“ซีพี ออลล์” จัดทัพรับค้าปลีกยุคใหม่ ชู “24 ช็อปปิ้ง” สร้างแพลตฟอร์ม O2O เชื่อมออฟไลน์-ออนไลน์

ไร้รอยต่อ เสริมแกร่ง 7-11 รับเทรนด์ตลาดเปลี่ยน เทคโนโลยีดิสรัปต์พฤติกรรมผู้บริโภค
คุณปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา “ธุรกิจค้าปลีกประจำปี 2020 จับกระแส Modern Trade ยุคใหม่ ทำกำไรด้วย O2O” ที่จัดโดยซีพี ออลล์ และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีไม่เพียงแต่ดิสรัปต์ธุรกิจ แต่ยังดิสรัปต์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้น้ำหนักกับความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว มีความคาดหวังสูง มีการศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค้าปลีกต้องปรับตัวรับกับความต้องการที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปสู่แพลตฟอร์มใหม่ ๆ

โดยเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ คือการค้าแบบ O2O หรือ offline to online-online to offline จะเห็นได้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีร้านค้าปลีกที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป จนทำให้ต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนมากในสหรัฐ ส่วนผู้ที่ปรับตัวได้จะขยับเข้ามาในออนไลน์มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในโลกออนไลน์ก็ไม่สามารถหยุดแค่การขยายตัวเฉพาะช่องทางนี้เท่านั้น แต่ยังต้องการร้านค้าปลีกออฟไลน์ (physical store) เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็น อาลีบาบาที่เข้าซื้อ Herma Market หรือ Sun Artตลอดจนอเมซอน ที่ซื้อ Whole Food, Walgreens หรือการพัฒนาร้าน amazongo ขึ้น

“ค้าปลีกยุคใหม่จะอยู่รอดต้องผสมผสาน offline-online โดยออนไลน์คือช่องทางที่สะดวก รวดเร็ว ซื้อได้ทุกที่ทุกเวลา ส่วนออฟไลน์คือการที่ลูกค้าสามารถที่จะเห็นของ ได้ลองสินค้า หากสามารถเชื่อมต่อทั้งสองช่องทางเข้าด้วยกันก็จะสามารถเพิ่มฐานลูกค้า เพิ่มยอดขายได้”

คุณปิยะวัฒน์ย้ำว่า ที่สำคัญคือความสะดวกจะต้องเข้าไปตอบโจทย์ในทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการขาย การจ่าย ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีจำนวนมากที่รองรับ อาทิ แคชออนดีลิเวอรี่, อีเพย์เมนต์, โมบายแอป เป็นต้น ตลอดจนการส่ง และการรับสินค้า ที่ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญเรื่องความเร็ว เพื่อชนะใจทั้งผู้บริโภคและการแข่งขันเพื่อรับกับโอกาสดังกล่าว บริษัทได้พัฒนาแพลตฟอร์มของ O2O ผ่านธุรกิจของ 24 ช็อปปิ้ง ซึ่งปัจจุบันได้เข้าไปอยู่ทั้งในช่องทางหน้าร้าน (7-11) แค็ตตาล็อก รวมถึงช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นโมบายแอปพลิเคชั่น และเว็บไซต์ ปัจจุบันมีสินค้าวางจำหน่ายกว่า 6 หมื่นรายการ มีความสะดวกในการสั่งและส่งโดยลูกค้าสามารถเลือกรับได้ทั้งสาขาของเซเว่นฯที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 11,500 สาขา หรือที่บ้าน
นอกจากนี้ ข้อมูลการจับจ่ายที่เกิดขึ้นยังทำให้บริษัทสามารถรู้อินไซต์ความต้องการของลูกค้า และทำให้สามารถบริหารสต๊อกสินค้าให้มีประสิทธิภาพ เช่น สินค้าขายดีก็จะสั่งเข้ามาจำนวนมาก ทำให้ไม่เสียโอกาสในการขาย หรือสินค้าที่ขายดีในออนไลน์ ก็จะนำมาวางขายที่หน้าร้านเพื่อเพิ่มยอดขายได้ หรือลูกค้าสั่งสินค้าแล้วมารับที่สาขาใดมาก ๆ ก็จะทำให้เห็นศักยภาพของทำเลนั้น เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการอื่น ๆ เข้าไปตอบโจทย์ต่อไป สำหรับธุรกิจของ 24 ช็อปปิ้งในปีที่ผ่านมามีการเติบโต 27% สูงกว่าภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซที่เติบโตประมาณ 15% และถือเป็นผู้เล่น top 10 ในตลาด

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ