โอกาสและความท้าทายของไทยและอาเซี่ยนในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล จากมุมมอง CEO ของธุรกิจชั้นนำ บนเวที ‘AEC Business Forum 2019’

ในงานสัมมนาใหญ่ประจำปี ‘AEC Business Forum 2019’ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยธนาคารกรุงเทพฯ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “ASEAN CEO’s Vision 2020 & Beyond” ร่วมกับ คุณอาลก โลเฮีย (Mr. Aloke Lohia) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) คุณเจมส์ อู๋ (Mr. James Wu) ประธานบริหาร หัวเว่ย ประจำภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด และคุณพอล ลิม (Mr. Paul Lim) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท PESTECH International Berhad ซึ่งทุกท่านได้สะท้อนมุมมอง โอกาสและความท้ายของธุรกิจในยุคดิจิทัล ได้อย่างน่าสนใจ

3 โจทย์ใหญ่ท้าทายที่ธุรกิจต้องเผชิญ
คุณศุภชัย กล่าวถึง โอกาสและความท้าทายที่ธุรกิจในประเทศไทยและในกลุ่มประเทศอาเซียนต้องให้ความสำคัญ โดยกล่าวว่า มี 3 ความท้าทายที่สำคัญคือ 1. เรื่องการศึกษา ทั้งการปฏิรูปการศึกษา โอกาสการเข้าถึงและการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยกระจายการเรียนรู้ 2. ความยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ภาคธุรกิจใหญ่ๆ ต้องใส่ใจ โดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ 3.การเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยจะต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการทำงานร่วมกับภาคแรงงานที่เข้าสู่สังคมสูงวัย

ท่ามกลางโอกาสและความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ คุณศุภชัย ได้พูดถึงการดำเนินงานของเครือที่มีนโยบายและวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญครบทั้ง 3 มิติ คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม ใช่เป็นกรอบและแนวทางที่สำคัญทำให้ธุรกิจของเครือเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน รวมทั้งวางกลยุทธ์การบริหารที่มุ่งเน้นสร้างการมีส่วนร่วม ทำงานเป็นทีม และขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความโปร่งใส

“ผมขอยกตัวอย่างการพยายามเปลี่ยนแปลงของเครือซีพีที่ผ่านมา จากเดิมที่แบ่งเป็นไซโลมากมาย ทำงานโดดเดี่ยวเป็นไซโล เราจะเปลี่ยนไปสู่บริษัทที่ทำงานร่วมกัน ผ่านการขับเคลื่อนโดยข้อมูล มีความโปร่งใส ส่งเสริมให้แต่ละฝ่ายมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้ย ซึ่งการมีซีอีโอเพียงคนเดียวแก้ปัญหาทุกอย่างนั้นไม่ใช่วิธีการที่ดี เพราะในที่สุดซีอีโอก็จะเป็นคอขวดเสียเอง ดังนั้น การจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ธุรกิจเติบโตและเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรได้จะต้องมีมินิซีอีโอที่มีความรับผิดชอบในหลายระดับ ทำงานในลักษณะข้ามภาค ข้ามสาขา แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อเราต้องการเปลี่ยนไปสู่รูปแบดิจิทัล เพื่อให้คล่องแคล่วเพียงพอที่จะให้มีนวัตกรรมนำบริษัทไปสู่การแข่งขันและเพิ่มมูลค่าให้ตลาดได้ ผมคิดว่าเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสของเครือซีพี ดังนั้นถ้าเราต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง วิสัยทัศน์ เป้าหมาย เคพีไอต้องเปลี่ยน”

ต้องเชื่อมโยงดิจิทัลกับุรกิจอย่างไร้รอยต่อ
ศุภชัย ยังได้กล่าวถึงโอกาสและความท้าทายของประเทศไทยและอาเซียนว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจในภาครวมเติบโตได้ธุรกิจต้องมองถึง 3 สิ่งนี้ คือ “ความเชื่อมโยง” “ความรวดเร็ว” และ “ตลาดโลก” ทั้งสามอย่างจะต้องบรรจบกัน

ทั้งนี้เนื่องจาก ประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา และติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และบางประเทศมีรายได้ต่ำ ซึ่งการเชื่อมโยงทางด้านดิจิทัลจะทำให้มีความโปร่งใสมากขึ้น สามารถลดขั้นตอนระบบราชการ มีการปฏิรูปประเทศ และทำสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้ และถ้ามีการลงทุนจริงอย่างจริงจัง เพื่อให้มีการกระจายความรู้และเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ทั้งบิ๊กดาต้า เอไอ การถ่ายทอดความรู้ เพื่อสร้างคุณค่าและเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจและอาเซียนจะทำให้เศรษฐกิจของอาเซี่ยนไปได้ไกลกว่านี้

“วิวัฒนาการเศรษฐของเรามีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่ยิ่งใหญ่มาก การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานกำลังทำให้เศรษฐกิจก้าวไปสู่สิ่งที่ขับเคลื่อนโดยข้อมูล ทำให้มีความโปร่งใสมากขึ้น นี่เป็นโอกาสของอาเซียนที่จะเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งขณะนี้การเชื่อมโยงและพึ่งพาเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคมีมากขึ้น ทำให้เกิดโอกาสมหาศาลและความท้าทายซึ่งไทยและประเทศในอาเซียนต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในขณะที่ความเชื่อมโยงทางดิจิทัลมีความเปลี่ยนแปลงมาก ถ้าเราเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเร็วพอ โอบรับเอาสิ่งที่เข้ามาเพียงพอก็จะทำให้ประเทศในอาเซียนเติบโตก้าวกระโดดได้” คุณศุภชัยฉายภาพให้เห็นโอกาสและความท้าทาย

เทคโนโลยีสร้างอนาคตธุรกิจ
ในโอกาสเดียวกันนี้ ภาคธุรกิจเอกชนต่างๆ ได้ร่วมแสดงความเห็นถึงธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ไปสู่ยุคดิจิทัล โดยบอกว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านดิจิทัลเพื่อให้เชื่อมโยงธุรกิจ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องมองถึงความเชื่อมโยงกันทั้งภูมิภาคอาเซียนกันแบบไร้รอยต่อ อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกันในอาเซียน อาทิ รถไฟความเร็วสูง โดยภาคธุรกิจจะต้องเร่งเปิดรับและนำเทคโนโลยีมาใช้เชื่อมโยงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจ

ทั้งนั้ คุณเจมส์ อู๋ (Mr. James Wu) ประธานบริหาร หัวเหว่ย ประจำภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงความเห็นว่า หากบริษัทไม่สามารถปรับตัวให้เข้าสู่ยุคธุรกิจดิจิทัลได้ แน่นอนว่าอาจจะมีการล้มหายตายจากไป ดังนั้น ธุรกิจต้องเปิดรับทั้งเรื่อง 5G คลาวด์เทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้ คือ สิ่งที่ต้องนำมาใช้ในการแข่งขัน และเกิดขึ้นได้เร็วกว่าที่เราคิด อาเซียนต้องเตรียมตัวพร้อมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นนำเทคโนโลยีมาสร้างอนาคต ซึ่งหัวเหว่ยมีแนวคิดจะตั้งวิทยาลัยไอซีทีในประเทศไทยเพื่อสร้างบุคลากรด้านดิจิทัลที่มีความสามารถมาทำงานในภูมิภาคอาเซียน โดยพร้อมทำงานร่วมกับทุกฝ่าย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเขา ทั้งยังช่วยในการสร้างบุคลากรด้านดิจิทัลที่มีศักยภาพ

ปัจจัยความสำเร็จและความเสี่ยงของอาเซียน
ดร.ซ่ง เฉิง จือ (Dr. Sung Cheng Chih) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Avanda Investment Management ที่ปรึกษาด้านการลงทุนของกระทรวงการคลังสิงคโปร์และธนาคารกลางในสิงคโปร์ นอร์เวย์และประเทศไทย และสมาชิกคณะกรรมการบริหาร MIT Endowment กล่าวว่า ยังมีความเชื่อมั่นตลาดผู้บริโภคภายในภูมิภาคอาเซียนที่จะยังคงเติบโตต่อเนื่อง แม้จะยังไม่เท่าสหภาพยุโรป แต่อาเซียนถือเป็นฐานตลาดส่งออกของจีน และเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งอาเซียนยังต้องเตรียมรับมือกับความท้าทาย ทั้งจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจชะลอตัว และการที่ต้องขยับไปเป็นประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว มีรายได้ต่อหัวระดับสูงให้ได้ รวมทั้ง ต้องเตรียมตัวรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากนวัตกรรมทางการเงินที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอย่างแบบฉับพลัน โดยหวังว่าธุรกิจเอสเอ็มอีจะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินง่ายขึ้น ทำให้ธุรกิจไปสู่ภูมิทัศน์การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซมากขึ้นได้

ขณะเดียวกันเชื่อว่าในอนาคตภูมิภาคอาเซียนต้องเตรียมพร้อมรับมือกับกระแสของการหันกลับมาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องมีมาตรการและกองทุนต่างๆ เพื่อรับมือกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นวาระสำคัญในอนาคตของอาเซียน

ดร.ซ่ง เฉิง จือ ยังบอกอีกว่า เมื่อพิจารณาจีดีพีของทั้งอาเซียนแล้วเห็นว่ายังมีการเติบโตสูงในแง่การบริโภคต่อหัว โดยที่ตลาดของอาเซียนมีขนาดใหญ่กว่าญี่ปุ่นเล็กน้อย แต่ยังไม่เท่าสหภาพยุโรป ในอนาคตหากมีข้อสรุปในเรื่องผลประชุมอาร์เซ็ปต์ เชื่อว่าจำนวนการบริโภคภายในภูมิภาคจะเติบโตได้ในอนาคตและหวังว่าจะเท่าสหภาพยุโรปได้ ขณะที่ในเรื่องเทคโนโลยี แม้ในภูมิภาคนี้เราจะไม่ใช่ผู้นำ แต่สิ่งที่เราต้องรู้คือ การจะนำเอาเทคโนโลยีเหล่านั้นมาช่วยให้เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้เติบโตได้อย่างไร

“อาเซียนมีมนุษยสัมพันธ์ดี ถ่วงดุลได้ทั้งอเมริกา และจีน ทำให้เป็นโอกาสดีที่จะนำเอาเทคโนโลยี และอีคอมเมิรซ์มาช่วยปรับปรุงเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ และเศรษฐกิจจะก้าวหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ โดยยังต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ อาทิ การผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ การจัดหาแรงงานที่มีศักยภาพ การมีความง่ายในการทำธุรกิจในอาเซียน ซึ่งสถิติตัวเลขส่วนนี้ค่อนข้างดี ในด้านระบบการเงิน เรามีระบบธนาคารที่เข้มแข็ง และอาเซียนได้บทเรียนมาจากช่วงวิกฤตการเงินในภูมิภาคนี้เมื่อหลายปีก่อน”

“สำหรับอนาคตระยะกลางต้องพิจารณาว่า เราจะขยับจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางขึ้นเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงขึ้นได้อย่างไร ประเทศไทยอาจเป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ อาจมีสิ่งที่ทำได้ง่ายๆและได้ประโยชน์ คือ ตอนนี้ไทยเริ่มจะประสบปัญหาผู้สูงวัย ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เริ่มคิดว่าทำอย่างไร ผลักดันให้เราเป็นประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว มีรายได้ต่อหัวระดับสูงได้ อาจเป็นเป้าหมายระยะไกล แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาและความสามารถในการปรับตัว ก็ควรต้องมองถึงส่วนนี้”

ดร.ซ่ง เฉิง จือ ยังได้ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า การพูดถึงการเจริญเติบโตกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจะเป็นเรื่องคู่ขนานกัน เพราะผู้คนกำลังสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศนี้อาเซียนอาจจะยังไม่พบชัดเจน แต่จะเป็นปัญหาของอาเซียนในอนาคต