คุณนพปฎลประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร เครือซีพี เข้าร่วมงาน “From ESG to SDGs: Integrating SDGs Impact Measurement and Management Framework in Business and Investment Strategies”

โดยมีผู้แทนเครือซีพีร่วมเสวนาหัวข้อ “จาก ESG สู่ SDGs : ทำไมจึงสำคัญ” ตอกย้ำความมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

คุณนพปฏล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กรเครือเจริญโภคภัณฑ์ และตัวแทนผู้บริหารในเครือฯ เข้าร่วมงานสัมมนา “From ESG to SDGs: Integrating SDGs Impact Measurement and Management Framework in Business and Investment Strategies” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ณ ห้องแกรนด์ ฮอลล์ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก โดยมี ดร.ชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน

ทั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก Ms.Kanni Wignaraja ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้ช่วยผู้บริหารและผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิกของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) คุณรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคุณสุนันทา เตียสุวรรณ์ อุปนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ร่วมกล่าวต้อนรับ โดยภายในงานมีผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการศึกษาและภาคประชาสังคม เข้าร่วมกว่า 300 คน

Ms.Kanni กล่าวว่า เวทีนี้เป็นการสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนในการสนับสนุนให้โรดแมป SDGs ไปสู่เป้าหมายให้ได้ และคาดหวังจะเห็นความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมทั้งเรื่องการศึกษา อาชีพ การเข้าถึงทางเทคโนโลยี การแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทตามเป้าหมาย ขณะเดียวกันมีความหวังที่ภาคเอกชนจะเข้ามาใช้ศักยภาพของตัวเองในการช่วยเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจ การลงทุนเพื่อสังคมในอนาคต

ขณะที่ คุณสุนันทา กล่าวว่า ขณะนี้องค์กรธุรกิจให้ความสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น หลายบริษัทชั้นนำของไทยดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังโดยบรรจุไว้ในวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์บริษัทอย่างชัดเจน มีการนำองค์ความรู้มาบูรณาการแนวคิดใช้ในภาคธุรกิจเพื่อนำมาสู่ความยั่งยืนไปยังท้องถิ่น ชุมชน โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กฯ ตระหนักถึงความมุ่งมั่นที่สมาคมฯจะดำเนินกิจกรรมเพื่อเร่งสร้างความเข้าใจเรื่องการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย โดยจะร่วมสนับสนุนและทำการอบรมให้ภาคเอกชนวางกลยุทธ์ธุรกิจที่สอดคล้องกับ SDGs โดยครอบคลุม 4 เรื่องสำคัญ คือ

1.สิทธิมนุษยชน 2.มาตรฐานแรงงาน 3.ปกป้องสิ่งแวดล้อม 4.การต่อต้านคอร์รัปชั่น ทั้งยังตั้งเป้าขยายเครือข่ายเพื่อความร่วมมือกับภาคธุรกิจที่เข้มแข็ง

นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องมือตัวชี้วัดที่ช่วยตอบสนองความต้องการทางธุรกิจได้ชัดขึ้น โดยขณะนี้สมาคมฯ ซึ่งประกอบด้วย สมาชิกและบริษัทธุรกิจเอกชน สามารถผสมผสาน SDGs เข้ากับโมเดลธุรกิจได้ โดยมีแพลทฟอร์ม Business Call to Action Impact Lab มาใช้เป็นตัวชี้วัดวัดผลกระทบต่อการดำเนินงานธุรกิจเพื่อสังคมขององค์กร ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อผู้มีรายได้น้อยหรือธุรกิจที่ต้องการวางยุทธศาสตร์ SDGs โดยแพลทฟอร์มนี้จะประเมินระดับความพร้อมของบริษัทในการบูรณาการนำ SDGs มาผนวกเป็นกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ

ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวบรรยายเรื่อง “บทบาทของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของภาคเอกชนที่ต้องเข้ามามีบทบาทเรื่อง SDGs และรัฐบาลกับเอกชนจะเดินหน้าและสนับสนุนซึ่งกันและกันผ่านการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและชนบท เพื่อแก้ภาวะหนี้สูง และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ขณะที่รัฐบาลได้เริ่มพัฒนาแนวทาง Strength from the bottom ทำให้ชนบทและรากหญ้าแข็งแกร่ง โดยการสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทสำคัญ และรัฐบาลช่วยสนับสนุนให้ดำเนินการได้มีประสิทธิภาพ เช่น การปลดล็อคข้อจำกัดทางกฎหมายต่างๆ โดยมั่นใจว่าโมเดลที่ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยขับเคลื่อนโครงการต่างๆร่วมกับชุมชนจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง เพราะมั่นใจในศักยภาพของเอกชนที่จะทำให้เกิดอิมแพคกับสังคมและประเทศในการผลักดันประเด็นด้านความยั่งยืน ซึ่งขณะนี้มาถูกทางแล้ว ถ้าทำได้สำเร็จประเทศไทยจะเป็นประเทศที่สร้างโมเดลความสมดุลย์ในการพัฒนาอย่างแท้จริง หรือที่เรียกว่า Business Alliance for SDGs

โอกาสนี้ ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร ผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ร่วมเสวนาหัวข้อ “จาก ESG สู่ SDGs : ทำไมจึงสำคัญ” ซึ่งมีผู้แทนจากภาครัฐ ก.ล.ต. ภาคการเงินธนาคาร และองค์กรธุรกิจเอกชนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินนโยบายองค์กรที่ปรับแผนธุรกิจเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย SDGs โดย ดร.เนติธร กล่าวในวงเสวนาว่า เครือซีพีได้นำเรื่อง ESG และ SDGs บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์เรื่องความยั่งยืนของเครือ โดยธุรกิจในเครือฯใน 22 ประเทศทั่วโลกจะต้องเปิดเผยผลการดำเนินงานด้านธรรมาภิบาล และต้องตรวจสอบรอบด้านได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งยังวางการดำเนินธุรกิจของเครือฯกับแผน SDGs 17 ข้อ โดยที่ผ่านมา เครือฯได้ดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเป็นระบบกับบริษัทในเครือกว่า 200 บริษัทใน 22 ประเทศเพื่อให้เข้าใจและดำเนินทิศทางทางธุรกิจที่สอดคล้องกับ SDGs 17 ข้อ ไปได้อย่างพร้อมกัน ทั้งนี้ สิ่งที่เราต้องพัฒนาเพิ่มขึ้นคือ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ยังมีความท้าทาย โดยเฉพาะในประเด็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกลุ่มธุรกิจของเครือทั่วโลก

ดร.เนติธร ยังกล่าวว่า ขณะนี้บริษัทต่างๆให้ความสำคัญที่จะดำเนินการตามเป้าหมายในเรื่อง SDGs ซึ่งการจะถึงเป้าหมายได้นั้นบริษัทและธุรกิจขนาดใหญ่ต่างๆจะต้องให้ความสำคัญกับบริษัทขนาดเล็กที่อยู่ในระบบซัพพลายเชนด้วย อาทิ จะต้องแบ่งปันความรู้ด้านความยั่งยืนให้ รวมทั้งช่วยธุรกิจขนาดเล็กที่เป็นซัพพลายเชนให้ได้สร้างการเปลี่ยนผ่านให้เข้าสู่ SDGs ได้สำเร็จไปกับองค์กรใหญ่ด้วย นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงตัวชี้วัดและการวัดผลจากสิ่งที่องค์กรธุรกิจได้ดำเนินไปเกี่ยวกับความยั่งยืนด้วย โดยต้องมีตัวชี้วัดที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดเพื่อจะได้ประเมินให้รู้แน่ชัดว่าการจะบรรลุเป้าหมายทั้ง 17 ข้อของ SDGs นั้น ยังต้องมีการใช้งบประมาณหรือทรัพยากรที่ต้องใช้ให้บรรลุเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนเท่าไรบ้างในระดับประเทศ ธุรกิจ และชุมชน ซึ่งซีพีพร้อมมีส่วนร่วมในการระดมสมองในเรื่องการวางระบบประเมินผลนี้

สำหรับการจัดงานสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นการรวมพลังของเครือข่ายภาคีภาครัฐและเอกชน ในการมุ่งมั่นสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของภาคธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ( SDGs )ขององค์การสหประชาชาติ ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยนแนะนำแนวทางในการวัดผลและจัดการกับผลกระทบที่มีต่อการบรรลุ SDGs และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศอีกด้วย

Cr:Pr CPG