CEO ซีพีเอฟ เผยยุทธศาสตร์สร้างเป้าหมายยอดขาย 8 แสนล้านบาทของซีพีเอฟ จากทรัพย์สินที่ลงทุนไปทั่วโลก

ในยุคดิจิทัลดิสรัปชั่นโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตลาดเปลี่ยน พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้น ใครที่ขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรในช่วงเวลานี้ต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลอย่างมากๆ จึงจะสามารถนำพาองค์กรให้ยืนหยัดอยู่ได้อย่างแข็งแกร่งในโลกอนาคต

คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร (ซีอีโอ) คนใหม่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เป็นผู้บริหารอีกคนหนึ่งที่มีวิธีคิดในการวางยุทธศาสตร์เพื่อนำองค์กรเข้าไปเป็นครัวของโลกอย่างน่าสนใจมากๆ

คุณประสิทธิ์กล่าว ว่าทันทีที่ขึ้นมารับตำแหน่งภารกิจแรกที่จะต้องสานต่อจากผู้บริหารคนเก่า คือเป้าหมายเรื่องของรายได้และการขยายกิจการออกไปทั่วโลกโดยได้ตั้งเป้าหมายรายได้ของซีพีเอฟในช่วง 5 ปีนับจากนี้ (2562-2566) จะต้องมีรายได้ 8 แสนล้านบาทหรือมีอัตราขยายตัว 10% ต่อปีจากในปี 2561 ซีพีเอฟมีรายได้ 5.4 แสนล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1.5 หมื่นล้านบาท

ทุกวันนี้ ซีพีเอฟ คือครัวโลกที่มีรายได้หลักจากการเข้าไปลงทุนใน 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed) ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ (Farm) และธุรกิจอาหาร (Food) ใน 17 ประเทศ และส่งออกในเรื่องอาหารไปกว่า 30 ประเทศ ใน 5 ทวีปทั่วโลก

ในปีที่ผ่านมารายได้จากต่างประเทศมีประมาณ 67% ในขณะที่รายได้ในประเทศ (รวมส่งออก) 33% อีก 3-5 ปีข้างหน้าตั้งเป้ารายได้จากต่างประเทศอยู่ที่ 75% ในประเทศ (รวมส่งออก) 25%

นั่นหมายถึงว่าจากนี้ไปซีพีเอฟจะให้ความสำคัญกับตลาดในต่างประเทศมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะแม้ปัจจุบันซีพีเอฟจะเป็นบริษัทในกลุ่ม Food Industry ที่ใหญ่ที่สุดของไทยหรือในเซาท์อีสต์เอเชีย แต่หากเทียบในระดับโลกแล้วไซส์ธุรกิจของ CPF ยังห่างจากอันดับต้นๆอีกมากนัก รวมทั้งจะให้น้ำหนักของ Food ให้มากขึ้น เพราะในประเทศที่บริษัทเข้าไปลงทุนส่วนใหญ่นั้น จะเป็นเรื่องของ Feed และ Farm เป็นส่วนใหญ่

โฟกัสตลาดต่างประเทศเป็นหลัก
การสร้างแบรนด์ให้ขยับขึ้นไปเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในอุตสาหกรรมอาหารนั้น จำเป็นต้องบุกตลาดต่างประเทศ เพราะยังมีโอกาสและช่องทางอีกมากมาย

“ในเมืองไทยมีคนสามารถเข้าถึงอาหารได้ดีแล้วในระดับหนึ่งการเติบโตในอนาคตคงไม่สูงกว่านี้มากนัก แต่ในบางประเทศที่เราเคยคิดว่าเขาใหญ่มาก เช่น ประเทศรัสเซีย เรื่องอุตสาหกรรมอาหารเขาน่าจะพัฒนาไปได้ไกลกว่าเรา แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ทำให้ผมมั่นใจว่าซีพีเอฟมีโอกาสเติบโตอีกมากในต่างประเทศ”

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ซีพีเอฟบุกตลาดต่างประเทศได้ง่ายขึ้น มาจากความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ที่ได้สะสมส่งต่อมายาวนานกว่า 40 ปี และมีสัดส่วนส่งออกในยุโรปมากที่สุด ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเข้มงวดในเรื่องการนำเข้าอาหารอย่างมาก สินค้าที่เข้ามาทำตลาดได้ต้องมีมาตรฐานสูงจริงๆ โดยเฉพาะตลาดในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่ซีพีเอฟส่งออกมากที่สุด ปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท (รองลงมาคือประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย)

ส่วนตลาดใหม่ที่กำลังขยายตัวได้ดีอีกประเทศหนึ่งคือประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีประชากรมากกว่าคนไทยเกือบเท่าตัวและมีไลฟ์สไตล์ ชอบเอนเตอร์เทน ชอบรับประทานเลี้ยง หรือรับประทานอาหารนอกบ้านและเป็นสังคมกลุ่มใหญ่
ทั้ง 2 เป้าหมายคือยอดขายและการขยายกิจการในต่างประเทศ กำลังเดินไปตามแผน และน่าจะไปถึงเป้าที่วางไว้ได้อย่างไม่ยากนัก

แต่ยังมีอีกเป้าหมายหนึ่งที่อาจจะไม่ได้พูดถึงกันมาก คือการสร้างเม็ดเงินกำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมากๆ

3 Key Strategic moves เพื่อการเป็นครัวโลกที่ยั่งยืน
คุณประสิทธิ์กล่าวว่าวันนี้ ซีพีเอฟมีทรัพย์สินอยู่ในมือประมาณ 5 แสนล้านบาท ใน 17 ประเทศทั่วโลก ทำอย่างไรที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มในทรัพย์สินที่มีอยู่อย่างมหาศาลขึ้นมาได้ เพื่อทำให้การเข้าไปเป็นครัวโลกมั่นคงและแข็งแรงขึ้น
“นี่คือสิ่งที่ผมกำลังให้ความสำคัญและคิดว่าวันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มในสิ่งที่ผู้บริหารรุ่นก่อนๆ ได้ทำและพัฒนาไว้ให้”

โดยวางไว้ 3 กลยุทธ์หลัก คือในเรื่องของ 1. Value Creation 2. Digital Transformation และ 3. Driving Sustainability

ทั้ง 3 วิธีการนี้จะเริ่มต้นก่อนในประเทศไทย และจะเป็นต้นแบบให้กับอีก 17 ประเทศที่ซีพีเอฟเข้าไปลงทุน

1. Value Creation เป็นการสร้างคุณค่าเพิ่ม เพื่อให้ได้โปรดักต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน และสร้างความแตกต่างที่เหนือกว่าคู่แข่งในตลาด

ตัวช่วยที่สำคัญคือการตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหาร” หรือ “CPF RD Center” ที่ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 2,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 10 ไร่ บริเวณ อ. วังน้อย จ. พระนครศรีอยุธยา โดยมีพนักงานทางด้านวิจัยเฉพาะเรื่องอาหารทั้งหมดประมาณ 150 คน

“Story” ของไก่เบญจา หรือ Benja Chicken สินค้านำร่องและเป็นผลิตภัณฑ์เดียวภายใต้แบรนด์ ยู-ฟาร์ม ที่เปิดตัวสู่ตลาดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา คือตัวอย่างที่คลาสสิก และเห็นภาพของเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างชัดเจนที่สุด
เริ่มต้นจากการตั้งโจทย์ว่า ทำอย่างไรที่จะได้ไก่ที่อร่อยและดีที่สุดในโลก โดยที่ไม่ต้องลงทุนทำอะไรใหม่ ยังใช้ไก่พันธ์ุเดิม ฟาร์มเดิม ทุกอย่างเหมือนเดิม

ต้องบอกว่าเรื่องนี้เป็นเพราะ business thinking ที่ต้องใช้ประสบการณ์และความกล้า กล้าคิด กล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ ในฐานะผู้นำองค์กรได้เปลี่ยนสูตรอาหารเดิมๆ ที่ใช้เลี้ยงไก่มาเป็นข้าวกล้องคัดพิเศษ ที่ขึ้นชื่อของคนไทย ทำให้ได้รสชาติของเนื้อไก่หอม นุ่ม กว่าเนื้อไก่ทั่วไป

ซึ่งแน่นอน วิธีคิดแบบนี้คนในทีมธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed) คิดไม่ถึงแน่นอน ต้องหาวิธีจากต้นทุนที่ถูกสุด แต่ด้วยวิธีนี้ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงไก่สูงมากจากราคาข้าวโพดกิโลกรัมละ 8-10 บาทกลายเป็นข้าวกล้องคัดพิเศษราคากิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 60 บาท เป็นการคิดจากต้นทุนแพงที่สุด แต่ประสิทธิ์ย้ำว่าเป็นการเพิ่มต้นทุนที่ต้นน้ำเป็นหลัก แต่ในระหว่างทางจนถึงปลายทางแทบจะไม่มีต้นทุนส่วนไหนเพิ่มขึ้นอีกเลย

ขณะเดียวกันในวิธีการเลี้ยงก็ยังสามารถเคลมได้ว่าปลอดสาร ปลอดภัย ไม่ใช้ฮอร์โมน และไม่มียาปฏิชีวนะปนเปื้อน 100% โดยสถาบัน NSF ให้การรับรอง และสุดท้ายก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ไก่เบญจาได้ด้วย ในราคาขายที่สูงกว่าราคาไก่ทั่วไปถึง 60%

ปัจจุบันกำลังแปรรูปเป็นเบญจา “สเต๊กอกไก่โมชิโอะ” เสริมเซกเมนต์พรีเมียม และถูกทำตลาดด้วยเมนูที่รังสรรค์โดยเชฟระดับโลกอย่าง “เชฟหนุ่ม ธนินธร จันทรวรรณ” เชฟจากร้านอาหารชื่อดังที่ได้รับ “มิชลินสตาร์ 1 ดาว”
เป็นอีกความตั้งใจของ ซีพีเอฟ ที่ต้องการจะช่วยยกระดับอาชีพเชฟของคนไทยด้วย

“ทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายใต้แบรนด์ยู-ฟาร์ม นี้ไม่จำเป็นต้องใส่เม็ดเงินลงทุนสิ่งใหม่ แต่อาศัยการพูดคุย หาจุดที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม ตั้งโจทย์ที่ท้าทาย การคิดนอกกรอบ และมันสมองของทีม R&D กลุ่มเดิมๆ”

เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาไก่เบญจายังได้ไปเปิดตัวในงาน Anuga 2019 ที่เมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนีเป็นครั้งแรกด้วย Story ใหม่ๆ ของอาหารประเภท ไก่ หมู กุ้ง ปลา ภายใต้แบรนด์ยู-ฟาร์ม จะเข้าคิวทยอยเผยโฉมให้เห็นกันอีกครั้งในต้นปีหน้า

2. Digital Transformation ซีพีเอฟจะต้องใช้องค์ความรู้เรื่องดิจิทัลเข้าไปอยู่ในกระบวนการต่างๆ ของ 3 ธุรกิจหลัก โดยได้ร่วมกับเจดีเอ ซอฟต์แวร์ นำเทคโนโลยีในระบบดิจิทัล (Digital Supply Chain Transformation) เข้ามาปฏิรูประบบซัปพลายเชนธุรกิจไก่เนื้อให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลอย่างครบวงจร ตั้งแต่ฟาร์ม การวางแผนโรงงาน การตลาดและขาย จนถึงลูกค้า ช่วยให้การตัดสินใจและการวางแผนการขายและปฏิบัติการ สร้างความคล่องตัวและแม่นยำขึ้น
และจะมีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ไก่เนื้อ และหมู อีกด้วย

3. Driving Sustainability
การทำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารอย่างยั่งยืน ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ด้วย 3 กลยุทธ์หลัก คือ

– นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ที่ ซีพีเอฟ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องโดยมีการจัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ผ่านโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (Biogas) เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเปลี่ยนของเสียเป็นพลังงานในฟาร์มสุกร (Green Farm) โดยในปี 2561 สามารถประหยัดเงินค่าไฟฟ้าได้กว่า 163 ล้านบาท โครงการใช้พลังงานจากชีวมวลสำหรับหม้อไอน้ำ (Biomass) โดยการเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล และโครงการ ซีพีเอฟ โซลาร์รูฟท็อป (CPF Solar Rooftop) ที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาโรงงาน 34 แห่ง ผลิตไฟฟ้าได้ 40 เมกะวัตต์ สามารถทดแทนการซื้อไฟฟ้าได้ 53 ล้านหน่วยต่อปี และจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 28,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

ความสำเร็จของโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจะมีการขยายผลไปยังธุรกิจสุกรใน 7 ประเทศ คือ ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน ไต้หวัน และรัสเซีย ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 41,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

“วันนี้หลายคนคงไม่รู้ว่าพลังงานที่ใช้ในธุรกิจของเราทั้งหมด 25% เป็นพลังงานที่มาจากโครงการพลังงานหมุนเวียนของบริษัท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากโครงการผลิตไฟฟ้าชีวภาพในฟาร์มสุกรและฟาร์มไก่ไข่ หรือเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี”

ซีพีเอฟยังให้ความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยร่วมมือกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม ชุมชน และสนับสนุนพนักงานเป็นเครือข่ายจิตอาสาร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ทั้งป่าบกและป่าชายเลน โดยดำเนินการผ่านโครงการต่างๆ อาทิ

“โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” เป็นความร่วมมือระหว่างซีพีเอฟ กรมป่าไม้ และชุมชน อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง อ. พัฒนานิคม จ. ลพบุรี พื้นที่ 5,971 ไร่ ภายใต้ระยะเวลาของโครงการ 5 ปี (ปี 2559-2563) ซึ่งมีประยุกต์ใช้การปลูกป่า 4 รูปแบบตามหลักวิชาการ เพื่อเพิ่มอัตราการรอดของต้นไม้ที่ปลูก ส่งผลให้สามารถพลิกฟื้นสภาพพื้นที่จากเขาหัวโล้นให้กลับมาเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด และสัตว์ต่างๆ ที่กลับเข้ามาอาศัยในป่าแห่งนี้ ปัจจุบัน “โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสักฯ ยังเป็นแหล่งศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้กับเยาวชนและประชาชน

บริษัทฯ มีการติดตามประเมินผลการฟื้นตัวของพื้นที่ป่าไม้ การกักเก็บคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการลดและบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และผลทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่โครงการ และในอนาคตจะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี

นอกจากนี้ โครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน” โดยความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ภาคประชาสังคม และชุมชน เพิ่มพื้นที่ปลูกป่าและอนุรักษ์ป่าชายเลนใน 5 พื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศ คือ ระยอง สมุทรสาคร สงขลา พังงา และชุมพร เพื่อร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนของประเทศ บรรเทาผลกระทบความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลและสภาพความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ในระยะเวลา 5 ปี (2557-2561) สามารถเพิ่มพื้นที่ปลูกป่า อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนรวม 2,388 ไร่ สร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและชุมชนในการอนุรักษ์ป่าชายเลนให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ด้วยการตั้งกองทุนอนุรักษ์ป่าชายเลนนำร่อง 2 พื้นที่ คือ ที่ ต. ปากน้ำประแสร์ อ. แกลง จ. ระยอง และ ต. บางหญ้าแพรก อ. เมือง จ. สมุทรสาคร โดยทั้ง 2 พื้นที่ยังมีการต่อยอดพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อสนับสนุนให้คนในชุมชนมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยว และมีรายได้เข้ากองทุนฯ ที่จะใช้ในการดูแลป่าต่อไป

– ผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Products) ในปี 2562 ซีพีเอฟ ได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์บก 623 รายการ โดยผลิตภัณฑ์เป็น 12 รายการ นับเป็นผลิตภัณฑ์รายแรกที่ได้รับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดยตั้งแต่ปี 2552 ผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์และฉลากลดโลกร้อนแล้ว 770 รายการ

– นโยบายและแนวปฏิบัติด้านบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดขยะพลาสติก ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญกับการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารบนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยคำนึงถึงการใช้งานตลอดอายุของบรรจุภัณฑ์ เพื่อรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ปกป้องผลิตภัณฑ์ระหว่างการขนส่ง การจัดการหลังการบริโภค ตลอดจนสามารถยืดอายุของอาหารให้ยาวนานขึ้น เพื่อลดการสูญเสียอาหารที่ไม่ถูกบริโภค (Food Waste)

นโยบายดังกล่าว ได้กำหนดเป้าหมายระยะยาวด้านบรรจุภัณฑ์ไว้ คือ บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่นำมาใช้ต้องนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuseable) นำมาใช้ใหม่ (Recyclable) นำไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ได้ (Upcyclable) หรือ สามารถย่อยสลายได้ (Compostable) 100% ในปี 2568 สำหรับกิจการในประเทศไทย และ ปี 2573 สำหรับกิจการในต่างประเทศ

ซีพีเอฟ ยังมีเป้าหมายระยะยาวเพื่อ ลดการใช้พลาสติกในกระบวนการผลิตและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า เช่น ในธุรกิจอาหารสัตว์บก มีการนำถังบรรจุอาหารขนาดใหญ่ หรือ Bulk Feed Tank มาใช้ทดแทนถุงบรรจุอาหารสัตว์พลาสติก และตั้งแต่ปี 2549-2561 ธุรกิจเลี้ยงสัตว์น้ำได้นำถัง Q-Pass Tank มาใช้บรรจุลูกพันธุ์กุ้งเพื่อขนส่งไปยังลูกค้า ลดการใช้ถุงพลาสติกได้ 130 ล้านใบ ในช่วงเวลาเดียวกันธุรกิจผลิตไก่เนื้อครบวงจรนำกระบะสแตนเลสเพื่อขนย้ายผลิตภัณฑ์ในกระบวนการผลิต สามารถลดการใช้พลาสติกได้กว่า 93 ล้านใบ

สำหรับธุรกิจค้าปลีก เช่น ซีพีเฟรชมาร์ท นำโครงการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งผ่านกิจกรรม “ซื้อของน้อยไม่รับถุง” โดยทุกวันพุธ ซีพีเฟรชมาร์ทจะงดให้บริการถุงพลาสติกแก่ลูกค้า

ทั้งหมดคือแนวคิดและกลยุทธ์จากมุมมองของผู้นำคนใหม่ ซีพีเอฟ จะขับเคลื่อนให้บริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำแห่งนี้เติบโตต่อเนื่อง สู่เป้าหมาย “ครัวของโลกที่ยั่งยืน”

ที่มา:Marketeer