คณะทำงานโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศลุ่มน้ำป่าสักเขาพระยาเดินธงส่งเสริมชาวบ้านอยู่ร่วมดูแลป่าอย่างยั่งยืน

สืบเนื่องจากโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จังหวัดลพบุรีได้ดำเนินการฟื้นฟูปลูกป่าในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง มาอย่างต่อเนื่องทุกปีจนสภาพป่าที่เคยเป็นป่าเสื่อมโทรมกลับกลายเป็นป่าที่เริ่มฟื้นตัว โดยพันธุ์ไม้ที่โครงการได้ปลูกและดูแลเริ่มเติบโตเป็นไม้ใหญ่ ระบบนิเวศเริ่มกลับมา ทั้งนี้มีการสำรวจพบสัตว์ป่าและนกหลายชนิด

และนอกจากการฟื้นฟูปลูกป่าแล้วทางโครงการฯยังมีแนวทางสนับสนุนส่งเสริมชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธงได้มีการปลูกผักพื้นบ้านปลอดสารไว้บริโภคหรือ แจก หากมีผลผลิตเหลือก็นำไปจำหน่าย โดยมีสมาชิกนำร่อง 24 ราย ครอบคลุม 5 หมู่บ้าน โดยร่วมมือกับเกษตรอำเภอ วิทยาลัยเกษตร โดยเมื่อปีที่ผ่านมาโครงการฯได้ให้ความรู้ พาไปดูงาน และเริ่มปลูกเมื่อช่วงปลายปี และเริ่มเก็บผลผลิตได้

ทั้งนี้โครงการมีแนวทางปลูกป่าให้ได้ป่า และให้ชาวบ้านมีอาหารการกินจากในพื้นที่ป่าเพื่อให้ชุมชนร่วมดูแลป่าอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือสร้างแหล่งอาหารให้ชุมชน และทำธนาคารเมล็ดพันธุ์ไว้ขยายต่อไป

สำหรับการทำแหล่งอาหารให้ชุมชน ขณะนี้ให้ชุมชนปลูกผักปลอดสาร และกำลังจะปล่อยปลาลงเขื่อน และแหล่งน้ำสาธารณะ โดยอนุบาลลูกปลาให้แข็งแรงก่อนปล่อยเพื่อให้เติบโตเป็นแหล่งอาหารโปรตีนของชุมชน และในอนาคต ชุมชนทั้ง 2 กลุ่ม โครงการฯจะพัฒนาให้เป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อให้สามารถช่วยตนเองได้ โดยโครงการคาดหวังว่าโครงการจะทำให้ป่ามีคนร่วมดูแลอย่างยั่งยืน และชุมชนมีแหล่งอาหารอย่างมั่นคง

“รวบ ชัยวัติ ” ผู้ใหญ่บ้านห้วยบง วัย 54 ปี อาศัยอยู่ ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี มานานกว่า 20 ปี และเข้าร่วมกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าเกือบทุกครั้ง เล่าให้ฟังว่า “สภาพป่าแห่งนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เป็นป่าที่แห้งแล้งมาก มองไปเห็นแต่โขดหิน เครือเถาวัลย์

และหนามสนิมขึ้นเต็มไปหมด หน้าแล้งก็มีไฟไหม้ป่าตลอด เพราะอากาศร้อนและแห้งมาก ผิดกับสภาพป่าตอนนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปผิดหูผิดตาไปเยอะ ต้นไม้ใหญ่เล็กขึ้นเต็มพื้นที่ แต่หลังจากที่กรมป่าไม้ และ CPF เข้ามาฟื้นฟู ผมได้ระดมชาวบ้านไปช่วยปลูกป่าตลอด

ดีใจที่วันนี้เราได้ป่ากลับคืนมาอีกครั้ง ชาวบ้านได้อาศัยผืนป่าเป็นแหล่งอาหาร เข้าไปเก็บเห็ด เก็บหน่อไม้เพื่อนำมาบริโภค ผมก็หวังว่า อีก 10-20 ปีข้างหน้า ถ้าชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษาป่า จะช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดิน ฝนตกตามฤดูกาล ต้องขอบคุณจริงๆ”