คุณนพปฎล CEO ด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้แทนเครือฯ ร่วมประชุม World Economic Forum 2020 ที่เมืองดาวอส

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา คุณนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนเครือฯ เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี ค.ศ. 2020 ที่เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส

โดยคุณนพปฎล ได้เข้าร่วมการเสวนาเกี่ยวกับ 1. Building an Appetite for Food Innovation ซึ่งเปิดให้ผู้บริหารระดับสูงได้ระดมสมองเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์สูงสุดจากนวัตกรรมด้านเกษตรอาหาร ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ คุณ Qu Dongyu, Director-General องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คุณ Noel White, President and Chief Executive Officer ของ Tyson Foods คุณ Jane Nelson ผู้อำนวยการโครงการ Corporate Responsibility Initiative มหาวิทยาลัย Harvard คุณพรศรี ตรีวิศวเวทย์ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการ บริษัท Inari จำกัด ทั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจจากการหารือ เช่น การพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่ช่วยให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนสูงสุด

2. Feeding the Planet for the Future ที่หาลู่ทางผลิตอาหารให้พอกับความต้องการของโลกที่จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 35 ภายในปี ค.ศ. 2030 อาทิ การวัดคุณค่าโภชนาการของอาหารแทนการนับเฉพาะการให้พลังงานหรือแคลอรี่ การใช้กลไกทางการเงินและการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การเตรียมประเด็นการหารือสำหรับการประชุม World Food Summit ในปี ค.ศ. 2021

การประชุม WEF ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 50 มีผู้เข้าร่วมกว่า 3,000 คน มีผู้นำประเทศต่างๆกว่า 60 คน ผู้แทนระดับ CEO ของบริษัทชั้นนำของโลกกว่า 600 คน และจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมกว่า 300 บริษัท โดยมีหัวข้อหลักของการประชุม คือ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เนื่องจาก WEF ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงที่ผ่านมา ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เริ่มแตกแยกทั้งในแง่ข้อคิดเห็นและกระบวนการทำงานกันมากขึ้น นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ทั่วโลก

WEF ในฐานะองค์การระหว่างประเทศที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงเห็นความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือนี้ในด้านต่างๆ ได้แก่ ระบบนิเวศวิทยา เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและรักษาสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม เพื่อลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดสังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ เทคโนโลยี เพื่อกำกับดูแลเทคโนโลยีในสมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 อุตสาหกรรม เพื่อเปลี่ยนกลไกตลาดสู่ระบบทุนนิยมที่เน้นการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนและเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม ภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อใช้ระบบเศรษฐกิจผสานให้โลกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน