รร.สาธิต PIM ปั้นเด็ก ม.ปลาย สอนเด็กตามความถนัดรายบุคคลใช้เทคโนโลยีผสมกับ active learning และแนวทาง work-based learning

จากความสำเร็จของโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (สาธิต PIM) ในการเปิดการเรียนการสอนระดับมัธยมต้นเมื่อปี 2559 ตามแนวทางสร้างทักษะเสริมศักยภาพนักเรียนตามความถนัดรายบุคคล บูรณาการทักษะการบริหารจัดการ ทักษะกระบวนการคิด และทักษะการใช้ภาษาไทย อังกฤษ จีน พร้อมนำสื่อเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ประกอบจนมาถึงปีนี้สาธิต PIM พร้อมเดินหน้ารับนักเรียนมัธยมปลาย เพื่อขยายความรู้เด็กสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

“ดร.สุภาวดี วงษ์สกุล” ที่ปรึกษาโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และผู้อำนวยการหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิตพีไอเอ็ม กล่าวว่า ความจริงแล้วหลักการของโรงเรียนสาธิตในประเทศไทยคือโรงเรียนที่คิดค้นวิธีการเรียนการสอนใหม่ ๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านการศึกษาของประเทศชาติ โดยนักวิชาการสายครุศาสตร์ต้องทำวิจัยแนวทางการเรียนการสอนใหม่ ๆ เพื่อทำการทดลองใช้กับโรงเรียนสาธิต

“เพียงแต่ 10 ปีที่ผ่านมาแนวทางของโรงเรียนสาธิตอาจเปลี่ยนไป เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่ต้องการเน้นเนื้อหาและการท่องจำ เพื่อต้องการชูผลงานที่ได้จากคะแนนสอบ O-NET ของเด็ก ๆ เพื่อเทียบกับโรงเรียนอื่น ๆ ซึ่งผิดหลักการของโรงเรียนสาธิต แต่สาธิต PIM ให้โอกาสนักเรียนเรียนในสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง ควบคู่ไปกับการปลูกฝังทักษะชีวิตที่จำเป็นคือการจัดการ การสื่อสาร และคุณธรรม แต่ไม่ด้อยด้านเนื้อหาวิชาการ ขณะเดียวกัน เราไม่เน้นการท่องจำ เพราะการท่องจำเป็นตัวการที่ทำให้ระดับผลคะแนน PISA ของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง”

“เราจึงใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐานกระทรวงศึกษาธิการ แต่มีจุดเด่นที่แตกต่างคือในรายวิชาพื้นฐาน 3 วิชาหลัก คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ จะเรียนเป็นภาษาอังกฤษกับครูเจ้าของภาษา และเรียนวิชาภาษาจีนที่ถือเป็นภาษาที่ 3 เพราะวิชาเหล่านี้เป็นวิชาสำคัญที่ช่วยให้นักเรียนต่อยอดไปได้หลายสาขา ในส่วนของการเรียนรู้ 3 ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ที่ประเทศไทยและหลายประเทศมุ่งเน้น ได้แก่ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะชีวิตและการทำงาน และทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี เราจัดให้เรียนแต่ละทักษะเป็นเวลา 1 เทอม เพราะเราไม่ได้เน้นท่องจำว่าแต่ละทักษะมีอะไรบ้าง แต่ให้นักเรียนได้นำแต่ละทักษะมาใช้จริงในแต่ละวัน”

“ดร.สุภาวดี” อธิบายต่อว่า สำหรับการเรียนการสอนในระดับ ม.ปลาย ยังคงมีแนวทางเรียน 3 วิชาหลักกับเจ้าของภาษาคล้ายกับของ ม.ต้น แต่มีวิชาเสริมเติมเต็มศักยภาพ Preuniversity เกี่ยวกับ IELTS, SAT, GAT และ PAT เพื่อเตรียมความพร้อมสู่มหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด โดยผู้ชำนาญเฉพาะทางตามสายอาชีพ

“เราเปิดสอน ม.ปลายในปี 2563 แบ่งแผนการเรียนหลัก และรายวิชาเพิ่มเติม 3 แผนการเรียน เน้นเสริมศักยภาพผู้เรียนตามความถนัดคือแผนการเรียน Math-Science, แผนการเรียน Math-English และแผนการเรียนLanguage Arts ตอนนี้อยู่ในกระบวนการสรุปแนวทางการเรียนต่อของเด็ก ๆม.3 โดยเรามีการพูดคุยและแนะแนวการศึกษาต่อทีละครอบครัวเพื่อดูความถนัดของเด็ก และดูว่าแผนการเรียนไหนที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน ถึงตอนนี้มีเด็กชั้น ม.3 ของเราจะเรียนต่อม.4 ที่สาธิต PIM ในปีหน้าราว 60%มีเด็กจากภายนอก 30% และเด็กบางส่วนเลือกไปศึกษาต่อต่างประเทศ”

ขณะที่ “อาจารย์จิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง” ที่ปรึกษาโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศไทย ปี 2560 กล่าวเสริมว่า เราใช้เทคโนโลยีผสมกับ active learning ซึ่ง 2 อย่างนี้ต้องไปด้วยกัน และในขณะเดียวกัน เราดึงแนวทาง work-based learning ของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งเป็น corporate university มาประยุกต์ใช้ด้วย

“ในการเรียนการสอนทุกชั่วโมงนักเรียนจะต้องมีแนวคิดในการสร้างโครงงานใหม่ ๆ และกระบวนในการทำโครงงานจะเชื่อมโยงกับ 8 กลุ่มสาระวิชา แต่หลาย ๆ โรงเรียนมักสอน 8 กลุ่มสาระวิชาให้เด็กแยกกัน ทำให้เด็กไม่สามารถเชื่อมโยง และนำมาใช้ในชีวิตจริงได้ เราจึงให้เด็กของสาธิต PIM ทุกคนเอาตนเองเป็นตัวตั้ง ดูว่าอยากเป็นอะไรในอนาคต และเอา 8 กลุ่มสาระมาเชื่อมโยงกับตัวเอง จากนั้นจึงต่อยอดไปเป็นโครงงานสำหรับจบ ม.3 และ ม.6”

“โดยเด็ก ม.3 เราจะให้เด็กนำศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นตัวตั้งและบูรณาการเข้ากับ 8 กลุ่มสาระ เพื่อทำเป็นโครงงานในการประมวลผลความรู้ทั้งหมด ส่วนการทำโครงงานในระดับ ม.6 เรามุ่งเน้นให้เด็กคิดว่าตัวเองเป็นผู้ประกอบการ และโครงงานที่ทำออกมาต้องตอบโจทย์ลูกค้า โดยโรงเรียนจะมีทีมครูที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาแนะนำเติมเต็ม จากนั้นเด็กของเราต้องได้เรียนรู้การทำ proposal และ pitching เมื่อจบ ม.6 แล้วเขาจะมีพื้นฐานที่สามารถทำสตาร์ตอัพได้”

“ที่สำคัญ แต่ละปีเราจะให้เด็กออกไปดูงาน 4 แห่ง และทัศนศึกษา 1 แห่ง และเมื่อจบปีการศึกษาแต่ละปี เด็กจะได้สังเคราะห์การเรียนรู้ที่ได้จากการดูงานเพื่อค้นพบตัวเองว่าในทุกงานที่ไปดูมาตัวเองสนใจและถนัดทางด้านไหน”

“อาจารย์จิรัฏฐ์” กล่าวถึงครูผู้สอนของสาธิต PIM ว่า เราเน้นครูรุ่นใหม่ แต่ต้องเป็นครูที่มีคุณภาพ ซึ่งเราเชื่อว่าเด็กจะเก่งต้องมีครูที่เก่งวิชานั้น ๆ ตอนนี้เรามีครูทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมกันกว่า 40 คน เรามีการอบรมเตรียมครูก่อนสอนหลายเดือน และสิ่งสำคัญที่สุดคือการเน้นให้ครูทุกคนออกแบบการสอนโดยใช้ iTunes ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับผู้สอนที่ต้องการสร้างหลักสูตร และจัดการบทเรียน และงานมอบหมายบนเว็บ เพราะทำให้การสอนคงเส้นคงวา และผู้ปกครองยังสามารถเช็กได้ว่าบุตรหลานเรียนอะไร หรือชอบอะไร

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ