ปธ.สภาดิจิทัลเผย 5 ปัจจัยทรานส์ฟอร์ม ศก. สู่ New Economy เร่งสร้างมาตรฐานการชี้วัด เร่งพัฒนาคนรับดิจิทัล มุ่งสู่การเป็น Innovation Hub

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ “ฟอร์บไทยแลนด์ แมกกาซีน” เปิดเผย 5 ปัจจัยสำคัญ ที่จะทรานส์ฟอร์ประเทศ ช่วยขับเคลื่อนภาครัฐและอุตสาหกรรมให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ ดังนี้

1.การสร้างมาตรฐานตัวชี้วัดใหม่ บ่งบอกศักยภาพการใช้เทคโนโลยีและการปรับตัวให้ทันดิจิทัลเทคโนโลยี ตั้ง KPI ตัวชี้วัดใหม่และวางเป้าหมาย ตั้งแต่ระบบการศึกษา องค์กร โครงสร้างพื้นฐานประเทศ

2.ทรานส์ฟอร์เมชั่นความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน สร้างระบบนิเวศเพื่อดึงดูดการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยรัฐต้องเปลี่ยนตัวชี้วัดสำคัญคือ ระบบบริการสาธารณะออนไลน์ควบคู่กับออฟไลน์

3.การพัฒนาคนในประเทศไทยรับยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ดึงคนจากทั่วโลกมาช่วยพัฒนาคนในประเทศ เรียกว่า “Digital Manpower” สร้างบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล work force กำลังแรงงานและแหล่งงานอนาคต เพิ่มพูนทักษะความรู้ด้านดิจิทัลและความรู้ใหม่ๆเข้าไป

4.Digitalization ของทุกอุตสาหกรรม วางแผนการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัล ออนไลน์และออโตเมชั่นมากขึ้น ประยุกต์ใช้ IoT ในธุรกิจ เพื่อให้เห็นข้อมูลและศักยภาพในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

5.ผลักดันไทยเป็น Innovation Hub ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา ศูนย์กลางความเป็นเลิศระดับโลก โฟกัสเซกเตอร์ที่ไทยโดดเด่น มีความสามารถในการแข่งขัน เช่น ธุรกิจอาหาร การเกษตร ซึ่งเครือมีความพร้อมและเชื่อว่าจะเป็นผู้นำระดับโลกได้ในเรื่องเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอาหารและการเกษตร

นอกจากที่ คุณศุภชัย ยังได้กล่าวถึง เทคโนโลยี 5G ระบบการสื่อสารแบบไร้สายว่า “หลายคนพูดว่า 5G จะทำให้อุตสาหกรรมเป็น digitalize ได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่จะเอื้อทั้งอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแอปพลิเคชันใหม่ คอนเทนต์ใหม่ ที่ไม่เคยทำได้ เพราะถนนมันแคบ ตอนนี้ก็จะสร้างมิติพวกนี้ ซึ่งหลายคนพยายามสร้างตัวอย่าง แต่ก็ยังเป็นแค่จินตนาการ”

คุณศุภชัยยังได้กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเครือซีพีมีการเทรดกว่า 100 ประเทศทั่วโลก มีการลงทุนใน 20 ประเทศทั่วโลก ทิศทางเครือซีพีเติบโตมาจากเกษตรและอาหาร และมุ่งเน้นขยายตัวไปที่ฟู้ดและไบโอเทคโนโลยี เช่น Food tech, Health care

ส่วนในธุรกิจค้าปลีก นอกจากขายสินค้า แล้วเรายังต้องมีข้อมูลของลูกค้าด้วย โดยช่องทางอี-คอมเมิร์ซ ทำได้ผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่ง CP ALL ได้ทำ All Member เพื่อให้รู้จักลูกค้ามากขึ้น ต่อไปทั้งเทรด มาร์เก็ตติ้ง อี-คอมเมิร์ซ จะตามมาอีกมาก รวมทั้งออโตเมชั่น เพราะการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเป็นความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบัน หลายกลุ่มอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ อาทิ สถานศึกษา ซึ่งต้องปรับตัวโดยมุ่งพัฒนาการเรียนออนไลน์ ส่วนธุรกิจคนกลางจะถูกดิสรัปจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) เช่นเดียวกับแรงานจำนวนมากจะถูกทดแทนด้วยระบบออโตเมชั่นมากขึ้น ขณะที่สายการผลิตยังคงมีความสำคัญ

“สายการผลิตไม่มีวันตาย เพราะว่ามนุษย์ยังต้องการบริโภคสิ่งที่เป็น physical เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และอื่นๆ อีกมากมาย เพราะเราก็เป็น physical element เพียงแต่ว่าการบริโภคของเราเริ่มมีแนวโน้มที่จะไปบริโภคสิ่งที่เป็นดิจิทัลเบส จำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลและตลาด ถ้าอุตสาหกรรมไหนเปลี่ยนไม่ทันก็จะมีปัญหา บางอุตสาหกรรมที่ปรับตัวไม่ทัน อาจจะลงทุนในธุรกิจที่เป็น New Business ที่ดิสรัปตัวเอง ซึ่งคือการ Diversify เพื่อบริหารความเสี่ยง”

ทั้งนี้ Digital Connectivity จะเป็นการเชื่อมโยง ทำให้สิ่งที่เป็นความต้องการของโลกมีความคล้ายคลึงกัน เพราะฉะนั้นมิติของการแข่งขันก็จะต้องเปลี่ยน จากเดิมแข่งขันกันในตลาดหรือภายในประเทศ แต่ปัจจุบันไม่พอ เพราะคนไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของ Globalization ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคืออุตสาหกรรมในประเทศไทยต้องปรับตัว ต้องพิจารณาว่าจะส่งมอบอะไรให้แก่ตลาดโลก ซึ่งวิกฤตมักจะมาพร้อมโอกาสเสมอ เพราะฉะนั้นจะต้องเริ่มดูเป็น Regional มากขึ้น

ที่มา: Forbes Thailand ประจำเดือนเมษายน 2563 คอลัมน์ Cover Story