ปลุกไอเดียชาวซีพีก้าวสู่ศตวรรษ 100 ปี ไปด้วยกัน 1 ในคณะกก.วิชาการด้านเศรษฐกิจ มหกรรมนวัตกรรมบัวบาน 2021 ชี้ผลงานนวัตกรรมที่มีคุณภาพ ต้องสร้างสรรค์ เป็นรูปธรรม สร้างคุณค่าและประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้

เริ่มเข้าสู่บรรยากาศการเฟ้นหาผลงานนวัตกรรม เพื่อนำเสนอผลงานและมอบรางวัลในงาน “มหกรรมนวัตกรรมบัวบาน 2021” ซึ่งได้ปิดรับผลงานนวัตกรรมไปเรียบร้อยเมื่อ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา และได้มีการประชุมคณะกรรมการวิชาการมหกรรมนวัตกรรมบัวบาน 2021 อย่างเป็นทางการ โดยมีเหล่านวัตกรใน 12 กลุ่มธุรกิจในเครือจาก 16 ประเทศ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลงานเข้าร่วมพิจารณาทั้งสิ้น 2,068 ผลงาน ซึ่งแยกเป็นผลงานด้านเศรษฐกิจ 524 ผลงาน ด้านเทคโนโลยี 1,288 ผลงาน และด้านเศรษฐกิจ 1,288 ผลงาน และด้านสังคมสิ่งแวดล้อม 256 ผลงาน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2563)

We are CP ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “คุณพจน์ – สุพจน์ วชิรจิรากร” ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สังกัด CPALL รับผิดชอบงานด้านบัญชีการเงินของกลุ่มการศึกษาและฝึกอบรมของบริษัท หนึ่งในคณะกรรมการวิชาการด้านเศรษฐกิจ ด้วยประสบการณ์การทำงานที่สะสมมากว่า 24 ปี ในส่วนงานสายสนับสนุนทางด้านบัญชีการเงินซึ่งถือเป็นงานที่ทำให้เกิดการเรียนรู้และเก็บประสบการณ์ด้านนวัตกรรมของฝ่ายปฏิบัติการและสายสนับสนุนจนเรียกได้ว่ามีความเชี่ยวชาญและได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการและอนุกรรมการในด้านนวัตกรรมในการคัดกรองคัดเลือกโครงการนวัตกรรม และค้นหานวัตกร ผ่านโครงการการส่งเสริมทางด้านนวัตกรรมตลอดระยะเวลามากกว่า 10 ปี

คุณสุพจน์ กล่าวว่า จากการสะสมประสบการณ์การเป็นกรรมการในด้านเศรษฐกิจ ได้เห็นถึงการเติบโตของธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะของกลุ่ม CPALL ที่สังกัดอยู่ ซึ่งถือว่าเรื่องนวัตกรรมเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญมากที่เป็นแรงผลักดันองค์กร ให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวดเร็วและสามารถ สร้างความแตกต่างและแข่งขันได้ โดยได้นำเสนอมุมมองความคิดที่น่าสนใจในการทำธุรกิจที่จะต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงย่อมนำไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่าเสมอ และยุคนี้ถือเป็นยุคที่ “ปลาเร็วกินปลาช้า” เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจหรือการพัฒนานวัตกรรมใดๆจะต้องไม่หยุดนิ่ง ต้องก้าวให้ทันการแข่งขันในตลาดโลก ทันต่อความคาดหวังหรือเหนือกว่าความคาดหวังของลูกค้า

คุณสุพจน์ เล่าว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 100 ปี ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ถือได้ว่าเป็นรากฐานที่สำคัญที่ผลักดันให้เกิดการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนไทย และอีกหลายประเทศ ได้ผลิตสินค้าและบริการที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่า ในราคาที่ยุติธรรม เพื่อส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ถึงมือลูกค้าที่ได้มอบความไว้วางใจให้ซึ่งเป็นเรื่องที่พนักงานของเครือฯ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมทั้งในด้านการผลิตและการบริการ เพื่อส่งมอบสิ่งที่คุ้มค่ามากที่สุดให้กับลูกค้า ถือเป็นหลักสำคัญของเครือฯ ที่ต้องทำธุรกิจที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติประชาชน และท้ายที่สุดต่อองค์กร

“การมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรม ทำให้เกิดความมั่นใจ และเชื่อถือต่อสินค้าและบริการ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง ถือได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการสร้างสรรค์ที่จะก่อให้เกิดคุณค่าเสมือนหนึ่งต้นไม้ใหญ่ที่หยั่งรากลึกลงไปในชั้นดิน แผ่กิ่งก้าน ใบ และออกดอกออกผล สร้างความสุขให้กับผู้รับมอบ”

ในฐานะกรรมการด้านเศรษฐกิจ คุณสุพจน์ กล่าวว่า เกณฑ์การพิจารณาผลงานด้านเศรษฐกิจปีนี้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ เพราะเครือฯ จะก้าวสู่ 100 ปี ดังนั้น ปีนี้คณะกรรมการบัวบานจึงได้พิถีพิถันเป็นพิเศษที่จะคัดเลือกผลงานที่มีความแตกต่างไปจากเดิมโดยมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การให้คะแนนที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ความคิดสร้างสรรค์ 20 คะแนน การพัฒนาผลงาน 30 คะแนน และเกณฑ์ที่ให้ความสำคัญมากที่สุด คือ “ผลลัพธ์ที่เน้นประโยชน์คุณค่าเชิงเศรษฐกิจ” มีคะแนนสูงถึง 50 คะแนน

คุณสุพจน์ ได้ยกตัวอย่างผลงานทางด้านเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดความประทับใจ คือ โครงการ No Count for Transport 4.0 ผลงานของกลุ่ม CPALL จุดเด่นของโครงการนี้ คือการพัฒนากระบวนการจัดส่งสินค้าให้รวดเร็วและแม่นยำ เป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการรับสินค้าของร้าน 7-11 ในรูปแบบใหม่ สำหรับสินค้าที่มีการควบคุมอุณหภูมิ 2-6 องศาเซลเซียส ประเภทกลุ่ม Chill ซึ่งพบปัญหาการใช้เวลาตรวจรับสินค้า ด้วยวิธีการตรวจนับกับรถขนส่งนานเฉลี่ย 45 นาที/สาขา และมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและซับซ้อน

ทําให้ร้านต้องละทิ้งงานการบริการลูกค้าเพื่อมารับสินค้าส่งผลกระทบต่อการให้บริการลูกค้าและคุณภาพสินค้า ทีมงานจึงได้ออกแบบกระบวนการจัดส่งสินค้า No Count for Transport 4.0 ให้มีขั้นตอนการรับที่รวดเร็ว แม่นยํา และสามารถตรวจสอบได้ มีการควบคุมทุกกระบวนการ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับหน่วยงานตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยนําระบบต่างๆ ที่มีอยู่ มาใช้ให้เกิดประโยชน์และเชื่อมโยงกัน จนสามารถลดเวลาในการนับสินค้าจาก 45 นาที เหลือเพียง 15 นาที/ ต่อสาขา ซึ่งทำให้ค่าขนส่งลดลง 112,000,000 บาท/ปี ซึ่งเป็นตัวอย่างผลงานนวัตกรรมที่ทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปในแบบ“เร็วและมีคุณภาพ” ก่อให้เกิดประโยชน์คุณค่าทางเศรษฐกิจได้เพิ่มมากขึ้น

จากการฉายภาพรวมเกณฑ์การพิจารณาและยกตัวอย่างผลงานนวัตกรรม ในฐานะกรรมการด้านเศรษฐกิจ คาดหวังว่า ผลงานนวัตกรรมเชิงเศรษฐกิจในปีที่เครือฯ จะครบรอบ 100 ปี อยากเห็นถึงผลงานที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ในเชิงเศรษฐกิจมีลักษณะโครงการที่เห็นเป็นรูปธรรมและสามารถจับต้องได้อย่างแท้จริงเพื่อผลงานเหล่านี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่จะสามารถลงเสาเข็ม สร้างหลัก สร้างฐาน ที่มั่นคง ส่งผลต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น เพราะนั่นหมายถึงเราได้ตอบแทนคุณแผ่นดิน ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศชาติที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของคนในชาติไปอีกระดับหนึ่ง สิ่งที่ทำในวันนี้สำคัญต่อมนุษยชาติเพราะถือได้ว่าเป็นการผลิตน้ำมันบนดิน นั่นก็คืออาหารมนุษย์ ที่จำเป็นต่อคนทั้งโลก รวมทั้งการผลิตอาหารสมอง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นพื้นฐานที่สำคัญทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี และข้อมูล ส่งผลทำให้เกิดการผลิตและบริการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั่นเอง

“ผมอยากฝากให้พวกเราชาวซีพี ที่ได้ส่งผลงานเข้าประกวดในครั้งนี้ มีความภาคภูมิใจที่ท่านได้เป็นส่วนหนึ่งของกงล้อประวัติศาสตร์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในอันที่จะได้ร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนไปสู่จุดหมายปลายทางร่วมกัน เพราะความสำเร็จเหล่านี้ไม่สามารถได้มาด้วยคนๆเดียว และโดยง่ายดาย แต่ต้องผ่านการเจียระไนอย่างพิถีพิถัน การทำงานอย่างหนักของทีมงานทุกๆ คนเพื่อที่สร้างนวัตกรรมอันทรงคุณค่าที่พวกเราจะจดจำท่านไว้ในความทรงจำว่าครั้งหนึ่งท่านคือนวัตกรที่ได้บรรจงสร้างสิ่งที่มีคุณค่าไว้ให้กับพวกเราชาวซีพี”