เจาะลึกซีพีแรมกับ ปณิธาน FOOD 3S สู่อาหารปลอดภัยท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิด-19

ในภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดคือเรื่องของอาหาร ซึ่งต้องมีความปลอดภัยอย่างสูงสุดเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนในรูปแบบที่ปลอดภัยจากสิ่งปนเปื้อน ทำให้ต้องย้อนกลับไปดูกิจการผลิตอาหารที่เราคุ้นกันดีและนั่นคือสิ่งที่ทำให้เรานึกถึงปณิธาน FOOD 3S ( Food Safety, Food Security และ Food Sustainability) ที่ทาง ซีพีแรม หนึ่งในผู้ผลิตอาหารปรุงสุกในบรรจุภัณฑ์ปิดผนึกรายใหญ่ของโลกให้ความสำคัญ และเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ จึงชวนไปเจาะลึกความหมายของ Food Safety หนึ่งใน FOOD 3S ที่ซีพีแรมให้ความสำคัญ ว่าแท้ที่จริงแล้วความปลอดภัยทางอาหารที่ซีพีแรมมุ่งมั่นนั้น เป็นเรื่องราวของอะไรและมีความหมายต่อกิจการอย่างไร

“Food Safety หรือความปลอดภัยทางอาหาร นับเป็นหนึ่งในปณิธานแรกของ FOOD 3S ที่ซีพีแรมให้ความสำคัญตลอดมาและมากยิ่งขึ้นนับตั้งแต่ครบรอบ 30 ปีที่ผ่านมา เมื่อพ.ศ. 2560”

และด้วยความหมายของ Food Safety นั้นไม่ใช่เพียงแค่การผลิตอาหารปรุงสุกในบรรจุภัณฑ์ปิดผนึกให้มีความปลอดภัย ปลอดเชื้อมากที่สุดเท่านั้น แต่ยังสะท้อนไปถึงแนวทางการทำงาน ที่แยกหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาดูแลปณิธานดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อช่วยให้เกิดความชัดเจนในการกำกับดูแลปณิธานของการทำงานที่มีความปลอดภัยของอาหารเป็นที่ตั้ง ตลอดทั้งกระบวนการจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) ที่จะต้องสอดคล้องกับปณิธานดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม

กระบวนการผลิตที่ปลอดภัย
เริ่มที่กระบวนการผลิตอาหารที่นับว่าเป็นกิจกรรมหลักของกิจการ ซึ่งเมื่อครั้งที่ได้มีโอกาสเข้าไปในโรงงานผลิตอาหารของซีพีแรมนั้น ต้องยอมรับว่าแม้ว่าจะเปิดให้ผู้คนเข้าไปเยี่ยมชมกระบวนการผลิตได้ แต่ก็มีการแยกส่วนของทางที่เข้าชม ซึ่งถูกออกแบบมาให้เป็นทางเดินเยี่ยมชมโดยเฉพาะ ไม่มีการปะปนกับเส้นทางการผลิตอาหารแต่อย่างใด นั่นทำให้การชมโรงงานและการผลิตถูกแยกออกจากกันอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันการปนเปื้อนในกระบวนการผลิตอาหารทั้งหมด

และสิ่งที่สังเกตเห็นได้จากการผลิตอาหารสำเร็จรูป คือเครื่องจักรที่มากกว่าคน นั่นหมายถึงการทำงานแบบกึ่งอัตโนมัติและอัตโนมัติในบางโรงงาน ที่ซีพีแรมได้มีการพัฒนาเครื่องจักรในการผลิตอาหารแต่ละชนิดขึ้นมาโดยเฉพาะ ขณะที่บางโรงงานผลิตอาหารก็เริ่มมีการใช้งานหุ่นยนต์เข้าไปผลิตอาหารกันอย่างจริงจัง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสของการปนเปื้อนที่น้อยลง เนื่องจากเป็นกระบวนการผลิตแบบปิดที่รัดกุมนั่นเอง เมื่อมองในส่วนขององค์รวมในกระบวนการผลิตแล้วก็เชื่อแน่ว่าปณิธานของคำว่า Food Safety อาหารปลอดภัยได้ถูกให้ความสำคัญมาเป็นอันดับแรกอย่างแน่นอน

โดยจากการตรวจสอบนั้น ปัจจุบันซีพีแรมใช้เงิน 1% ของยอดขายหรือปีละ 150 – 200 ล้านบาท ทุ่มเทให้กับการวิจัยและพัฒนาให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตนเอง เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยให้การสนับสนุนทั้งสถาบันการศึกษาและสถาบันการวิจัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนการตั้งศูนย์วิจัยของตนเองขึ้นมา และตั้งเป้าที่จะยกระดับองค์กรสู่ CPRAM 4.0 รวมถึงการเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน และยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของภูมิภาคเอเซียให้ได้

วัตถุดิบที่ไม่ปนเปื้อน
ย้อนลงไปที่กระบวนการคัดสรรวัตถุดิบในการนำมาผลิตอาหาร ก็ต้องบอกเลยว่ามีความละเอียดอ่อนของการคัดสรรเป็นอย่างมาก จากที่ได้เคยไปที่ไร่ของชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากซีพีแรมในการผลิตอาหารป้อนโรงงานในบางพื้นที่ เช่นใบกะเพรา วัตถุดิบสำคัญของผัดกะเพรา หนึ่งในอาหารขายดีของร้านเซเว่นอีเลฟเว่น แน่นอนว่ากะเพรามีสายพันธุ์ที่หลากหลาย แต่ละพันธุ์ที่ถูกคัดเลือกจะเป็นสายพันธุ์พื้นบ้านที่มีกลิ่นหอมจัด ใบสีเข้มออกม่วง ทำให้ทนต่อโรคแมลงได้เป็นอย่างดี ซึ่งแนวคิดการสนับสนุนเกษตรดังกล่าวยังสะท้อนการควบคุมสารปนเปื้อนบนแนวทางเกษตรอินทรีย์ได้ไปในตัว นับเป็นกระบวนการ Food Safety ที่ถูกสอดแทรกอยู่ในเรื่องของวัตถุดิบได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ทางซีพีแรมยังมีการส่งเสริมในการผลิตวัตถุดิบของอาหารที่ปลอดภัยออกมาหลากหลายโครงการ ทั้งในส่วนของ “โครงการปูม้า ยั่งยืน คู่ทะเลไทย” ที่เราได้เคยลงใต้ตามไปดู โครงการเกษตรกรคู่ชีวิตและโครงการต่างๆ ที่สนับสนุนเกษตรกรได้มีอาชีพที่มั่นคง รวมไปถึงโครงการต่างๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดการเพาะเลี้ยงสัตว์เพื่อให้เกิดการผลิตวัถุดิบที่เพียงพอ โครงการเหล่านี้หากมองผิวเผินแล้วคือการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในทางกลับกันก็เป็นการตัดตอนความคิดของการเร่งการผลิตด้วยเคมีจนอาจจะทำให้ปนเปื้อนมาสู่อาหารที่ผลิตได้นั่นเอง ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องของ Food Safety ที่ถูกสอดแทรกเข้ามาได้อย่างลงตัว

ทำให้การขยายการผลิตในแต่ละครั้งของซีพีแรม เราจะเห็นการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่โดยรอบให้ได้รับความรู้ในการผลิตให้ได้มาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) ซึ่งจะเป็นมาตรฐานการผลิตที่จะต้องปลอดภัยทั้งตัวผู้ผลิตเองและปลอดภัยต่อผู้บริโภค และที่สำคัญจะต้องปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมด้วย นับเป็นเรื่องราวของการผลิตที่ Food Safety ในตัวของมันเองได้อย่างเหนียวแน่น

ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ปลอดภัย
ในส่วนของการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ต่างจากการผลิตนัก ซีพีแรมจึงได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมซีพีแรมขึ้นที่ชลบุรี และนั่นก็ทำให้เราได้เห็นนวัตกรรมถุงซาลาเปา ที่แม้ว่ากระบวนการเก็บรักษาให้ซาลาเปามีอายุยาวนานมาขึ้นบนชั้นสินค้าจะต้องทำให้เป็นซาลาเปาแช่เย็น ซึ่งไม่พร้อมรับประทานเสียเท่าไหร่ แต่ด้วยนวัตกรรมของถุง Venting Pouch ที่เปรียบเสมือนหม้อนึ่งใบจิ๋ว ที่จะช่วยคงสภาพความชุ่มชื้นของแป้งซาลาเปาไว้ได้เมื่อนำถุงเข้าอุ่นในเครื่องไมโครเวฟ ทำให้ได้รสชาติดั้งเดิมของอาหารได้เป็นอย่างดี ในบรรจุภัณฑ์ปลอดภัยที่ไม่มีสิ่งใดปนเปื้อนได้เลย

อีกหนึ่งไฮไลต์ของบรรจุภัณฑ์ที่สะท้อนความปลอดภัยของอาหารได้เป็นอย่างดีนั่นก็คือกลุ่มอาหารภายใต้แบรนด์ EZYGO ทั้งซูชิโรล และข้าวห่อสาหร่าย ที่มีขั้นตอนในการแกะห่อเพื่อไม่ให้เลอะมือและทานได้อย่างสะดวก ตามขั้นตอนหมายเลขที่กำกับ ซึ่งมีขั้นตอนการแกะราว 4-5 ขั้นตอน ก็สามารถทานข้าวปั้นได้อย่างสะดวก นับว่าเป็นเรื่องใหม่ของการทานก็ว่าได้ เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงเคยงงกับการแกะมาแล้ว แต่การบรรจุภัณฑ์เหล่านี้จะช่วยให้อาหารปลอดภัยจากการทานอย่างแน่นอน

นอกจากนั้นแล้ว โอนิกิริ หรือข้าวปั้นญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์ EZYGO ยังเป็นการผลิตด้วยระบบปิด และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างปลอดภัยและมั่นใจในทุกขั้นตอน ทั้งในส่วนของกระบวนการคัดสรรวัตถุดิบ การผลิต และการจัดจำหน่าย ซึ่งใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิตนับตั้งแต่การรีดข้าว การฉีดใส้ การปั้น การห่อสาหร่ายและจบลงที่การบรรจุห่อ เพื่อให้เราได้มาแกะตามกระบวนการก่อนทานได้อย่างปลอดภัย สะท้อนเรื่องของ Food Safety ให้ออกมาเป็นความตั้งใจของการรักษาไว้ซึ่งอรรถรสของอาหารภายใต้บรรจุภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยทั้งกระบวนการผลิตและขั้นตอนของการบริโภคที่ชัดเจน

กระบวนการจัดจำหน่ายปลอดภัย
เนื่องจากซีพีแรมมีการจำหน่ายทั้งส่วนของอาหารปรุงสุกในบรรจุภัณฑ์ปิดผนึก ทั้งแบบแช่เยือกแข็งและแช่เย็น เพียงแค่นำมาอุ่นร้อนก็สามารถรับประทานได้ทันที โดยมีการส่งออกและจำหน่ายในประเทศ ซึ่งมีทั้งติ่มซำ ‘เจด ดราก้อน‘ และอาหารพร้อมรับประทาน ‘เดลี่ไทย‘ และ ‘เดลิกาเซีย‘ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจบริการจัดเลี้ยง ภายใต้แบรนด์ ‘ซีพีแรม แคทเทอริ่ง‘ และในส่วนของเบเกอรี่พร้อมรับประทาน แบรนด์ ‘เลอแปง‘ ที่จะต้องจัดส่ง ด้วยคุณภาพและมาตรฐานความสดใหม่เดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งนับเป็นเรื่องยากหากไม่มีความพร้อม

ปัจจุบัน ซีพีแรมมีโรงงานผลิตอาหารพร้อมทานอยู่ 7 แห่ง ได้แก่ ปทุมธานี 2 แห่ง, กรุงเทพฯ, ชลบุรี, ขอนแก่น, ลำพูน และสุราษฎร์ธานี สำหรับผลิตสินค้าส่งให้กับเซเว่นอีเลฟเว่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และร้านค้าชั้นนำในแต่ละภูมิภาค อีกทั้งยังมีการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ และยุโรปอีกด้วย

ทั้งนี้ด้วยการจำหน่ายทั่วประเทศและทั่วโลก ทำให้ต้องมีการตั้งโรงงานกระจายอยู่ในทุกภูมิภาค เพื่อย่นระยะเวลาการจัดส่งอาหารพร้อมรับประทานนับตั้งแต่การผลิตออกจากเตาไปถึงหน้าร้าน ด้วยระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ และแนวคิดของการสร้างมาตรฐานการจัดส่งอาหารที่ปลอดภัย ซึ่งก็ทำให้ซีพีแรมเองสามารถขยายตลาดอาหารพร้อมทานออกไปได้ไกลยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการส่งแบบแช่เยือกแข็งที่สามารถเก็บรักษาอาหารได้นานอยู่แล้ว

แต่กระนั้นความท้าทายของการจัดส่งอาหาร ไม่ใช่เพียงแค่การคงสภาพอาหารให้มีความปลอดภัยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สิ่งที่ซีพีแรมคิดมากกว่านั้น คือการจัดส่งอาหารที่มีความปลอดภัยภายใต้อรรถรสทางอาหารที่ยังคงคุณค่าทางอาหารอยู่เช่นเดิม เฉกเช่นเดียวกับอาหารที่ออกจากเตาที่ยังคงคุณค่าอยู่ นั่นเป็นสิ่งที่ท้าทายการลงทุนด้าน อีโลจิสติกส์ เพื่อให้ระบบการจัดส่งเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งนั่นหมายถึงอาหารที่ปลอดภัยจะถูกส่งถึงมือผู้บริโภคได้อย่างมั่นใจ

จะเห็นได้ว่า การจัดการห่วงโซ่อุปทานภายใต้ปณิธานของซีพีแรมที่ว่าด้วยเรื่อง FOOD 3S ( Food Safety, Food Security และ Food Sustainability) ที่หยิบยกมาเพียงแค่ส่วนเดียวเท่านั้น นั่นก็เรื่องของ Food Safety ยังนับว่าเป็นเรื่องที่สอดแทรกอยู่ในทุกกระบวนการคิดและการทำงานขององค์กรได้อย่างแนบแน่นอย่างน่าสนใจ จนทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบตลอดการจัดส่งจวบจนถึงมือผู้บริโภคมีความชัดเจนของความปลอดภัยทางอาหารในทิศทางเดียวกัน ซึ่งก็ส่งผลให้อาหารที่ได้รับมีความปลอดภัยสูงสุด สอดรับกับแนวคิดของทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหารเป็นอย่างแรกได้อย่างลงตัว แต่นี่ยังไม่ครบเรื่องราวของ FOOD 3S ไว้คราวหน้าผมจะมาบอกเล่าเรื่องราวของ S ที่สองที่ว่าด้วยเรื่องของ Food Security ว่ามีความหมายต่างจากความปลอดภัยทางอาหารอย่างไรนะครับ

The reporter.asia