ประธานอาวุโสธนินท์พร้อม “แจ็ค หม่า” ขึ้นเวทีชี้แนะทิศทางอนาคตการศึกษาโลก ณ กรุงปารีส

ประธานอาวุโสแนะการศึกษาควรให้นักเรียนเรียนควบคู่ไปพร้อมกับทำงาน (Action Based Learning) เพื่อเรียนรู้จากชีวิตจริง ซึ่งแตกต่างจากในตำรา ส่วนแจ็ค หม่าแนะควรหาครูที่เก่งที่สุด มาสอนออนไลน์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เด็กเก่ง ๆ ที่ขาดโอกาสจะเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียมกันมากขึ้น

ระหว่าง วันที่ 3-4 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อการศึกษาโลก 2019 หรือ “2019 Forum for World Education” ขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยเวทีนี้ได้เชิญบรรดาผู้นำด้านธุรกิจระดับโลกที่ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคนและการศึกษาเข้าร่วมประชุมเพื่อระดมความเห็นในการออกแบบ “รูปแบบการศึกษาแห่งอนาคตสำหรับทศวรรษหน้า” โดยตั้งเป้าหมายที่จะใช้วัตกรรมทางศึกษาเป็นพลังเสริมสร้างอนาคตเศรษฐกิจโลกให้แข็งแกร่ง

ในโอกาสนี้ ประธานธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมดังกล่าวพร้อมกับนักธุรกิจชั้นนำที่ให้ความสำคัญด้านการศึกษา อาทิ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานบริหารบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป เดวิด ครุกแชงก์ ประธานบริษัท ดีลอยท์ แห่งสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังได้เชิญอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจากหลายประเทศ นักวางแผนด้านนโยบายสาธารณะ และนักวิชาการนานาชาติ เข้าร่วมด้วย อาทิ Olli-Pekka Heinonen จาก Finland , Hekia Parata จาก New Zealand, Maria Helena Guimarães de Castro จาก Brazil, Dr.Eric Hanushek จาก Stanford University , Dr. Oon Seng Tan จาก Singapore , Dr. Christoph Metzger จาก University of St. Gallen in Switzerland , Dr. A. Lin Goodwin, คณบดีคณะศึกษาศาสตร์จาก the University of Hong Kong และ Dr. Pam Grossman คณบดีGraduate School of Education จาก the University of Pennsylvania เป็นต้น โดยในการประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก เจ้าหญิงลอเรนทีนแห่งเนเธอร์แลนด์ เสด็จฯทรงเป็นประธานเปิดงานประชุม พร้อมด้วย นาย Ángel Gurría เลขาธิการ OECD และ Andreas Schleicher ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทักษะของ OECD ผู้ริเร่มการสอบ PISA ร่วมเปิดการประชุม

ทั้งนี้ OECD หวังให้การประชุมนี้เป็นเวทีที่ผู้นำในภาคธุรกิจชั้นนำระดับโลกจะได้ร่วมพูดคุยกับเหล่าผู้นำและคนรุ่นใหม่พร้อมแลกเปลี่ยนถึงรูปแบบการเรียนรู้ในระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมว่ามีจุดใดที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อขับเคลื่อนให้การศึกษาสู่อนาคตเป็นไปได้อย่างแท้จริงผ่านการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง และเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจ มีการแบ่งกลุ่มเสวนาย่อยเพื่อรวบรวมแนวคิดใหม่ๆที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีพลังในระบบการศึกษา และประเด็นสำคัญที่จะต้องดำเนินการขับเคลื่อนในอนาคต อาทิ ความเสี่ยงทางสังคมด้านต่างๆ ความไม่เท่าเทียม ความขัดแย้งภายในสังคม นอกจากนี้จะได้หารือถึงประเด็นที่ท้าทายต่อวงการศึกษา

โดยงานนี้ แจ็ค หม่า ได้กล่าวถึงเรื่องการพัฒนาการศึกษาว่า
• ครูเก่ง ต้องไปสอนโรงเรียนที่อ่อน ไม่ใช่ครูเก่งไปอยู่โรงเรียนที่เก่ง
• ไม่เคยตื่นเต้นกับปริญญา เพราะต้องสอนใหม่ตอนทำงานอยู่ดี สิ่งที่เรียนรู้ได้ดีกว่าคือเรียนรู้ชีวิต
• IQ หรือความฉลาดทางด้านความรู้ EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ก็เป็นประโยชน์มาก แต่หัวใจสำคัญที่มีคุณค่าอย่างยิ่งคือ LQ นั่นคือความรัก

ในขณะที่ ประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ มองเรื่องการศึกษาว่า
• ครู ต้องเป็นอาชีพที่ดึงดูดคนเก่งอยากมาเป็นครู ควรมีรายได้สูง
• เอาคนเก่งที่มาสอน ใช้เทคโนโลยี เรียนออนไลน์ จากคนที่เก่งที่สุดในวิชานั้น ๆ ส่วนครูในห้องเรียน เปลี่ยนบทบาทมาช่วยสนับสนุน ทำให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ ลดความเหลื่อมล้ำ
• เด็กควรเรียนจบเร็วขึ้น ทำงานพร้อมกับเรียน เพื่อเข้าใจชีวิตจริง เรียนรู้จากปัญหาจริง ๆ อายุ 18 ก็ควรเรียนจบแล้ว ไม่ต้องรอถึง 22 ปี หากอยากรู้เฉพาะทาง ค่อยเรียนเพิ่ม
• วิชาเรียนต้องเร็ว และทันยุคความรู้ใหม่ในยุค 4.0 และต้องเชื่อมโยงกับบริษัท
• ผลิตนิสิตนักศึกษา ต้องสำรวจตลาด ต้องถามบริษัท ถาม startup ว่าต้องการแรงงานแบบไหน แล้วผลิตตามที่ตลาดต้องการ
• เด็กรุ่นใหม่ ต้องให้อำนาจ (Empowerment) ให้เขาตัดสินใจ ส่วนผู้ใหญ่แค่ให้เค้ารายงานสั้น ๆ ทุกวัน
• เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องได้รับโอกาส และเมื่อมีโอกาสแล้วต้องอดทน

ทั้งนี้ มีการนำเสนอผลการประเมิน PISA รอบปี 2018 จาก 79 ประเทศทั่วโลก พบว่า ไทยยังคงได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในการสอบวัดความรู้ทั้ง 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ขณะที่จีนส่งเฉพาะนักเรียนจาก 4 เมืองเข้าประเมิน โดย 4 เมืองใหญ่ของจีน แซงหน้าขึ้นมาครองอันดับ 1 แทนสิงคโปร์ อย่างไรก็ดีจีนส่งเพียงแค่ 4 เมืองเข้าร่วมประเมินคือ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง ทำให้คะแนนสูงสุดในทุกด้าน

โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) เพื่อประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ในประเทศที่เข้าร่วม ทุก ๆ 3 ปี และประกาศผลในปีนี้ โดย OECD Center ปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ทั้งนี้ผลการประเมิน PISA 2018 ในระดับนานาชาติ พบว่านักเรียนจาก 4 เมืองใหญ่ของจีน คือ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง มีคะแนนทั้ง 3 ด้าน สูงกว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ตามมาด้วย สิงคโปร์ มาเก๊า ฮ่องกง เอสโตเนีย แคนาดา และ ฟินแลนด์

ส่วนประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่ได้อันดับ 4 และ 5 ในด้านการอ่านคือ ฮ่องกง และเอสโตเนีย ด้านคณิตศาสตร์คือ ฮ่องกง และไต้หวัน ด้านวิทยาศาสตร์คือ เอสโตเนีย และญี่ปุ่น จาก 77 สำหรับประเทศไทย การอ่านได้ อันดับที่ 66 ที่คะแนน 393 วิชาคณิตศาสตร์ ได้ที่ 56 ได้คะแนน 419 และวิชาวิทยาศาสตร์ ได้ที่ 52 คะแนน 426 โดยรวมถือว่า ต้องหาแนวทางยกระดับการศึกษาอีกมาก

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์