 ผมจึงอยากชวนชาวซีพีได้มีโอกาสเรียนรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับSocial Businessซึ่งถือว่าเป็นแนวความคิดที่กำลังมาแรงและได้รับการตอบรับจากสังคมโลกมากขึ้น แม้ว่าในบ้านเราจะยังอยู่ในจุดเริ่มต้น แต่ด้วยแนวคิด เป้าหมายของSocial Businessไม่เพียงเป็นการผสมผสานเอาแนวคิดการทำธุรกิจมาร่วมกับการทำงานแก้ปัญหาสังคมด้วย จึงเป็นเรื่องที่ผู้นำความคิด องค์กรธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคมเห็นว่าSocial Businessน่าจะเป็นคำตอบของโลกที่เต็มไปด้วยปัญหามากมาย จะทำอย่างไรจะสร้างรูปแบบอย่างไรที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจมีกำไร อยู่รอด มั่นคงแล้วกิจการนั้นยังสามารถนำผลกำไรไปช่วยจัดการแก้ปัญหาของสังคม ชุมชนในเวลาเดียวกัน

เพราะการทำธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไรแต่เพียงอย่างเดียว แต่สังคมยังคงเต็มไปด้วยปัญหาก็จะไม่เป็นที่ยอมรับ ต้องการของสังคม ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาสังคมจะพึ่งพาแต่เงินบริจาคหรือเงินช่วยเหลือจากภาครัฐหรือเอกชนก็คงไม่มีความยั่งยืน เพราะหากไม่มีกำไรจะเอาเงินที่ไหนไปช่วยเหลือสังคม

ด้วยเหตุนี้แนวคิดSocial Businessจึงเป็นคำตอบที่หลายฝ่ายเริ่มยอมรับเพราะจะทำให้การดำเนินกิจการอยู่ได้ด้วยและมีขีดความสามารถพอที่จะแก้ปัญหาสังคมด้วย ศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยูนุสซึ่งริเริ่มทำธนาคารคนจนได้ทดลองนำแนวคิดSocial Businessมาใช้จนเกิดผลสำเร็จในบังคลาเทศ ธนาคารอยู่ได้ แล้วช่วยแก้ปัญหาความยากจนของผู้คน
Social Business จึงเป็นทางเลือกใหม่ของโลกที่ดูจากจุดมุ่งหมายก็ไปสอดรับกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของระดับโลก และในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในยุโรป แนวคิดนี้ก็เป็นที่ยอมรับและมีการตั้งเป็นกิจการเพื่อสังคมมากขึ้นๆ โดยผู้คน ตัวบทกฏหมายและการลงมือทำ ทำให้Social Businessเติบโตขึ้น

ขณะที่บ้านเราแม้จะมีกฏหมายออกมาแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหา อุปสรรคอยู่ ทั้งในเรื่องของความเข้าใจแนวความคิด การออกแบบกิจการให้สามารถอยู่ได้ในเชิงธุรกิจและมีกำไรเพียงพอที่จะนำไปช่วยแก้ปัญหาของชุมชน สังคม แต่ด้วยความตั้งใจของหลายองค์กรรวมทั้งของเครือซีพี รวมทั้งผู้ประกอบการสังคม น่าจะทำให้เกิดผู้ประกอบการสังคมมากขึ้น ผู้ประกอบการสังคมที่มีอยู่มีโอกาสที่จะเติบโต เพราะมีแรงสนับสนุน

ก็ขอฝากหน่วยงานในเครือซีพี เพื่อนๆชาวซีพีได้มีโอกาสเรียนรู้ทำความเข้าใจSocial Business มีโอกาสที่จะสนับสนุนหรือร่วมสร้างผู้ประกอบการสังคม เครือซีพีก็จะมีโอกาสเป็นองค์กรภาคเอกชนที่มีส่วนสร้างผู้ประกอบการสังคมให้เกิดมากขึ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาของชุมชน สังคมอีกรูปแบบ