เครือซีพี ร่วมมือ ม.สแตนฟอร์ด เชิญ 4 นักวิชาการระดับโลกให้ความรู้ผู้บริหารเครือฯจัดสัมมนาหัวข้อ “What Lies Ahead? Southeast Asia in 2020 and beyond”

เครือซีพีร่วมมือมหาวิทยาลัยระดับโลก เชิญ 4 นักวิชาการชั้นนำจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ร่วมส่งเสริมให้ความรู้ผู้บริหารเครือฯ จัดสัมมนาหัวข้อ “What Lies Ahead? Southeast Asia in 2020 and beyond” พูดคุยถึงสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐ-จีน และบทบาทของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งชี้ให้เห็นทิศทางสำคัญด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของภูมิภาคอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและสังคมไทย

เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาและวิจัย Walter H.Shorenstien Asia-Pacific Research Center แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จัดสัมมนาและให้ความรู้ผู้บริหารเครือฯ ถึงทิศทางและอนาคตของประเทศในภูมิภาคอาเซียน หัวข้อ “What Lies Ahead? Southeast Asia in 2020 and beyond” โดยได้รับเกียรติจากนักวิชาการชั้นนำจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด 4 ท่าน ประกอบด้วย Gi – Wook Shin (PhD), APARC Director and Korea Program Director ,Karen Eggleston (PhD), APARC Deputy Director and Asia Health Policy Program Director ,Donald K. Emmerson (PhD), APARC Southeast Asia Program Director, Stanford University และ Mr. Andrew Kim, APARC Visiting Scholar, Former Head of the CIA’s Korea Mission Center ที่โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย โดยมีผู้บริหารเครือฯ และกลุ่มธุรกิจให้ความสนใจเข้าร่วมฟังสัมมนานับร้อยคน

ในโอกาสนี้ ดร.สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือฯ กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในด้านการศึกษาและให้องค์ความรู้ โดยเวทีนี้จะได้นำเสนอแนวคิดของนักวิชาการที่ศึกษาและวิจัยสภาพการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทย เพื่อจะได้คาดการณ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในปีถัดไปได้ ซึ่งภูมิภาคอาเซียนกำลังได้รับความสนใจในเวทีโลก ดังนั้นการสัมมนาครั้งนี้จะได้สร้างความพร้อมให้ผู้บริหารได้มองเห็นถึงผลกระทบในระดับโลกที่จะมีผลต่อประเทศไทยและภูมิภาคนี้ รวมทั้งได้ตระหนักถึงสถานการณ์ต่างๆ และได้เตรียมทุกสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ

อาทิ ในปีหน้าที่จะมีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งจะมีผลต่อความเคลื่อนไหวในเรื่องเบรคซิท การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งจะมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับไทยส่วนหนึ่ง การพูดถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาการขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ประเด็นที่เกิดขึ้นในฮ่องกง ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ บทบาทของสหรัฐและจีนในปี 2020 เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อธุรกิจเอกชนทั้งซีพีและอื่นๆ เวทีสัมมนานี้จึงได้มาแลกเปลี่ยนความรู้และนำเสนอมุมมองทางวิชาการที่มีประโยชน์ให้ผู้บริหารเครือซีพีได้รับทราบทิศทางที่สำคัญในปีหน้า

“เราเข้าสู่ยุคใหม่ของโลกจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใคร่ครวญถึงศักราชใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงจำเป็นต้องได้รับฟังและเห็นมุมมองในระยะยาวว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง เพราะส่งผลต่อเราและประเทศทั้งกับชีวิตและธุรกิจ ครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการพูดคุยในประเด็นต่างๆ”ดร.สารสินกล่าว

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ Gi Wook Shin วิเคราะห์ภาพรวมและสถานการณ์ที่น่าสนใจของนโยบายสหรัฐที่เกี่ยวกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ และดำเนินนโยบายอเมริกาต้องมาก่อน หรือ American First ที่เน้นความเป็นชาตินิยม ซึ่งส่งผลต่อประเทศต่างๆทั่วโลกทั้งนโยบายด้านการค้า เศรษฐกิจ การเมืองและการทหาร ขณะที่สถานการณ์ตึงเครียดของสงครามการค้าสหรัฐ-จีน มองว่าทั้งสองประเทศควรใช้การประนีประนอมต่อกันจะดีกว่าต้องมีคนแพ้ชนะ และที่ต้องจับตาคือ การแข่งขันทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่มีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ

รวมทั้งในซิลิคอนวัลเลย์เองบริษัทเทคโนโลยีที่เน้นธุรกิจแพลทฟอร์มยักษ์ใหญ่ทั้ง เฟซบุ๊ค แอปเปิ้ล กูเกิ้ล แอมะซอน ไมโครซอฟท์ ฯลฯ แข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น โดยอนาคตบริษัทเทคโนโลยีใดที่สามารถขึ้นเป็นผู้นำในด้าน 5Gและระบบเอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ได้ ก็จะสามารถครองการค้าได้ในทศวรรษหน้า ซึ่งเป็นเรื่องยากที่สหรัฐฯจะต่อสู้ เพราะมีบุคลากรด้านเทคโนโลยีที่เป็นคนจีนนับแสนคนทำงานอยู่ในซิลิคอนวัลเลย์ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการอยู่และทำงานกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน ทั้งนี้เขายังคาดการณ์ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีกครั้งในสมัยหน้า ขณะที่มองถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียว่าจีนจะขึ้นมามีบทบาทนำ ซึ่งจะส่งผลต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย ที่ต้องอยู่ในสถานะต้องเลือกระหว่างจีนหรืออเมริกา ซึ่งไม่ง่ายที่จะเลือก ถือเป็นความกดดันและท้าทายต่อหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียที่จะเผชิญสถานการณ์ต้องเลือกเช่นเดียวกัน

ศาสตราจารย์ Gi Wook Shin กล่าวด้วยว่า เมื่อเห็นสถานการณ์ดังกล่าว ประเทศไทยและภาคเอกชนใหญ่อย่างซีพีอาจจะเข้ามามีส่วนร่วมในการมีบทบาทกระตุ้นให้บุคลากรในสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆต้องดำเนินการเพื่อรองรับการแข่งขันทางเทคโนโลยีที่จะดุเดือดขึ้นของสหรัฐและจีน

ดร.Karen Eggleston กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจว่า ในส่วนของประเทศไทยถือว่ามีเรื่องระบบการดูแลสุขภาพที่ดี อย่างไรก็ตามประเทศไทยและหลายประเทศในภูมิภาคนี้ทั้งเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นกำลังต้องเผชิญกรณีสังคมที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นจากทั้งเทคโนโลยีด้านชีวภาพที่ทำให้คนอายุยืนขึ้น ขณะเดียวกันในอนาคตตลาดแรงงานก็จะมีปัญญาประดิษฐ์และระบบออโตเมชั่นเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ จึงต้องพิจารณาถึงแผนการดูแลผู้สูงอายุที่จะมีเพิ่มขึ้นในสังคมอย่างไร ขณะที่คนวัยทำงานก็ลดน้อยลง เทคโนโลยีใหม่ๆที่เข้ามาทดแทนงานปัจจุบันถึง 50% รวมทั้งการเลือกใช้เอไออย่างเหมาะสม เหล่านี้เป็นประเด็นที่หลายประเทศสนใจและหาทางออกเรื่องนี้ ขณะเดียวกันรัฐบาลและภาคเอกชนจะร่วมมือกันอย่างไรในการขจัดทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำ การสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคเอกชน

ขณะที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ Donald K.Emmerson กล่าวว่า เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ของจีนและสหรัฐ ที่มีต่อเอเชียและไทยแล้วจะเห็นว่าจีนเป็นแหล่งโอกาสของประเทศในภูมิภาคนี้ โดยจีนได้แสดงบทบาทการมีส่วนร่วมกับประเทศไทยและในอาเซียนมากกว่าสหรัฐฯอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามในแง่ภูมิศาสตร์การเมืองแล้วอยากให้ประเทศไทยได้แสดงบทบาทเชิงรุกกับจีนและสหรัฐมากกว่านี้ทั้งทางการทูต การเมือง และการต่างประเทศ จึงเห็นว่าไทยจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ยืนหยัดของตัวเองด้วย ขณะที่มุมมองต่อซีพีเห็นว่าเป็นบริษัทที่มีศักยภาพพร้อมที่จะช่วยสนับสนุนการเกษตรและการผลิตอาหารของภูมิภาคอาเซียนให้รุ่งเรือง เพราะมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก

ด้าน คุณ Andrew Kim กล่าวว่า มีโอกาสที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะได้กลับเข้ามาในสมัยที่สองในการเลือกตั้งสหรัฐฯปลายปีหน้า ซึ่งจากประสบการณ์ที่มีโอกาสทำงานร่วมกับรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ มองว่าสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐและจีนจะยังดำเนินต่อไปในระยะยาว ซึ่งภาคเอกชนเคยถามว่าจะจัดการและรับมือกับสองประเทศยักษ์ใหญ่นี้อย่างไร ก็ต้องบอกว่าเวลามีวิกฤตจะมีโอกาส หากเราไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดประเทศใดประเทศหนึ่ง ไทยน่าจะได้รับการต้อนรับที่ดีทั้งจากจีนและสหรัฐ ในส่วนซีพีเองมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน ขณะเดียวกันประธานาธิบดีสหรัฐมีนโยบายที่ต้องการให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในสหรัฐมากขึ้นเพื่อสร้างงานให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้มแข็ง ดังนั้นทิศทางที่เห็นคือรัฐบาลสหรัฐให้ความสนใจในเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศ และมองหาบริษัทต่างประเทศที่เข้ามาโดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะในซิลิคอนวัลเลย์ที่บริษัทสตาร์ทอัพสหรัฐลังเลที่จะรับเงินทุนจากจีน ซึ่งถือเป็นหนึ่งโอกาสของซีพี และบริษัทต่างชาติต่างๆที่จะเข้าไป

ขณะที่ในช่วงถามตอบ คุณนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร เครือฯ ได้ถามมุมมองของนักวิชาการมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดถึงแนวคิดที่จะทำให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางอย่างยาวนาน โดยนักวิชาการมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดทั้ง 4 คน เห็นตรงกันว่าจะต้องมีการลงทุนด้านการศึกษาให้มากขึ้น มีการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น และเพิ่มการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งจะต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงประเทศให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลางให้ได้

Cr:Pr CPG