เปิดตัว คุณธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน

บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จํากัด ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นคู่สัญญาการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ดำเนินโครงการรถไฟความเร็งสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่ได้ลงนามไปเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562

เครือเจริญโภคภัณฑ์ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้แต่งตั้ง คุณธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทฯ คนแรก เพื่อทำงานร่วมกับ คุณโป หง ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทฯ เพื่อมาร่วมผลักดันงานช่วงแรกที่เน้นการก่อสร้างและการระดมทุน
สำหรับช่วงที่ผ่านมาคุณธิติฏฐ์ รับผิดชอบงานในกลุ่มทรู เช่น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น บริษัทเอเซียอินโฟเน็ท บริษัททรู ดิจิตอล เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ บริษัททรู อินเทอร์เน็ต เกตเวย์ บริษัททรู ยูนิเวอร์แซล คอนเวอร์เจ้นซ์

“ผมผ่านงานสัมปทานโทรคมนาคมมาหลายโครงการ คราวนี้ลองมาทำงานสัมปทานที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง”คุณธิติฏฐ์ กล่าว

คุณธิติฏฐ์ กล่าวว่า บริษัทรถไฟความเร็วสูงฯ ต้องการจะเริ่มงานในปี 2563 โดยเงื่อนไขความสำเร็จของโครงการรถไฟความเร็วสูงอยู่ที่การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำงานร่วมกับส่วนราชการ 21 แห่ง และรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง เพื่อสรุปข้อมูลว่ามีระบบสาธารูปโภคใดที่ต้องย้ายออก ซึ่งจุดที่ยากที่สุด คือ ท่อน้ำมัน

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวจะมีคณะกรรมการ 2 ชุด ที่มาพิจารณา คือ 1.คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) 2.คณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบที่ดินและสาธารณูปโภคที่มีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน โดยบริษัทฯ ได้ส่งแผนการใช้พื้นที่และจุดที่ต้องรื้อย้ายสาธารณูปโภคให้ภาครัฐไปแล้วเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา

“ผมเห็นการแอคทีฟของหน่วยงานรัฐ และถ้าหน่วยงานร่วมแรงร่วมใจกันจะทำให้การส่งมอบเป็นไปตามแผนได้ และถ้าโชคดีคาดว่าปลายปี 2563 บริษัทฯ จะเริ่มทำงานได้ แค่นี้ถือว่าเร่งมากแล้ว แต่เงื่อนไขสำคัญอยู่ที่การส่งมอบพื้นที่ ซึ่งบริษัทฯ ได้ลงไซต์งานทุกวันกับ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ไอทีดี)”

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจจุดที่จะวางรางและเตรียมข้อมูลสำหรับการหารือกับภาครัฐในการย้ายสาธารณูปโภค ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เตรียมงานบางส่วนแล้วจึงเชื่อว่าจะทันตามกำหนด ซึ่งส่วนที่จะเริ่มก่อสร้างได้ก่อนจะเป็นช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ส่วนช่วงพญาไท-ดอนเมือง จะใช้เวลาในการดำเนินงานมากกว่า

ห่วงช่วงพญาไท-ดอนเมือง
นอกจากนี้ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอศรีราชา อำเภอบางละมุง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ได้มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งบริษัทฯ จะวางแผนการก่อสร้างให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดให้เวนคืน โดยไม่ต้องการให้มีการประกาศพื้นที่เวนคืนเพิ่มเพราะชุมชนจะเดือนร้อน

รวมทั้งเมื่อมีการส่งมอบพื้นที่แล้วจะต้องมาพิจารณาการดำเนินงานส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจมีผลทำให้แบบก่อสร้างมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมในบางจุด เช่น เส้นทางช่วงเข้าสนามบินอู่ตะเภาและสุวรรณภูมิ

“ช่วงการก่อสร้างมีจุดที่กังวล คือ พื้นที่ก่อสร้างบางจุดที่อยู่ใกล้ประชาชนมากเกินไป ไม่ว่าเราจะถูกหรือผิดก็เป็นเรื่องน่ากังวล โดยเฉพาะช่วงพญาไท-ดอนเมือง ที่อยู่ใกล้กับประชาชน”

คุณธิติฏฐ์ กล่าวถึงการเข้าไปพัฒนาโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ว่า ประธานธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้กำชับว่าเมื่อซีพีจะเข้าไปดำเนินการใดแล้วจะต้องทำให้ประชาชนเห็นว่าดี และทุกอย่างต้องดีขึ้น รวมทั้งคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ มอบนโยบายให้เข้าไปเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์เร็วที่สุด

สำหรับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เป็นส่วนหนึ่งของรถไฟความเร็วสูงเร็ว และในสัญญาการร่วมลงทุนกำหนดให้บริษัทฯ ต้องชำระค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรลลิงก์ 10,671 ล้านบาท ภายใน 2 ปี จึงจะมีสิทธิเข้าไปดำเนินการ

ทั้งนี้ หลังการลงนามร่วมลงทุนกับ ร.ฟ.ท. 2 เดือน บริษัทฯ ได้ทำแผนความต่อเนื่องธุรกิจและการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งกำลังประเมินงบประมาณที่จะใช้เตรียมการก่อนบริษัทฯ เข้าไปเดินรถ โดยการเข้าไปเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้าไปดำเนินงาน และจะต้องมีการดำเนินการอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ 1.การเพิ่มจำนวนรถไฟฟ้าให้เพียงพอ 2.การเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณ เพื่อให้สอดคล้องกับระบบที่จะใช้กับรถไฟความเร็วสูง

ระดมทีมออกแบบมักกะสัน
การดำเนินงานในส่วนการเดินรถไฟความเร็วสูงในหลายประเทศจะไม่มีกำไร แต่การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน หรือ Transit Oriented Development (TOD) จะเป็นส่วนที่ทำกำไร เช่น รถไฟความเร็วสูงเส้นทางโตเกียว-โอซาก้า รถไฟความเร็วสูงเส้นทางปารีส-ลียง รวมถึงรถไฟความเร็วสูงในจีนที่มีการพัฒนา TOD เพื่อสร้างชุมชนและพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ขึ้นมา ซึ่งทำให้รถไฟความเร็วสูงเป็นตัวขยายเมือง เช่น จ.ฉะเชิงเทราที่ขยายตัวต่อเนื่องจากกรุงเทพฯ

สำหรับการพัฒนา TOD สำคัญตามสัญญาร่วมลงทุนมี 2 จุด คือ 1.พื้นที่ศรีราชา 25 ไร่ 2.พื้นที่มักกะสัน 150 ไร่ ซึ่งบริษัทแมกโนเลียควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะเป็นผู้ออกแบบการพัฒนา 100% รวมทั้งบริษัทฯ ได้เริ่มเข้าไปสำรวจพื้นที่แล้ว และมีที่ปรึกษาเพื่อวางแผนการพัฒนาพื้นที่ให้ชุมชนได้ประโยชน์จากการพัฒนา โดยขณะนี้กำลังวางรูปแบบการพัฒนาและกำหนดโครงสร้างผู้จะเข้ามาร่วมพัฒนาพื้นที่มักกะสัน

รวมทั้ง จะนำระบบการเช็คอินสายการบินกลับมาใช้ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้โดยสาร หลังจากที่ก่อนหน้านี้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ได้ออกแบบสำหรับให้สายการบินเปิดเช็คอินได้ แต่ต่อมาได้ถูกยกเลิก

ไม่หวั่นพลาดประมูลอู่ตะเภา
สำหรับการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ได้ประกาศชื่อผู้ยื่นข้อเสนอสูงสุดแล้ว คือ กิจการร่วมค้าบีบีเอส โดยบริษัทฯ เห็นว่าไม่ว่าใครจะเป็นผู้ประมูลได้ก็ถือว่ามีประโยชน์

“หากเราประมูลอู่ตะเภาได้ก็ดี แต่ผมก็มองโลกในแง่ดีว่าหากอีกกลุ่มประมูลได้ก็คงพยายามให้มีผู้โดยสารผ่านสนามบินอู่ตะเภาเพิ่มมากขึ้น จะเป็นลักษณะที่เราต้องพึ่งพาเขา และเขาก็ต้องพึ่งพาเรา”

ทั้งนี้ เมื่อการบริหารรถไฟความเร็วสูงจะไม่มีกำไร แต่บริษัทฯ ต้องพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้ได้ ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีโมเดลการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงแต่ละจุดออกมา โดยมั่นว่าที่ผ่านมาได้ศึกษาข้อมูลมาดีแล้ว

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ