โควิด-19 กับพฤติกรรม “New Normal” มาตรฐานวิถีชีวิตใหม่ในวันนี้และตลอดไป

ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพแวดล้อม โรคอุบัติใหม่ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างฉับพลัน หลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่า “New Normal” กันมาบ้างแล้ว รู้หรือไม่ว่า? คำนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว วันนี้เราไปหาคำตอบว่าความหมายของ “New Normal” ในอดีตกับปัจจุบัน และการเรียนรู้วิถีชีวิตปกติรูปแบบใหม่เพื่อป้องกันตนเองและผู้อื่น

New Normal กับวิถีชีวิตหลังโควิด-19

We are CP จะพาไปเรียนรู้ “New Normal” กับ นพ. รุจาพงศ์ สุขบท ซึ่งได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของคำๆ นี้ในอดีตว่า

“สมัยก่อน New Normal เขาใช้กับสภาวะเศรษฐกิจ ซี่งมีมานานหลายปีแล้ว ตั้งแต่สมัยวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เมื่อปี 2007 ยุคนั้นเศรษฐกิจโลกขยายและเติบโตอย่างรวดเร็ว จนเกิดวิกฤตทำให้ทุกอย่างช้าลง ทุกอย่างเปลี่ยน เศรษฐกิจกลับมาโตใหม่เป็นวัฏจักร ซึ่งวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในอเมริกา แก้ไขด้วยการนำเงินมาใช้เยอะจนกลายเป็นหนี้ เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจกลับมาเหมือนเดิม จนเกิดคำว่า “New Normal” แต่ก็ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจกลับมาเหมือนเดิม จากที่เคยมี GDP 10 กว่า% กลับมาอยู่ที่ต่ำกว่า 7% ซึ่งไม่ดีเหมือนที่เคยเป็น”

อย่างไรก็ตาม วิกฤตโควิด-19 มีผลด้านเศรษฐกิจ สังคม พฤติกรรม คำว่า New Normal จึงไม่ใช่คำที่เขาพูดถึงกันเหมือนเมื่อสมัยก่อน ขณะนี้มีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ New Normal จึงจะเป็นทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ วิถีชีวิตของคน การจับจ่ายใช้สอย การบริโภค การไปทำงาน การใช้บริการขนส่งสารธารณะ การเดินทาง การท่องเที่ยว แม้กระทั่งการเข้าไปใช้ในสถานรักษาพยาบาล New Normal หลังโควิด-19 มีผลกับทุกคนไม่ใช่เฉพาะธุรกิจ สถาบันการเงิน ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ แต่วิถีชีวิตของคนที่จะต้องเปลี่ยนไป

แม้สถานการณ์ดีขึ้ แต่ยังต้องคงมาตรการเดิม
สิ่งที่ต้องทำในยุค New Normal ของวันนี้ ก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ที่จะการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เพื่อลดผลกระทบอื่นๆ ที่จะตามมาเป็นลูกโซ่

“กลับไปที่ปัญหาตอนแรกที่มีคนไข้เยอะ แต่ละวันมีคนเป็นร้อยถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด-19 คนที่ยังไม่ติดก็จะระวังตัว มีการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือให้ถูกต้อง ไม่เอามือไปสัมผัสบริเวณใบหน้า มีระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ใช้ชีวิตในพื้นที่ส่วนรวม มีระยะห่างประมาณ 2 เมตร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญและจะเป็นมาตรฐานในการดำเนินชีวิตของเราไปอีกนาน หรืออาจเป็นพฤติกรรมที่ต้องทำตลอดไป เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ไม่เฉพาะโควิด-19”

และในช่วงที่กำลังอยู่ระหว่างการคลายล็อก หลายๆ ธุรกิจกลับมาเปิดให้บริการ พนักงานกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่า การแพร่ระบาดจะกลับมาอีกครั้งหรือไม่ นพ. รุจาพงศ์ กล่าวว่า

“ช่วงที่รัฐบาลมีการคลายล็อก พนักงานทะยอยกลับเข้ามาทำงาน บริษัทยังต้องคงนโยบายเดิมที่ทำมาตั้งแต่ช่วงที่มีการระบาด ป้องกันตนเองไม่ให้รับและแพร่เชื้อให้คนอื่น การที่จะต้องใส่หน้ากากอนามัยมาที่ทำงาน ในระหว่างทำงาน การล้างมือ เวลาจับสัมผัสพื้นที่ต่างๆ ในออฟฟิศ พื้นที่ใช้ร่วมกัน สิ่งของที่ใช้ร่วมกัน การวัดอุณหภูมิก่อนเข้าที่ทำงาน การสังเกตอาการ ว่ามีอาการไม่สบาย เจ็บป่วย หรือคนที่บ้านที่มีอาการเจ็บป่วย ต้องรายงานหัวหน้าหน่วยงาน การแยกตนเองออกจากผู้อื่น และควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยต่อไป”

“ที่สำคัญ พนักงานที่ไม่ได้เดินทางด้วยพาหนะส่วนตัว ใช้ระบบขนส่งสาธารณะต้องดูว่า นโยบายของการขนส่งสาธารณะนั้นๆ ใช้มากน้อยแค่ไหน มีการเว้นระยะห่างหรือไม่ ต้องระวัง แม้กระทั่งห้องน้ำ ลิฟท์สาธารณะ ในอาคารที่ทำงาน เป็นสิ่งที่เราต้องปฏิบัติต่อไป”

สถานการณ์ตอนนี้ยังประมาทไม่ได้
นพ. รุจาพงศ์ ให้ความเห็นว่า แม้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยจะควบคุมได้ดี พบผู้ป่วยใหม่น้อยหรือไม่พบเลยในบางวัน ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดการระบาดระลอก 2 ซึ่งอาจจะเกิดหลังจากที่เริ่มผ่อนปรนทุกอย่าง แล้วละเลยการป้องกันตนเอง ไม่ใส่หน้ากากอนามัย ไม่ล้างมือ เพราะจะมีกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีใครทราบว่าอาจเป็นพาหะ และมีเชื้ออยู่มากหรือน้อยทั้งในประเทศไทย หรือแม้กระทั่งต่างประเทศ ซึ่งคนกลุ่มนี้สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้เหมือนกัน หากเรายังปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันเหมือนเดิม ก็จะช่วยยับยั้งการระบาดได้

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนไข้จากต่างประเทศ ในประเทศไทยซึ่งเราควบคุมการระบาดได้ดี และยังมี คนไทยที่อยู่ต่างประเทศก็อยากกลับเข้ามาประเทศไทย หรือคนต่างชาติเองที่ต้องการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลว่า จะมีนโยบายกักกันเขานานแค่ไหน และมีมาตรการอย่างไร เพื่อป้องกันการนำเชื้อเข้ามาแพร่ในประเทศ

วิถีชีวิตเปลี่ยน คนเปลี่ยน หลังโควิด-19
นพ. รุจาพงศ์ ยังบอกอีกว่า New Normal จากโควิด-19 กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกภาคส่วน ด้านการแพทย์มีการนำเทคโนโลยี Telemedicine เข้ามาใช้ในการรักษาพยาบาลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ช่วงที่พนักงน Work from home ก็ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย และยังพบอีกว่า การทำงานที่บ้านไม่ได้ลด Productivity แต่สามารถลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเช่าสถานที่ทำงานได้ ซึ่งเชื่อว่าอาจมีหลายกลุ่มที่เปลี่ยนไปทำงานที่บ้าน

สำหรับ คนไข้เอง ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล อาจจะใช้ Telemedicine เป็นตัวเชื่อมระหว่างแพทย์ พยาบาล และคนไข้ ในการดูผล Lab วัดความดัน การเต้นของหัวใจ ซึ่งคนไข้สามารถทำเองได้ และมีการบันทึกข้อมูล มีเครื่องมือที่มีคุณภาพที่ดีขึ้นในการประเมินสมรรถนะร่างกายคนไข้

“อนาคตอาจจะมีการนำเทคโนโลยีไปฟังเสียงหัวใจ ปอด ผ่าน Telemedicine ผมคิดว่า อีกไม่กี่เดือนน่าจะมีการนำเข้ามาเพื่อรองรับความต้องการ นี่จะเป็น New Normal เหมือนกันด้านการแพทย์ มีการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบโรงพยาบาล การส่งยา การเจาะเลือด การเรียกเก็บเงิน หรือแม้กระทั่งระบบประกันสุขภาพที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไป” นพ. รุจาพงศ์ กล่าว