ดร.สมหมาย เตชะศิรินุกูล กับภารกิจสำคัญ นำ R&D CPF สร้างประโยชน์เพื่อมวลมนุษย์

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของชีวิตมนุษย์ที่มี เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นวัฎจักร มนุษย์ทุกคนย่อมต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีในแต่ละช่วงวงจรชีวิต …โชคดีที่โลกเรามีงานด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือมนุษย์ในทุกด้าน เช่น วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่สามารถเอาชนะโรคภัยหลายชนิด และทำให้อายุเฉลี่ยของคนเราสูงขึ้นมากจากในอดีต…

และเมื่อว่ากันด้วยสุขภาพมนุษย์ “อาหาร” ที่เราต้องกินกันทุกวัน ก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่ควรจะตอบโจทย์ความต้องการ และ ให้คุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้คนทุกเพศทุกวัยด้วย วิทยาศาสตร์ การวิจัยและพัฒนาอาหาร จึงมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของเราทุกคน

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ บริษัทผู้นำด้านธุรกิจอาหารของประเทศไทยและของโลก มีวิสัยทัศน์มุ่งสู่ “ครัวของโลก” ก็มีทีมนักวิทยาศาสตร์ทำหน้าที่วิจัยพัฒนา “อาหาร” เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีศูนย์วิจัยพัฒนาอาหารมาตรฐานระดับโลกที่จะรองรับการทำงานวิจัยเต็มรูปแบบ ภายใต้การบริหารงานของ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ลูกหม้อซีพีที่ทำงานมานานกว่า 33 ปีที่ชื่อ “ดร.สมหมาย เตชะศิรินุกูล”

The Journey
ภายหลังจบปริญญาเอกด้าน Poultry Nutrition จาก Oregon State University ประเทศสหรัฐอเมริกา ดร.สมหมาย ได้เข้าร่วมงานกับทีมวิชาการอาหารสัตว์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อปี 2529 จากนั้นได้รับความไว้วางใจให้ไปทำงานวิชาการที่ บริษัท เจียไต๋ คอนติ ในฮ่องกง ต่อมาสามารถโชว์ผลงานสร้างพรีมิกซ์ให้โรงงานอาหารสัตว์ในจีนได้สำเร็จ พร้อมขยายพรีมิกซ์ไปในโรงงานอาหารสัตว์ทั่วประเทศจีนทั้ง 100 แห่ง ทำให้มีธุรกิจอาหารสัตว์ในจีนมีกำลังการผลิตสูงถึง 6 ล้านตัน/ปี

จากความสำเร็จดังกล่าว บริษัทจึงมอบหน้าที่บริหารธุรกิจสัตว์น้ำทั้งหมดที่ CPF เข้าไปลงทุนในจีน ได้แก่ มณฑลไห่หนาน กว่างสี และฟูเจี้ยน ครอบคลุมทั้งอาหารสัตว์ พ่อแม่พันธุ์กุ้ง และโรงเพาะฟัก ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดีเช่นกัน และเมื่อกลับมาประเทศไทย ก็เข้ารับผิดชอบธุรกิจสัตว์น้ำแปรรูป กระทั่งได้สร้าง “เกี๊ยวกุ้ง CP” ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และด้วยความเชี่ยวชาญงานด้าน RD จนเป็นที่ยอมรับ ประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ก็ได้มอบหมายให้รับผิดชอบงานด้าน QA QC และ LAB เพื่อควบคุมคุณภาพอาหารของซีพีเอฟ และล่าสุด ในปี 2562 นี้ ดร.สมหมาย ก็ได้รับภารกิจสำคัญอีกครั้ง ในการบริหารจัดการ งานด้านวิจัยพัฒนาอาหาร (R&D) ทั้งหมดของซีพีเอฟ

RD เพื่อประโยชน์เพื่อนมนุษย์
“งาน R&D ของซีพีเอฟ มีการเติบโตและพัฒนามาโดยตลอด บุคลากรในทีม RD ก็ล้วนมีความสามารถเฉพาะตัวในงานที่ตนรับผิดชอบ เรามีนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในระดับด๊อกเตอร์ที่เข้ามาเพิ่มถึง 6 คน เมื่อประกอบกับศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารที่ทันสมัย มีมาตรฐานระดับโลก ซึ่งผู้บริหารในอดีตได้สร้างไว้ จึงทำให้หน่วยงาน R&D ของ CPF เป็นแหล่งความรู้ และเป็นคลังผู้รู้ที่จะมาร่วมกันพัฒนาและวิจัย สิ่งที่จะต่อยอดเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคได้ในอนาคต”

ดร.สมหมายเล่าให้ฟังอีกว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานได้คิดค้นและวิจัยพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเพื่อผู้ป่วย หรืออาหารเพื่อผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไต ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ โดยมีแผนที่จะพัฒนางานด้าน RD ใน 3 หัวข้อ ได้แก่ 1.) จะทำสิ่งที่ดีที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น 2.) สร้างหน่วยงาน RD ให้เป็นองค์กรที่มีความรู้ด้านอาหารเหมาะสมกับผู้บริโภคทุกวัยอย่างมีความรับผิดชอบ 3.) มุ่งวิจัยพัฒนาเพื่อตอบโจทย์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต –เพื่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัท

“สังคมยุคใหม่ใส่ใจที่จะรักษาสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของโลก ดังนั้น ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องศึกษาวิจัย เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เช่น เนื้อเทียม ที่อาจเข้ามาดิสรัปธุรกิจอาหารโปรตีน และเราต้องวิจัยพัฒนาอาหารทางเลือกอื่นๆเพิ่มเติมด้วย”

ทั้งนี้ หน่วยงาน RD จะมีนักวิจัยอยู่ 2 ทีม ได้แก่ ทีมวิจัย และ ทีม NPD – New Product Develop ที่จะทำงานใกล้ชิดกับฝ่ายขายและการตลาด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภค หากมีข้อสงสัยบางส่วนที่ตอบไม่ได้ ทีมวิจัยจะเข้ามาเป็นตัวช่วยในการเสริมความรู้ให้แก่ทีม NPD

สำหรับการบริหารบุคคลากรที่เป็นนักวิทยาศาสตร์นั้น ดร.สมหมายเน้นย้ำว่าต้องให้อิสระในการแสดงความคิดเห็น นักวิทยาศาสตร์มีความเป็นตัวของตัวเอง แต่ต้องอยู่ในกรอบว่างานวิจัยทุกชิ้นต้องมีการกลั่นกรอง และต้องตอบได้ว่างานนั้นจะสร้างประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ ต่อสังคม และต่อบริษัทในอนาคตได้อย่างไร

มุมมองและวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการงานด้าน R&D ของนักบริหารท่านนี้ ตั้งอยู่บนประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ และเพื่อสังคมในอนาคตนอกเหนือจากการผลิตอาหารปลอดภัยซึ่งเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ดร.สมหมาย เตชะศิรินุกูล จึงนับเป็นต้นแบบนักวิทยาศาสตร์ที่คำนึงถึงส่วนรวมก่อนเป็นสำคัญ ตรงตามแนวคิดของปรัชญา 3 ประโยชน์ที่บริษัทยึดมั่นเสมอมา

Cr:PR CPF
ขอบคุณ PR CPG