เจาะลึก True Robotics โครงการพัฒนาหุ่นยนต์ Service Robot ของเครือซีพี

Source : blognone.com

จุดเริ่มต้นเรื่องการใช้หุ่นยนต์ของบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด มาจากนโยบายของประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ เมื่อ 4-5 ปีก่อน ที่อยากให้นำหุ่นยนต์มาใช้ในร้านค้าปลีกของเครือ ทำให้ทุกบริษัทในเครือซีพีเข้ามาศึกษาเรื่องนี้ ถ้านับเฉพาะในส่วนของ True เอง มีทีมที่เรียกว่า True Robotics ซึ่งในช่วงแรกเน้นการสรรหาหุ่นยนต์จากทั่วโลกมาใช้งาน แต่ภายหลังก็คิดว่า คนไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์เองได้ จึงเริ่มโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ด้วย

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนองค์กร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ระบุว่า นโยบายของซีพีคือการดึงคนเก่งจากทั่วโลกมาทำงาน เวลาพูดถึงความสำเร็จ “ซีพี” คนมักนึกถึงท่านประธานธนินท์ แต่จริงๆ แล้วในเครือมีคนทำงานอยู่ถึง 3 แสนคนทั่วโลก ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของเครือซีพีมาจากคนเหล่านี้ ซีพีรู้ดีว่าการแข่งขันเชิงธุรกิจ วัดกันที่ว่าคนของใครเก่งกว่า เมื่อธุรกิจเติบโต สร้างคนเองไม่ทัน จึงต้องใช้วิธีดึงคนเก่งจากทั่วโลกเข้ามาร่วมงาน

ดร.ธีระพล บอกว่าวิกฤต COVID-19 เสมือนทำให้โลกถูกรีโปรแกรมใหม่ ผลักดันให้คนเข้าสู่ออนไลน์มากกว่าเดิม กลายเป็นโอกาสมหาศาล ขึ้นกับจะคว้าได้หรือไม่ พฤติกรรมผู้บริโภคยุคหลัง COVID-19 คือคนต้องการชีวิตที่มีสุขภาพดีขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น แต่ต้องการจ่ายเงินเท่าเดิมหรือถูกลง ทางออกเดียวที่ตอบโจทย์นี้ได้คือ ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้งาน คำถามคือ เป็นเทคโนโลยีตัวไหนกันแน่ที่ควรลงทุน

ดร.ธีระพล บอกว่าเทคโนโลยีของยุคก่อนคืออินเทอร์เน็ต ที่เราเห็นมหาเศรษฐีหน้าใหม่ๆ รวยขึ้นมาจากการสร้างบริษัทอินเทอร์เน็ต ส่วนเทคโนโลยีของยุคนี้ มองว่าคือ “หุ่นยนต์”

เมื่อพูดถึงหุ่นยนต์ คนมักนึกถึงหุ่นยนต์ที่หน้าตาเหมือนมนุษย์แบบในภาพยนตร์ แต่จริงๆ แล้วคำว่าหุ่นยนต์มีความหมายกว้างกว่านั้นมาก ครอบคลุมไปถึงโดรน แขนกล หุ่นยนต์ดูดฝุ่น หุ่นยนต์ให้บริการ (service robot) ซึ่งเครือซีพีให้ความสนใจกับหุ่นยนต์ให้บริการที่สุด เพราะมีโอกาสนำไปต่อยอดธุรกิจได้ชัดเจน

วงการหุ่นยนต์ตอนนี้ยังไม่มีใครเป็นผู้ชนะชัดเจน จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยต้องรีบทำก่อน ประเทศไทยมีทรัพยากรด้านวิศวกรหุ่นยนต์จำนวนมาก มีคนไทยไปชนะการแข่งขันด้านหุ่นยนต์ในระดับโลกมาเยอะ ขาดแค่การผลักดันให้เกิดในทางธุรกิจเท่านั้น

คุณเจริญศักดิ์ รัตนวราห หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนา True Robotics บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เล่าว่าเริ่มโครงการมาประมาณ 3-4 ปี ในช่วงนั้นคำว่า service robot ยังใหม่มาก ยังไม่มีหุ่นในท้องตลาด จึงต้องใช้วิธีพาร์ทเนอร์กับบริษัทหุ่นยนต์ในต่างประเทศ ไปดูว่าหุ่นยนต์ทั่วโลกมีตัวไหนน่าสนใจบ้าง ถ้าคิดว่าน่าสนใจก็นำมาวิจัยและพัฒนา (R&D) ต่อ เพื่อให้การใช้งานเหมาะสมกับประเทศไทย พัฒนาซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมกับคนไทยมากที่สุด แต่พอทำโครงการไปสักพัก ก็เริ่มคิดว่าควรพัฒนาฮาร์ดแวร์หุ่นยนต์ของคนไทยด้วย ซึ่งมีหลายโครงการ เช่น ทำหุ่นยนต์เล่นหมากฮอสที่นำเอนจินของ AlphaGo มาฝึกเล่นหมากฮอส

ตัวอย่างหุ่นยนต์จากต่างประเทศที่ True Robotics นำมาใช้งานมีหลากหลาย เช่น หุ่นยนต์ Pepper ของ SoftBank, หุ่นยนต์ Relay ของอเมริกา และล่าสุดคือ Temi จากอิสราเอล ที่นำมาใช้เป็นหุ่นยนต์ให้บริการในช่วง COVID-19 โดยเพิ่มตัวช่วยวัดไข้ หรือ หน้าจอสำหรับพูดคุยกับมนุษย์

Temi เป็นหุ่นยนต์บริการติดล้อเลื่อน มีกล้อง เซ็นเซอร์ และ LIDAR ใช้สร้างแผนที่สิ่งแวดล้อมรอบตัว เพื่อเคลื่อนที่หลบสิ่งกีดขวางได้ด้วยตัวเอง ด้านบนมีจอภาพขนาดใหญ่ (ข้างในเป็น Android) เพื่อใช้แสดงผลข้อมูลและตอบโต้กับมนุษย์

ทีม True Robotics นำหุ่นยนต์ Temi มาพัฒนาต่อทั้งในด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ปรับปรุงด้านการสื่อสารภาษาไทย และปรับปรุงการทำงานให้เหมาะกับงานเฉพาะทาง เช่น ติดอุปกรณ์รับสัญญาณ 5G สำหรับการใช้งานนอกสถานที่ ติดกล้องจับความร้อน และการพัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานของแพทย์ในช่วง COVID-19 อย่างการเสิร์ฟยา เสิร์ฟอาหาร เพื่อไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง ตัวอย่างโรงพยาบาลที่นำไปใช้งานแล้วคือ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และโรงพยาบาลสนามวชิระภูเก็ต เป็นต้น

คุณเจริญศักดิ์ บอกว่าเรายังไม่เห็น service robot มากนักในช่วงก่อนหน้านี้ เป็นเพราะข้อจำกัดด้านซอฟต์แวร์ เพราะฮาร์ดแวร์ส่วนใหญ่ก็เหมือนๆ กันหมด มีมอเตอร์ เซ็นเซอร์ จอภาพ ฯลฯ แต่ทำอย่างไร หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานกับมนุษย์ได้ดี เป็นเรื่องซอฟต์แวร์ล้วนๆ ตัวซอฟต์แวร์พื้นฐานมีให้ใช้งานหมดแล้ว เหลือแค่การเขียนซอฟต์แวร์ไปต่อยอดมากกว่า ซึ่งคนที่เรียนต่อสาย software engineer หรือ computer science จะเข้ามาช่วยเสริมให้หุ่นยนต์เหล่านี้ทำงานได้ดีขึ้น

คุณณพวรรษ ฉอ้อน Senior Product Executive หน่วยงาน True Robotics บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เล่าถึง Homey หุ่นยนต์ที่คนไทยพัฒนาขึ้นเอง ว่าเน้นให้เป็นหุ่นยนต์ที่ใช้งานในบ้าน เป็นเพื่อนกับคนยุคใหม่ที่มักอยู่คนเดียว หุ่นยนต์ Homey จึงช่วยให้ข้อมูลข่าวสาร หรือ ควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้านด้วย

จุดเด่นของ Homey คือความสามารถในการปรับเปลี่ยนบุคลิกของตัวหุ่นยนต์ โดยเลือกแนวทางออกแบบเป็น “หูสัตว์” ที่สามารถถอดเปลี่ยนได้ เช่น หูหมา หูแมว หูกวาง พอเปลี่ยนแล้วก็เปลี่ยนบุคลิกไปด้วย ทั้งหน้าตาที่ปรากฏบนจอ เสียงร้อง หรือพฤติกรรมที่ตอบสนองมนุษย์ Homey มีเซ็นเซอร์หลายจุดรอบตัว สามารถลูบหัวหรือลูบคางได้ และมีลำโพง-ไมโครโฟนที่ฐานเพื่อความสะดวกในการสื่อสารด้วยเสียง

ตอนนี้หุ่นยนต์ Homey อยู่ระหว่างการพัฒนาซอฟต์แวร์เพิ่มเติม โดย True Robotics ได้ส่งไปประกวดนวัตกรรมที่ประเทศรัสเซีย และได้รางวัลเหรียญทองกลับมา จากผู้ส่งประกวดกว่า 600 ผลงานจาก 24 ประเทศ