ทั่วโลกส่งสัญญาณ ภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ (Climate Crisis) กับทางแก้ที่ต้องทำเพื่อโลกก่อนเกิดหายนะ

เมื่อเร็วๆ นี้ บรรดานักวิทยาศาตร์กว่า 11,000 คนจาก 153 ประเทศทั่วโลก ร่วมลงนามสนับสนุนรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกฉบับล่าสุด พร้อมทั้งออกแถลงการณ์ประกาศ ‘ภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ’ (Climate emergency)”
รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกฉบับดังกล่าว ตีพิมพ์ในวารสาร Bioscience ซึ่งได้รายงานข้อมูลการวิจัยที่รวบรวมมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี ครอบคลุมตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมที่กว้างขวางและหลากหลาย ตั้งแต่อัตราการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ปริมาณการบริโภคเนื้อ อัตราการเจริญพันธุ์และการเติบโตของประชากรโลก อัตราการแผ้วถางป่าและตัดไม้ทำลายป่า ระดับอุณหภูมิพื้นผิวโลก อัตราการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ไปจนถึงตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากความแปรปรวนของสภาพอากาศอย่างสุดขั้ว

ทันที่ที่รายงานชินนี้เผยแพร่ออกมาThe Guardian สื่อทรงอิทธิพลของอังกฤษ หยิบข้อมูลนี้ขึ้นมาเผย โดยเจตนาใช้คำว่า Climate Crisis แทนที่คำว่า Climate Change เพื่อหวังสะท้อนหายนะของโลกที่กำลังเกิดขึ้น และต้องการให้คนทั่วโลกตระหนัก พร้อมลงมือแก้ไขอย่างจริงจังทันที แต่ในความเป็นจริง ยังคงมีประชากรในสังคมโลกไม่น้อย ที่มองว่าวิกฤตภูมิอากาศโลกเป็นแค่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว

สุขภาวะโลกอาการน่าเป็นห่วง
ก่อนหน้านี้ กรีนพีช องค์กร NGO ระดับโลก ออกโรงเตือนพร้อมอัพเดทข้อเท็จจริง และสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทั่วทุกภูมิภาคบนโลก โดยเริ่มต้นจากอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นเล็กน้องจนถึงปานกลาง ดังนี้
•ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากธารน้ำแข็งที่กำลังละลาย และอุณหภูมิทั่วโลกที่กำลังสูงขึ้นจากการขยายตัวของความร้อนของน้ำในมหาสมุทร
•ก๊าซเรือนกระจก ถูกปล่อยออกมามหาศาล จากชั้นดินเยือกแข็งและป่าที่กำลังตาย
•มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดสภาพอากาศรุนแรง เช่น คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง น้ำท่วม ซึ่งในปัจจุบัน ความแห้งแล้งทั่วโลกได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 30 ปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่า
•ผลกระทบรุนแรงในระดับภูมิภาค เช่น ยุโรป จะเกิดน้ำท่วมจากแม่น้ำเพิ่มขึ้นในพื้นที่ส่วนมากของทวีป และตามพื้นที่ชายฝั่งจะเสี่ยงต่อน้ำท่วม การกัดเซาะ และการสูญเสียพื้นที่ในทะเลเพิ่มขึ้นอย่างมาก
•ระบบทางธรรมชาติ ซึ่งได้แก่ ธารน้ำแข็ง, ปะการัง, ป่าชายเลน, ระบบนิเวศของทวีปอาร์กติก, ระบบนิเวศของเทือกเขาสูง, ป่าสนแถบหนาว, ป่าเขตร้อน เขตลุ่มน้ำในทุ่งหญ้า และเขตทุ่งหญ้าในท้องถิ่น จะถูกคุกคามอย่างรุนแรง
•สัตว์สายพันธุ์ต่างๆ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากขึ้น และเกิดความสูญเสียด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
•ผลกระทบที่รุนแรงกว่าจะตกอยู่กับประเทศยากจน ได้แก่ ประเทศที่กำลังพัฒนาของทวีปแอฟริกา เอเชีย และมหาสมุทรแปซิฟิก ที่มีความสามารถน้อยที่สุดในการป้องกันตนเองจากระดับทะเลที่สูงขึ้น การแพร่กระจายของเชื้อโรค และผลผลิตภาคเกษตรที่ต่ำลง
•ภาวะโลกร้อนทุกระดับจะทำให้ประเทศที่กำลังพัฒนาประสบกับความทุกข์ทรมานมากที่สุด

หยุดสร้างมลพิษก่อนโลกล่มสลาย
ดร.โทมัส นิวซัม นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ออสเตรเลีย หนึ่งในแกนนำของกลุ่มผู้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศระบุ “เห็นได้ชัดว่าโลกกำกลังเผชิญกับภาวะฉุกเฉินด้านสภาวะอากาศ หากมนุษย์ไม่เร่งแก้ไข มีความเป็นไปได้สูงว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงกว่าที่เคยพบเจออย่างมาก ที่เลวร้ายสุดๆ ก็คือ พื้นที่ของโลกไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไป”

การออกมาเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลที่เห็นภาพชัดเจนให้แก่รัฐบาลของประเทศต่างๆ รวมทั้งสาธารณชนได้เห็น เพื่อตระหนักถึงสถานการณ์ภัยด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วทุกขณะ แต่กลับถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังมานานหลายสิบปี

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมระดับโลกระบุว่า ในรายงานได้นำเสนอมาตรการเบื้องต้น 6 ด้าน ที่ผู้คนสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที เพื่อชะลอและหยุดยั้งผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ดังนี้
1.วางนโยบายอนุรักษ์แหล่งพลังงานและประหยัดพลังงานในระดับมหภาค โดยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หันมาใช้พลังงานทดแทนที่ยั่งยืน ยกเลิกนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันหรือนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งการคิดค่าการปล่อยคาร์บอนให้สูงพอที่ธุรกิจต่างๆ จะหลีกเลี่ยงการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

2.ลดสารก่อมลพิษระยะสั้น ด้วยการลดการใช้และปล่อยมีเทนสารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน รวมทั้งเขม่าควันต่างๆ ซึ่งอาจจะช่วยลดความรุนแรงของภาวะโลกร้อนในช่วง 20-30 ปีข้างหน้าลงได้ถึง 50%
3.หยุดบุกรุกป่า & หยุดทำลายธรรมชาติ ด้วยการหยุดยั้งการแผ้วถางพื้นที่ป่า อนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ เช่น ป่าไม้ ทุ่งหญ้า ป่าโกงกาง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลก
4.สร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยควรบริโภคพืชผักให้มากขึ้นและลดผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ลง ซึ่งจะช่วยตัด/ลดการปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ รวมทั้งลดการแผ้วถางพื้นที่ป่าเพื่อการทำปศุสัตว์ด้วย
5.ปรับเปลี่ยนทิศทางและนโยบาบการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อโลก ยกเลิกแผนการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก เปลี่ยนนโยบายที่มุ่งแสวงหาแต่ความมั่งคั่งและเพิ่มตัวเลขจีดีพีด้วยการทำลายทรัพยากร มาเป็นนโยบายที่คำนึงถึงความยั่งยืนของ ‘ชีวมณฑล’ ในระยะยาวแทน
6.ควบคุมจำนวนประชากรโลกให้พอดี พยายามจำกัดจำนวนประชากรโลกให้อยู่ในระดับคงที่และเหมาะสม โดยใช้วิธีการที่มีความยุติธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากในปัจจุบันมีประชากรเกิดใหม่เพิ่มขึ้นถึงกว่า 2 แสนคนต่อวัน
ทันทีที่ข่าวนี้เผยแพร่ออกมาก็อดคิดไม่ได้ว่า แค่ทุกวันนี้ เราได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change ก็เดือดร้อนกันไปทั่วโลกแล้ว หากวิกฤตภูมิอากาศโลกอัปเกรดสู่ “ภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ” ประชากรโลกจะได้รับผลกระทบมากมายเพียงใด ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาช่วยกัน “อย่างเพียงแต่คิดแล้วเฉย”