ไข้หวัดใหญ่ vs. โควิด-19 ไวรัส…วายร้ายต่อระบบทางเดินหายใจที่เป็นแฝดคนละฝา

มีการพูดถึงกันมากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าไข้หวัดใหญ่ที่เรารู้จักกันดี มีความเหมือนหรือต่างจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า อย่างไร??? และเราจะรู้ได้อย่างไร??

เจ้าไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเหมือนกัน แต่ไข้หวัดใหญ่ เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจส่วนต้น คุ้นเคยกับอาการกันดี คาดเดาวิวัฒนาและโครงสร้างของเชื้อไวรัสที่เปลี่ยนแปลงทุกปี ที่สำคัญเราผลิตวัคซีนออกมาป้องกันได้ทันท่วงที

ขณะที่โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ เกิดในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง อาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่มาก ทำให้หลายคนแยกอาการระหว่าง 2 โรคนี้ไม่ออก

ไข้หวัดใหญ่อาการและการแพร่ระบาด
นพ. รุจาพงศ์ สุขบท อธิบายว่า โรคไข้หวัดใหญ่มีการแพร่ระบาดใน 2 ช่วง ประเทศเขตหนาว แถบขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ เช่น ประเทศอเมริกา และออสเตรเลีย จะระบาดในช่วงหน้าหนาวเป็นประจำทุกปี ส่วนในประเทศเขตร้อนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้น จึงมีการแนะนำให้คนไทยฉีดวัคซีนช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูฝน เพราะว่าใช้เวลา 2 อาทิตย์กว่าร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานหลังการฉีดวัคซีน และแนะนำให้เด็กอายุเกิน 6 เดือนขึ้นไปฉีดวัคซีน เพื่อช่วยลดการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ก่อนเข้าสู่ฤดูกาลของโรค

“ ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เรามีความรู้เยอะกว่าโควิด-19 แม้ว่าปัจจุบันจะมีวัคซีนป้องกัน แต่ก็ต้องพัฒนาวัคซีนขึ้นมาใหม่ทุกปี ตามวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเชื้อไวรัส แต่ละปีจะมีการคาดการณ์ว่าไวรัสเปลี่ยนแปลงอย่างไร และสร้างวัคซีนที่ทำลายโครงสร้างของเชื้อไวรัสได้ ดังนั้น จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี”

ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ กับโควิด-19 ไม่เหมือนกัน
นพ.รุจาพงศ์ บอกอีกว่า มีกระแสความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ ในความเป็นจริงไม่เกี่ยวข้องกันเลย การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้เกิดการติดเชื้อโควิด-19 ง่ายขึ้น

“ไข้หวัดใหญ่มีมานาน และเป็นโรคทางเดินหายใจที่เกิดปัญหา ที่ผ่านมาและมีคนตายจากโรคไข้หวัดใหญ่เป็นจำนวนมาก แพทย์จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกัน เพื่อลดอาการเจ็บป่วย ซึ่งช่วงนี้กำลังเข้าสู่ฤดูฝน เป็นการเข้าสู่การระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอยู่ในช่วงเดียวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควด-19จึงอาจทำให้เข้าใจผิดว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง”

อาการและความแตกต่างไข้หวัดใหญ่-โควิด-19
หลายคนอาจจะแยกอาการไข้หวัดใหญ่ กับ โควิด-19 ไม่ออกทำให้เกิดความวิตกกังวล นพ. รุจาพงศ์ กล่าวว่า “ทั้ง 2 โรคนี้อาการค่อนข้างคล้ายกัน ช่วงแรกคิดว่าคนไข้เป็นโควิด แต่จริงๆ เป็นไข้หวัดใหญ่ ตอนแรกที่ไม่รู้เรื่องโควิด คนไข้หลายคนเป็นโควิด แต่คิดว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ โควิดส่วนมากมีอาการไข้ เพลีย ปวดเมื่อยมาก หนาวสั่น ไอ ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง”

“ไม่เหมือนไข้หวัดใหญ่ที่เป็นการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนต้น อาการไข้อาจไม่เยอะ ไม่อ่อนเพลียมาก มีน้ำมูก จะเป็นไข้หวัดธรรมดา ถ้าเริ่มเพลีย ปวดเมื่อยมาก ปวดศีรษะ มีไข้สูงควรรีบพบแพทย์ เวลาไปโรงพยาบาลแพทย์ที่คัดกรองจะตรวจทั้ง 2 อย่างคู่กันทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 เพราะว่าแยกโดยอาการจะยาก หากไม่แน่ใจควรรีบไปพบแพทย์ทันที”

ท่ามกลางความผันผวนของโลกทั้งสภาพแวดล้อม และโรคอุบัติใหม่ที่เราไม่อาจคาดเดาได้ We are CP ขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้ออย่างเคร่งครัด