‘ซี.พี.แลนด์’ เร่งสร้างนิคมฯ ซีพีจีซีหมื่นล้าน กรุงไทยปล่อยกู้ 5 พันล้านร่วมขับเคลื่อน ศก.

(จากซ้ายมือ) คุณ ถัง หนง เฉิน,คุณสุนทร อรุณานนท์ชัย,คุณสุรธันว์ คงทน

ซี.พี.แลนด์ฯ ผนึกพันธมิตรจากจีน ‘กว่างซี คอนสตรัคชั่นฯ’ รัฐวิสาหกิจอันดับ 2 ของเขตปกครองตนเองกว่างซี ประเทศจีน เดินหน้าร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย พัฒนาโครงการนิคมอุตฯซีพีจีซี จ.ระยอง มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท โดยแบงก์กรุงไทยร่วมปล่อยสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท พัฒนาพื้นที่ของนิคมฯ กว่า 3,068 ไร่ มั่นใจทำเลที่ตั้งศักยภาพสูง เชื่อมการส่งออกทั่วโลก

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 บริษัท ซีจี คอร์เปอเรชั่น จำกัด ได้มีพิธีลงนามสัญญากับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับการเป็นธนาคารที่สนับสนุนทางด้านการเงิน ในการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรม ซีพีจีซี ในจังหวัดระยอง สำหรับใช้ในการพัฒนาพื้นที่ของโครงการที่มีขนาดพื้นที่ประมาณ 3,068 ไร่ มูลค่าวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาทภายใต้การร่วมดำเนินงานกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียร์ริ่ง กรุ๊ป ยีอาน บริษัทที่เชี่ยวชาญในการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ และเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ภายใต้เขตปกครองตนเองกว่างซี ร่วมพัฒนาโครงการนิคมฯซีพีจีซี โดยวางเป้าหมายขายพื้นที่หมดภายในปี 2566 มูลค่าโครงการไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

คุณสุนทร อรุณานนท์ชัย

คุณสุนทร อรุณานนท์ชัย ประธานกรรมการ บริษัท ซีจี คอร์เปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเป็นธุรกิจใหม่ที่อยู่ใน 7 ธุรกิจหลักของบริษัท ซี.พี.แลนด์ฯ โดยบริษัทได้ศึกษาและเตรียมความพร้อมในการลงทุนและพัฒนานิคมฯ ซีพีจีซีมากว่า 5 ปี และในวันนี้ทุกอย่างก็พร้อม โดยได้รับสนับสนุนการเงินจากธนาคารกรุงไทยแล้ว ยังได้เดินหน้าโครงการโดยมีการว่าจ้าง บริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป ยีอาน (ประเทศไทย) ผู้รับเหมาหลักในการก่อสร้างโครงการนิคมฯ ซีพีจีซี มีมูลค่าการก่อสร้างราว 2,000 ล้านบาท ทางบริษัท ซีจี คอร์เปอเรชั่น มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งในประสบการณ์การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคใหญ่ๆ รวมทั้งศักยภาพของบริษัท กว่างซีฯ จะสามารถก่อสร้างได้มีประสิทธิภาพและได้รับมาตรฐานสากลและรวดเร็ว เพื่อให้ทันต่อการขยายตัวของการลงทุนจากต่างประเทศที่จะหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยในอนาคต ก่อให้เกิดการลงทุนในนิคมอุตฯ ไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท และเกิดอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 20,000 อัตรา และบริษัทฯ มุ่งมั่นตั้งใจจะพัฒนาและดำเนินการโครงการนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน สังคมและประเทศชาติต่อไป

“ทางนิคมฯ ยังได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย จากคณะกรรมการนโยบายเขตภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งโครงการจะมุ่งเน้นในการสนับสนุนอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ด้วยกลุ่มอุตฯ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ กลุ่มอุตฯ การแพทย์ครบวงจร กลุ่มอุตฯ ยานยนต์สมัยใหม่ กลุ่มอุตฯ ดิจิทัล กลุ่มอุตฯ แปรรูปอาหาร พร้อมขับเคลื่อนและพัฒนาแนวคิด High Technology ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากเป็นศูนย์กลางทางคมนาคม มีอินฟราสตรักเจอร์ที่พร้อมกว่า”

สำหรับบริษัท ซีจี คอร์เปอเรชั่นฯ บริษัทที่ลงทุนพัฒนาโครงการนิคมอุตฯ นั้น ทาง ซี.พี.แลนด์ ถือหุ้น 50% บริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียร์ริ่ง กรุ๊ป ยีอาน ถือหุ้น 48% และบริษัท กว่างซี ยีอาน (ประเทศไทย) จำกัด สัดส่วน 2% ก่อตั้งเมื่อปี 2561 ด้วยทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 2,750 ล้านบาท

การพัฒนาแบ่งเป็นโซน A พื้นที่อุตฯ เนื้อที่กว่า 2,205 ไร่ โซน B พื้นที่พาณิชย์กว่า 112 ไร่ โซน C พื้นที่สีเขียว 309 ไร่ และโซน D พื้นที่สาธารณูปโภค จำนวนกว่า 443 ไร่ ทั้งนี้ ในการก่อสร้างจะแบ่งเป็น 3 เฟสๆ ละ 1,000 ไร่ มูลค่าลงทุนในเฟสแรก 1,000 ล้านบาท เฟสที่ 2 อยู่ที่ 800 ล้านบาท และอีก 500 ล้านบาทในเฟสที่ 3


จีนหวังเปิดตลาดระหว่างประเทศสู่สากล

คุณถัง หนง เฉิน ประธานบริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียร์ริ่ง กรุ๊ป ยีอาน กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของเราเป็นตามหลักเรื่องความทันสมัย คุณภาพสูง และผลิตงานออกมาได้ดี และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลจีน ที่ว่า หนึ่งเขตหนึ่งเส้นทางและแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 โดยก่อสร้างนิคมฯ ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย มุ่งเน้นการตลาด การวางตำแหน่งที่แม่นยำ การวางแผนที่ดี และการเชื่อมต่อที่แม่นยำ เพื่อเปิดตลาดระหว่างประเทศให้บริษัทจีน ก้าวไปสู่ความเป็นสากลอย่างมั่นคง ปรับปรุงความสามารถในการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง และขยายความร่วมมือด้านนวัตกรรมจีน-ไทยอย่างต่อเนื่อง มุ่งมั่นที่จะสร้างนิคมอุตฯ ซีพีจีซี ให้เป็นที่ต้องการที่สำคัญสำหรับบริษัทในการลงทุนในประเทศไทย


กรุงไทยพร้อมปล่อยกู้ต่อเนื่อง

คุณสุรธันว์ คงทน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสายงานธุรกิจขนาดใหญ่ 2 จากธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารพร้อมร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจกับภาคธุรกิจ โดยโครงการนิคมฯ อุตฯ ซีพีจีซี มีศักยภาพทั้งในเรื่อง 1. ทำเลที่ตั้ง อยู่ในพื้นที่ EEC มีระบบโครงข่ายคมนาคมรองรับภาคอุตสาหกรรม 2.มีพันธมิตรที่แข็งแกร่งทั้งจากบริษัท ซี.พี.แลนด์ฯ และบริษัทกว่างซีฯ จากประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารฯ พร้อมสนับสนุนความร่วมมือต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า สร้างสถานีดูแลระบบน้ำภายในนิคมฯ เป็นต้น