ซีพีเอฟ ชูนวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อมกรณีโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดงาน Innovation Thailand Expo 2019 งานแสดงนวัตกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมจากทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับสู่การเป็นประเทศฐานนวัตกรรม โดยปีนี้ จัดภายใต้แนวคิดนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) โดยมีเครือเจริญโภคภัณฑ์ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมสนับสนุนการจัดงาน

เวทีเสวนาในหัวข้อ “ก้าวสู่ทศวรรษใหม่กับการทำนวัตกรรมเพื่อสังคม” มี คุณณฐมน กะลำพะบุตร ผู้จัดการสำนักบริหารและส่งเสริมด้านความหลากหลายทางชีวภาพ หน่วยงานความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นตัวแทนของซีพีเอฟ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ร่วมกับตัวแทนจาก บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท มิตรผล จำกัด

คุณณฐมน ยกโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของซีพีเอฟ ที่สร้างสรรค์เพื่อสังคม ชุมชน แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยนวัตกรรมด้านกระบวนการมาดำเนินงาน คือ โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี อนุรักษ์ ฟื้นฟู ป่าบกในพื้นที่เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ร่วมกับกรมป่าไม้ และ โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน เป็นโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าชายเลนร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ซึ่งทั้งสองโครงการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของโครงการ ผ่านกระบวนการ “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกันพัฒนา และ ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการ”

โครงการปลูกป่าชายเลน ที่ต.บางหญ้าแพรก จ. สมุทรสาคร อาศัยนวัตกรรมมาใช้ในการปลูกป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยากต่อการเติบโตของต้นไม้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อ่าวตัว ก. มีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งสูงและปัญหาขยะ ทำให้ปลูกป่าในช่วงแรกๆไม่ได้ผล ระยะเวลา 5 ปีจากวันนั้น จนถึงวันนี้ ซีพีเอฟสามารถอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเพิ่มพื้นที่ปลูกใหม่ที่ ต.บางหญ้าแพรก 104 ไร่ ทรัพยากรธรรมชาติกลับสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง สัตว์น้ำทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา มีจำนวนเพิ่มขึ้น เป็นผลดีกับชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพประมง

ถอดบทเรียนความสำเร็จ เกิดจากการเรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน อาศัยหลักการ 3 ก. คือ
“ก. กล้าแกร่ง” หมายถึง เรียนรู้จากชุมชนในการนำกล้ามาอนุบาลให้แกร่ง โดยใช้เวลาอนุบาลกล้า 6-8 เดือน ความสูงของกล้าสูงกว่า 80 เซ็นติเมตรขึ้นไป ก่อนจะนำไปลงดิน เพื่อไม่ให้กล้าจมดินเลน
“ก. กล้าเกิด” คือ เลือกช่วงเวลาปลูกในฤดูกาลที่เหมาะสม ไม่ปลูกในช่วงที่ดินมีความร้อน เพื่อเพิ่มอัตราการรอดของต้นกล้า
“ก. กล้าทำ” คือ กล้าที่จะลงมือทำ โดย ล้อมรั้วเพื่อป้องกันต้นกล้า

3 ก.กล้าแกร่ง กล้าเกิด กล้าทำ เพื่อนำสู่ความสำเร็จ
พื้นที่ป่าชายเลนที่ต.ปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง เป็นพื้นที่ป่าชายเลนอีกแห่งหนึ่ง ที่ซีพีเอฟเข้าไปอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่รวม 614 ไร่ พลิกพื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรม ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง นอกจากนั้น ซีพีเอฟยังได้ส่งเสริมอาชีพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตั้งเป็นกองทุนอนุรักษ์ป่าชายเลนของชุมชน ต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชน โดยร่วมกับ บริษัท โลคอล อไลค์ จำกัด เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้จากการท่องเที่ยวและนำส่วนหนึ่งเข้าสู่กองทุนฯ เพื่อดูแลป่าอย่างยั่งยืนต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีโครงการปลูกป่าบก คือ โครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ” ปลูกป่าในพื้นที่ 5,971 ไร่ที่เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เป็นแหล่งเรียนรู้ป่าฉลาดพลาดไม่ได้ พื้นที่ดังกล่าวใช้กระบวนการปลูกป่า 4 รูปแบบ ได้แก่ 1) ปลูกป่าแบบพิถีพิถัน จัดทำระบบให้น้ำแบบหยดทั่วทั้งแปลง 2) ปลูกป่าเชิงนิเวศ เป็นการปลูกป่าเลียนแบบธรรมชาติ 3) ปลูกป่าแบบเสริมป่า เป็นพื้นที่มีต้นไม้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ไม่กระจายทั่วพื้นที่ จึงต้องปลูกต้นไม้เสริมและกำจัดเถาวัลย์ที่ปกคลุมยอด ให้แสงส่องถึงลูกไม้ที่อยู่พื้นดิน และ 4) การส่งเสริมการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ การนำการปลูกป่าทั้ง 4 รูปแบบมาใช้ เพื่อย่นระยะเวลาทำให้ป่ากลับมาสมบูรณ์โดยไม่ต้องรอเวลา 20-30 ปี และในอนาคตพื้นที่นี้จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้วยเช่นกัน

คุณณฐมน กล่าวสรุปท้ายการเสวนาว่า สิ่งสำคัญที่จะขับเคลื่อนโครงการต่างๆสู่ความยั่งยืน คือ การจูงใจให้คนรุ่นใหม่ในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการให้มากที่สุด เพราะจากประสบการทำงาน 5 ปี ในโครงการปลูกป่าชายเลน ถ้าชุมชนไหนขาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ไป โอกาสที่จะยั่งยืนก็มีความเป็นไปได้น้อยลง

Cr:Pr CPF