ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Bring Digital Future to Everone : Making Changes to Remap Thailand in the Digital World” โดยคุณศุภชัย เจียรวนนท์

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ได้บรรยายถึงภาพรวมของการก้าวสู่ยุคธุรกิจและอุตสาหกรรมยุคดิจิทัลของประเทศชั้นนำต่างๆ และให้มุมมอง พร้อมข้อสังเกตที่น่าสนใจในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของไทย ซึ่งถือเป็นพันธกิจสำคัญของสภาดิจิทัลฯที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นประเทศดิจิทัล

“อันดับการแข่งขันด้านดิจิทัลในเวทีโลกของไทย วันนี้ไทยอยู่อันดับ 40 ตกไปหนึ่งอันดับ ส่วนสิงคโปร์อยู่อันดับ 2 รองจากอเมริกา เกาหลีใต้ขยับจากอันดับ 14 เป็น 10 จีนจากอันดับ 30 ขยับเป็น 22 ซึ่งเคลื่อนตัวเร็วแซงญี่ปุ่น แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซียก็เขยิบจากอันดับ 27 เป็น 26 ฟิลิปปินส์จากอันดับ 56 เป็น 55 ถ้าเราไม่ปรับตัวเองได้เร็วพอ เราอาจอยู่สถานการณ์ที่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย แซงเรา ซึ่งอินโดนีเซียนั้น มี Tech Startup ระดับยูนิคอร์นเกิดสูง มีการเติบโตด้านดิจิทัลสูงมาก ซึ่งเป็นผลมาจากที่รัฐบาลตัดสินใจเด็ดขาดและรวดเร็ว”

“ขณะที่ในด้านองค์ความรู้ และการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่มาก ในส่วนนี้สิ่งที่เราทำได้ดีคือ การวิจัย ส่วนที่ยังทำได้ต่ำคือ การเทรนนิ่ง ส่วนทักษะด้านเทคโนโลยี ไทยยังถูกประเมินต่ำ และที่แย่สุดคือ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาด้านดิจิทัล และปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์” ประธานสภาดิจิทัลฯกล่าว

คุณศุภชัยกล่าวด้วยว่า การหยิบยกดัชนีนี้ขึ้นมา เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนที่เป็นเรื่องใหญ่ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยยังทำได้ไม่เท่าประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นต้องมีทัศนคติด้านดิจิทัลที่เปิดกว้างขับเคลื่อนอย่างมีความคล่องตัว มีจินตนาการ และความสร้างสรรค์สูง อุตสาหกรรมและองค์กรต้องบริหารยืดหยุ่นทางดิจิทัล รวมถึงการใช้บิ๊กดาต้าร่วมด้วย นอกจากนี้ควรกำหนดตัวชี้วัดด้านการสร้างทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) และการมีสิทธิบัตร (Patent) ต่างๆเพิ่มขึ้นในด้านดิจิทัลของไทยด้วย เพราะจะส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลของไทยในอนาคต

อย่างไรก็ตามแม้วันนี้ภาพรวมอันดับการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยจะอยู่ที่อันดับ 40 แต่ หากพิจารณาในเรื่องของ “โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี” ประเทศไทยค่อนข้างไปได้เร็วพอสมควร และที่เห็นชัดคือ ภาคธุรกิจการเงินที่ปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลได้รวดเร็วขึ้น

นอกจากนี้ คุณศุภชัย ยังได้นำเสนอข้อมูลและดัชนีที่มีนัยยะสำคัญต่อการนำมาประยุกต์และต่อยอดในการสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทย โดยเขาชี้ให้เห็นภาพรวมในระดับโลกไว้ว่า วันนี้ทั่วโลกเข้าสู่เทรนด์ดิจิทัลไปแล้ว ประชากร 7 พันกว่าล้านคนทั้งโลก ใช้สมาร์ทโฟนกว่า 5 พันล้านคน เราจึงเห็นการเติบโตของ “การบริโภคข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต” ที่สูงมาก และจะเป็นเทรนด์สำคัญในอีก 5 ปี ข้างหน้า จะเห็นว่าผู้บริโภคนำไปแล้วแต่อุตสาหกรรมและธุรกิจกำลังเริ่มขึ้น ซึ่งเมื่อเทคโนโลยี 5G เกิดขึ้นจะเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ตัวชี้วัดหนึ่งที่ประเทศไทยควรได้นำมาพิจารณา คือการเติบโตด้าน Mobile Consumption ของไทยที่สูงถึง 60% สูงกว่าญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อังกฤษ

“วันนี้เราเข้าสู่ยุคข้อมูลมหาศาล สู่ยุคเอไอ ยุคออโตเมชั่น ที่คนทำหน้าที่เป็นนักนวัตกรและทำเรื่องความสร้างสรรค์และให้บริการกันและกัน เป็นยุค 4.0 ที่ยังรวมถึงความยั่งยืน คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และมีความเชื่อของคนรุ่นใหม่ ทั้งหมดที่ว่ามาข้างต้น เทคโนโลยีด้านดิจิทัลจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสามารถช่วยสร้างนวัตกรรมที่รักษาสิ่งแวดล้อม และถ้าใช้ถูกทางทำให้สังคมปลอดภัย โปร่งใส่ เป็นสังคมน่าอยู่ การเลือกตั้งในอนาคตของทุกประเทศก็อาจจะเกิดขึ้นผ่านมือถือ เป็นยุคดิจิทัลที่นำอำนาจกลับไปให้ผู้คน ระบบสังคมโดยรวมและการขับเคลื่อนแบบโปร่งใสไม่มีขอบเขตและไม่มีระดับชั้นในระบบสังคมและเศรษฐกิจบ้านเรา”ประธานสภาดิจิทัลฯกล่าว

ในหมุดหมายของบทบาทและพันธกิจของสภาดิจิทัลฯ ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลและยกระดับประเทศไทยนั้น คุณศุภชัยกล่าวว่า ปัจจุบันสภาดิจิทัลฯมีสมาชิกที่เป็นสมาคมฯมากกว่า 20 สมาคม และเครือข่ายมากกว่า 4,000 องค์กร เกี่ยวข้องตั้งแต่โครงร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีจนถึงดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งกำหนดบทบาทสภาดิจิทัลฯเป็นองค์กรที่จะช่วย set up มาตรฐานและตัวชี้วัดใหม่ รวมทั้งทำงานร่วมกับภาครัฐ เอกชน และประชาชน

“บทบาทของสภดิจิทัลฯจะเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นของเศรษฐกิจยุค 4.0 โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างทัศนคติที่เพียงพอในการปรับตัวสู่ดิจิทัล ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมและธุรกิจให้เข้าใจในเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลได้มากขึ้นจนสามารถปรับตัวได้ทัน และสุดท้ายทำให้ไทยมีความเป็นฮับของภูมิภาคนี้ และที่สุดคือให้ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างนวัตกรรมด้านดิจิทัลให้กับโลก ขณะเดียวกันก็ต้องดำรงบทบาทตอบโจทย์ให้สังคมเดินคู่ขนานอย่างสมดุลกับการพัฒนาของเทคโนโลยี และความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจไทยด้วย” คุณศุภชัยกล่าว

สำหรับการสร้างระบบนิเวศน์ “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น” ให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศไทย นั้น ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า เริ่มตั้งแต่สภาพแวดล้อมแบบดิจิทัลในที่ทำงาน ไปจนถึงการใช้ดิจิทัลมาดูแลเรื่องความปลอดภัยทางข้อมูลในทุกองค์กร ที่สำคัญคือการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “Digital Literacy” คือ ทักษะความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ต้องสร้าง New Skill และ Reskill ให้เด็กรุ่นใหม่ สร้างปัจจัยให้เด็กรุ่นใหม่เข้าถึงดิจิทัล

“การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ในบริษัทตั้งแต่ขนาดเล็กถึงใหญ่ รวมทั้งในอุตสาหกรรม จนถึงระดับประเทศ อยู่ที่ Mindset หรือทัศนคติที่ยอมรับและปรับตัวสร้างความเปลี่ยนแปลง ตรงนี้ต้องเปลี่ยนก่อน มิฉะนั้นเราจะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และสูญเสียศักยภาพในการแข่งขัน กระทั่งหายไปจากอตุสาหกรรม ทัศนคติจึงเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเราไม่ยอมสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ ตัวชี้วัดใหม่ Mindset ที่ต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่ แม้ในวัยที่มีประสบการณ์มากแล้ว ผ่านอะไรมาเยอะ ถ้าเราไม่ยอมเรียนรู้ใหม่ จะทำให้เราอยู่ใน Auto Pilot โหมดเดิม เราไม่สามารถมองเป้าหมายองค์กร และมองไม่เห็นว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจะเสริมส่งประยุกต์กับเป้าหมายองค์กรอย่างไร”

“อย่าปล่อยให้เราอยู่กับ Auto Pilot ในความสำเร็จของเรา เพราะความสำเร็จที่ผ่านมาทั้งหมดของเราคือจุดเริ่มต้นของความล้มเหลว ระบบการศึกษาใหม่ เราสอนให้เด็กตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำด้วยกัน และอภิปรายด้วยเหตุผล การที่เราจะทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นให้ระบบเศรษฐกิจ สังคม และประเทศ ต้องเริ่มที่ Mindset และความหวัง ความสำเร็จจะต้องตามมาแน่นอน”ประธานสภาดิจิทัลฯกล่าวสรุป