CEO ซีพีเอฟชี้ ทิศทาง ครึ่งปีหลัง 2562 ซีพีเอฟราคาหมูดีต่อเนื่อง รับมือ ASF เน้นลงทุนนวัตกรรม เพิ่มเทคโนโลยีใหม่ เน้นการทำแบรนดิ้ง

คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางแนวโน้มครึ่งปี

ภาพรวมครึ่งปีแรก
หากดูรายละเอียดทางบัญชีก็จะรู้ว่าจริง ๆ แล้วดีขึ้นมาก เพราะเราต้องสำรองเงินสำหรับคนเกษียณหรือรีไทร์เมนต์ฟันด์ตามเกณฑ์กฎหมายใหม่ให้ตั้งสำรอง ซึ่งเป็นการตั้งสำรองทางบัญชี แต่จริง ๆ ยังไม่ได้จ่าย ส่วนที่สองมาจากราคาหมูที่เวียดนามครึ่งปีแรกต่ำลงนิดหน่อย แม้ว่ายอดขายยังมีกำไรนิด ๆ แต่ในทางบัญชีต้องคำนวณในส่วนของทรัพย์สินทางชีวภาพคงเหลือ ซึ่งประเมินแล้วจะมีราคาลงตามราคาหมู ทำให้ขาดทุนทางบัญชีประมาณ 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือพันกว่าล้านบาท หากบวกเข้ามาที่รายได้ 8,383 ล้านบาท ก็จะรวมเป็น 10,000 กว่าล้านเติบโตขึ้นเยอะ กำไรดีขึ้น 30-40%

เช่นเดียวกัน ค่าบาทซึ่งกระทบเราในเชิงบัญชี เพราะเราลงทุนประเทศไหนก็จะใช้เงินประเทศนั้น เช่น ที่เวียดนามลงเป็นด่อง พอตอนโอนมาลงบัญชีต้องคำนวณเป็นบาท ทำให้มีอัตราเติบโตน้อยแค่ 1% จากความจริงที่ขยายตัว 5-6% ดังนั้น เราไม่จำเป็นต้องปิดความเสี่ยงอะไร เพราะเป็นเรื่องบัญชีธรรมดาแต่เงินไม่ได้ออกสักบาท

ถ้ามองในเชิงปริมาณครึ่งปีแรกโตประมาณ 6% ส่วนทั้งปีมองว่าจะขยายตัว 10% โดยปกติครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก และหากสงครามการค้าคลี่คลายจะดีขึ้นทุกอย่าง ทั้งความเชื่อมั่นก็จะดีขึ้น ส่วนของกำไรขั้นต้นครึ่งปีแรกกำไรขั้นต้น 14% ดีกว่าครึ่งปีแรกของปีก่อนที่ 10% ซึ่งทั้งปีหวังว่าจะดีขึ้นมาจากราคาหมูที่มีแนวโน้มดีขึ้น

ธุรกิจหมูดันกำไรเพิ่ม
สัดส่วนรายได้หลักครึ่งปีหลังมาจากต่างประเทศเป็นหลัก ไฮไลต์สำคัญคือราคาหมูในเวียดนามกลับมาดี เทียบไซซ์เวียดนามถือเป็นอันดับ 3 จากการลงทุนของเราใน 17 ประเทศประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาท ส่วนในไทยดีอยู่แล้ว แต่ไม่เท่าเวียดนาม ปีนี้หมูเป็นพระเอกเห็นชัดเจนว่ามันกำลังกลับเริ่มเซตเทิลดาวน์แล้วถ้าถามว่ากำไรมาจากไหน ส่วนสำคัญมาจากหมู คือ บ้านเรากลับมาดี

ตอนนี้กก.ละ 70 บาทได้ แต่ในอดีตเคยดีกว่านี้ประมาณ 78-80 บาท ธุรกิจหมูมีไซเคิลทุก 4 ปีขึ้น-ลง เมื่อ 2 ปีก่อนผลิตมากก็พังคนก็เลิกเลี้ยง แต่เราเป็นบริษัทยังต้องทำเรื่อย ๆ และรับภาระก่อน พอมาถึงตอนนี้เป็นเทรนด์ที่ดี บวกกับที่จีนมีปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (ASF) ทำให้ขาดแคลน ราคาดีขึ้น กำไรจึงย้อนกลับมา เราได้อานิสงส์ออร์เดอร์เพิ่มมานิดหน่อย โชคดีที่เราป้องกันค่อนข้างดี

ครึ่งปีหลังราคาหมูดีต่อเนื่อง
ASF เป็นโรคไม่มียารักษา เกิดที่ยุโรปก่อน ใช้เวลานับ 10 ปีในการดูแลรักษา ตอนนี้แม้ว่าทางเวียดนามบอกว่ามียาแต่ไม่มีใครคอนเฟิร์ม ประมาณการว่า 5 ปีเป็นอย่างน้อย และการที่ผลผลิตหมูหายไปก็จะใช้เวลาฟื้นกลับมาอีก 2-3 ปี ฉะนั้น ไซเคิลรอบนี้อาจจะเปลี่ยนเป็น 6-7 ปี จากปกติ 4 ปี ถือเป็นโอกาส แต่ระดับราคาหมูในไทยไม่ได้สูงมากต่างจากประเทศอื่น

หากเปรียบเทียบพัฒนาการของหมูในไทย เวียดนาม จีนต่างกัน เพราะจีนเป็นรายย่อยเทียบกับประเทศที่ขนาดใหญ่มาก ระบบไม่ดีมาก เวียดนามก็มีแต่รายย่อยไม่มีรายใหญ่ ฟาร์มเล็กพื้นที่แคบกว่า อัตราที่เชื้อแพร่เร็วกว่าจีน ประชากรหนาแน่น 50 กว่าล้านตัว เทียบกับไทยมี 20 ล้านตัว

ถือว่าสัดส่วนพอดีไม่หนาแน่น และระบบฟาร์มในไทยค่อนข้างดี ความร่วมมือระหว่างสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและกรมปศุสัตว์ดีเกิดการประสานงานกันมาตั้งแต่จีนมีข่าว เราก็เริ่มแชร์ข้อมูล เตรียมตัว และทางกรมของบฯล่วงหน้า กว่าจีนจะลามมาเวียดนาม ทำให้เราป้องกันได้ดี แต่ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ว่าจะป้องกันขนาดไหน

ซีพีเอฟ รับมือ ASF
หากฟาร์มและโรงชำแหละไม่ integration จะคอนโทรล ASF ไม่ได้ แต่ของเรา fully integrate ทำให้อิมแพ็กต์น้อยกว่าคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น เวียดนามมีโรค เกษตรกรมีปัญหาจัดการไม่ดี แต่ของเรา fully integrate ถามว่ากระทบไหม กระทบในแง่ที่ราคาตลาดลดลง ทำให้มูลค่าลดลง ทำให้ทรัพย์สินทางชีวภาพมูลค่าลดลง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้กลับมาคือ เดิมรัฐบาลเวียดนามไม่อนุญาตให้ทำร้านชำแหละหมูย่อย ๆ เพราะกลัวไฮยีนไม่ดี แต่พอมีโรคนี้ ทางบริษัทได้เข้าไปหารือว่าจะส่งเสริมร้านค้าปลีกที่มี food safety มากขึ้น กลายเป็นว่ารัฐบาลอนุญาตให้เราเปิดช็อปได้เร็วมาก

ลูกค้าก็มาซื้อช็อปมากขึ้น เพียงแต่ราคาหมูไม่ดีในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แต่จนถึงตอนนี้ราคาเริ่มกลับมาดีเกินต้นทุนแล้ว ซึ่งจะส่งผลไปที่ผลประกอบการไตรมาสถัดไป เพราะปัจจัยจากการขาดทุนจากทรัพย์สินชีวภาพหายไปกลับมาเป็นบวกได้

ธุรกิจฟาร์มไก่-กุ้งเวียดนาม
นอกจากนี้ ในเวียดนามยังมีการลงทุนคอมเพล็กซ์ไก่ขนาดใหญ่ ซึ่งแผนการลงทุนสัตว์ปีกจะใช้เวลา 2.5 ปี ตอนนี้ภาพรวมธุรกิจไก่ยังเติบโตเพราะเทรนด์คนรักสุขภาพมากขึ้น จะนิยมบริโภคอกไก่ซึ่งไขมันต่ำ ราคาไม่สูงถ้าเทียบกับโปรตีนชนิดอื่น แต่ถึงถามว่าดีมากไหมก็ไม่สุดไม่เท่ากับหมู

ส่วนฟาร์มกุ้งในเวียดนามถือว่าดีเช่นกัน เพราะรัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าหมายจะเป็นเจ้าตลาดส่งออก วางเป้าหมายปีละ 1 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าที่ไทยผลิตได้ปีละ 3 แสนถึง 3 เท่า ซึ่งตอนนี้ได้ 4-5 แสนตันแล้ว เราได้อานิสงส์จากนโยบายรัฐ พอนโยบายชัดเจนก็มั่นใจในการลงทุน

ปักธงโรงอาหารสัตว์โปแลนด์
แผนลงทุนครึ่งปีหลังยังคงเน้นลงทุนนวัตกรรม โดยจะเพิ่มเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากกว่าอุปกรณ์ และเน้นการทำแบรนดิ้ง เช่น เบญจา ภาพรวมแต่ละปีซีพีเอฟมีงบฯลงทุนเฉลี่ย 30,000 ล้านบาทก็ทยอยใช้มาเรื่อย ดีล M&A เพิ่งทำไปคือการควบรวมธุรกิจหมูที่แคนาดา (Hylife) ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบโดยคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าซึ่งเช็กทั้งไทย แคนาดา และพันธมิตรอิโตชูที่ญี่ปุ่น และเช็กไป 7 ประเทศ โดยปกติแต่ละประเทศใช้เวลาตรวจสอบ 2 เดือน แต่เราคาดว่าธันวาคมนี้น่าจะสรุปได้

ล่าสุดได้ตั้งโรงงานอาหารสัตว์ PetRepublic ที่ประเทศโปแลนด์ 5 แสนเหรียญซีลอตตี คือเรามีธุรกิจจอยต์เวนเจอร์ (JV) ที่โปแลนด์ และมองว่าธุรกิจอาหารสัตว์เป็นธุรกิจต่อเนื่องจากเนื้อไก่ทั้งหลาย และ PET food ก็มีโอกาสที่จะมาเสริม โดยนำเอาบายโปรดักต์มาเพิ่มมูลค่า เป็นการทดลองก่อนกำลังผลิตไม่มากเทียบกับไซซ์ของ ซี.พี.

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ