“คุณวรรณี เจียรวนนท์ รอสส์” ทายาทประธานอาวุโส เครือซีพี ยกกรณีศึกษา “สถาบันผู้นำฯ-ปัญญาภิวัฒน์” เป็นตัวอย่างระดับโลก ผลิตนักศึกษาและบุคลากรป้อนสู่ตลาดแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ

คุณวรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน บุตรคนโตของท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้ก่อตั้งองค์กร Forum for World Education หรือ FEW ได้ขึ้นเวทีการประชุมเพื่อการศึกษาโลก หรือ 2019 Forum for World Education ซึ่งองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ สำนักงานใหญ่ OECD ในกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ What does it take to change education? เพื่อเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์

รวมทั้งมุมมองจากภาคธุรกิจที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันระบบการศึกษาให้ประสบความสำเร็จ โดยมีนักการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาชั้นนำระดับโลก และผู้นำรุ่นใหม่ที่สนใจในประเด็นการศึกษาร่วมประชุม ประกอบด้วย รีเบคก้า เมย์นาร์ด ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา , คริสตอฟ เมซเกอร์ โปรเฟสเซอร์ มหาวิทยาลัยเซนต์ แกลเลน สวิตเซอร์แลนด์ , คริสโตเฟอร์ พอมเมเรนนิ่ง ผู้ก่อตั้งโครงการ LearnLife ประเทศสเปน และเทียนเทียน จิน ตัวแทนผู้นำรุ่นใหม่จากองค์กร Forum for World Education (FWE) โดยมีการนำเสนอรูปแบบการจัดการศึกษาของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สเปน และไทย ทั้งนี้ คุณวรรณี เป็นตัวแทนจากภาคธุรกิจของไทย นำเสนอให้เห็นถึงบทบาทของภาคธุรกิจไทยในการร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาภาคการศึกษาและการสร้างคน โดยยกกรณีตัวอย่าง “สถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือ CPLI และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ PIM

ทั้งนี้ คุณวรรณี ได้นำเสนอกรณีศึกษาที่ภาคธุรกิจอย่างซีพีเข้ามาจัดการศึกษาให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ผ่านสถาบันผู้นำ ซึ่งเรียกกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้ว่า “เถ้าแก่น้อย” ตามแนวคิดของประธานอาวุโสเครือซีพี โดยเพาะบ่มแนวคิดและการทำงานให้กับคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษาซึ่งเปรียบคนรุ่นใหม่เหมือนต้นกล้าที่มีความสามารถจะเรียนรู้สิ่งใหม่ได้รวดเร็ว โดยสถาบันผู้นำฯได้เข้ามาพัฒนาจัดอบรมและให้กลุ่มคนรุ่นใหม่นี้ได้ลงมือปฏิบัติจริงในการวางแผนธุรกิจและแก้ปัญหา ให้เกิดการลองผิดลองถูกเพื่อเป็นบทเรียน โดยคนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้กลับมารายงานสรุปว่ามีสิ่งไหนที่ทำถูกต้องหรือส่วนไหนที่ผิดพลาด และได้แก้ปัญหาอะไรไปบ้าง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกฝนให้เรียนรู้ด้วยตนเอง

โดยมีผู้บริหารของเครือซีพีฯทำหน้าที่เหมือนพี่เลี้ยงแลกเปลี่ยนและให้ไอเดียคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ เมื่อเขาพบอุปสรรคและต้องตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ หลังการอบรมเสร็จสิ้นคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ส่วนหนึ่งก็จะกลับไปทำงานในหน่วยงานต่างๆของเครือฯต่อไป ซึ่งเครือซีพีฯเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ลูกวัวไม่กลัวเสือ” เปรียบคนรุ่นใหม่เป็นลูกวัวที่มีพลังมากพอที่จะทำและเรียนรู้ทุกอย่าง เพราะยังเด็กไม่มีอะไรต้องกังวล จึงกล้าที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆได้อย่างไม่กังวลเช่นผู้ใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพราะเครือซีพีฯมองว่าสอดคล้องกับโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คนที่มีประสบการณ์หรือเป็นผู้ใหญ่แล้วสามารถสอนและเรียนรู้ได้จากคนรุ่นใหม่เช่นเดียวกัน และถ้าได้คนรุ่นใหม่ทำเรื่องใหม่ก็จะได้ธุรกิจใหม่ ซึ่งเมื่อคนกลุ่มนี้ผ่านการฝึกฝนเรียนรู้ให้คำแนะนำเขาก็จะมีศักยภาพนำสิ่งใหม่ๆพัฒนาสิ่งดี ๆ ให้กับสังคมและองค์กร

นอกจากนี้ คุณวรรณี ยังนำเสนอรูปแบบของการจัดการศึกษาของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นจากแนวคิดของ คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ เพราะต้องการช่วยเหลือพนักงานให้มีอนาคตที่ยังยืนควบคู่ไปกับการก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่สามารถทำงานและเรียนไปด้วยพร้อมกันได้ ส่งเสริมให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จำเป็นต้องออกมาทำงานตั้งแต่อายุ 17-18 ปี หรือบางคนที่จบการศึกษาระดับอาชีวะ และมัธยมปลาย บางคนก็ยังไม่จบการศึกษา ได้มีโอกาสเรียนหนังสือและทำงานเป็นพนักงานในร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นได้ จะเห็นว่าภาคธุรกิจไม่ได้มอบให้แค่การสร้างอาชีพให้คนกลุ่มนี้ แต่ยังมองถึงอนาคตที่ก้าวหน้ามั่นคงของนักศึกษาและพนักงาน โมเดลนี้ถือเป็นหนึ่งในปรัชญาสำคัญของเครือซีพี คือ ไม่ว่าเราจะทำธุรกิจอะไร ประโยชน์จะต้องให้กับประเทศชาติก่อน ตามมาด้วยประชาชน และถึงจะเป็นบริษัท ในการนี้ คุณวรรณี ยังได้ย้ำให้เห็นถึงคุณค่าของการให้และเมตตาต่อสังคม โดยขอให้ช่วยกันปลูกฝังการให้และการแบ่งปันเพื่อสังคม

นอกเหนือจากนี้ ยังมีตัวแทนจากสวิตเซอร์แลนด์ได้นำเสนอรูปแบบการจัดการหลักสูตรการศึกษา ที่เรียกว่า VET คือการจัดการเรียนการสอนคู่ขนานระหว่างการเรียนอาชีวศึกษาผสมผสานกับการเรียนหลักสูตรสามัญ เป็นการดึงจุดแข็งของสายวิชาการและสายอาชีพเข้าด้วยกัน เป็นรูปแบบที่มีความยืดหยุ่นสูง ฝึกฝนทักษะและมีประสบการณ์ตรงในการทำงานในอนาคต โดยการเรียนรูปแบบนี้จะได้ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติจริงกับพาร์ทเนอร์ที่เป็นบริษัท ซึ่งจากการทดลองใช้และสำรวจความเห็นพบว่าผู้มีมีความพึงพอใจ มีความหวังในอนาคตของอาชีพและรายได้ที่ดีขึ้น ขณะที่ฝั่งบริษัทได้บุคลากรที่มีประสิทธิภาพ ตรงเป้าหมายและรองรับอนาคตของการเปลี่ยนแปลงในโลก ทั้งยังช่วยลดจำนวนคนรุ่นใหม่ที่ว่างงานด้วย ทั้งหมดนี้ต้องเกิดจากความร่วมมือทั้งในระบบการศึกษา และภาคธุรกิจ

ส่วนประเทศสเปนได้เสนอแนวคิด โปรเจ็กต์ Learning Hub ที่เป็นศูนย์การจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละบุคคล หรือ Personal Learning เพราะจากผลสำรวจพบว่าเด็กมัธยมปลายกว่า 76% ไม่รู้ว่ามีเป้าหมายอะไรในชีวิต และยิ่งในอนาคต 10 ปี ข้างหน้าพวกเขาจะต้องเติบโตเข้าสู่สังคมยุคหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งแนวทาง Learning Hub นี้ เป็นการเปิดให้ผู้เรียนได้ออกแบบการเรียนและเรียนรู้ด้วยตัวเอง และตระหนักได้ถึงเป้าหมายแรงบันดาลใจของตัวเอง ซึ่งจะได้ผลิตบุคลากรที่เป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งโมเดลนี้รัฐบาลเยอรมันกำลังให้ความสนใจและจะเริ่มทดสอบในอนาคต

ขณะที่ประเทศไทย คุณวรรณีเห็นอย่างสอดคล้องว่ารูปแบบการจัดการศึกษาของสถาบันปัญญาภิวัฒน์มีความคล้ายคลึงกับการผสมผสานการเรียนอาชีวศึกษากับระดับมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน เพราะผู้เรียนจะได้มีโอกาสฝึกฝนประสบการณ์ระหว่างเรียนกับภาคธุรกิจต่างๆ ซึ่งสิ่งสำคัญของการจัดการศึกษาคือการสร้างให้คนมีแรงบันดาลใจที่จะเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

ติดตามชมคลิปที่ https://youtu.be/k9xAPJJHT8E

Cr:Pr CPG