“ทรู” กับบทบาทการเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม มุ่งยกระดับชีวิต “คนไทย” สู่นิวนอร์มอล

ต้องยอมรับว่าการที่กลุ่มทรู (บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น) ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices) 3 ปีติดต่อกัน ทั้งยังทำคะแนนสูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั่วโลกถึง 2 ปีซ้อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแนวคิดการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจ และมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ผนวกเข้ากับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างรอบด้าน

โดยในมิติสังคม ทรูยึดหลักการสร้างสังคมที่ยั่งยืน ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยทุกคนผ่านการสร้างสรรค์นวัตกรรมสนับสนุนทั้งด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ คือ นวัตกรรมที่ทางทรูพัฒนาขึ้น ยังคว้ารางวัลบนเวทีระดับนานาชาติมาแล้วมากมาย อย่างล่าสุดก็ได้รับรางวัลจากเวทีการประกวด “XXIII Moscow International Inventions and Innovative Technologies Salon” (ARCHIMEDES-2020) งานแสดงผลงานนวัตกรรมระดับนานาชาติใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันออก ณ สหพันธรัฐรัสเซีย จัดโดยรัฐบาล หอการค้าและอุตสาหกรรมสหพันธรัฐรัสเซีย ร่วมกับพันธมิตรจากต่างประเทศ

ภายในงานนี้ ทรูสามารถคว้าถึง 3 รางวัล ทั้งเหรียญทอง กับผลงาน HOMEY ROBOT เป็นหุ่นยนต์สำหรับใช้งานภายในที่อยู่อาศัย, เหรียญเงิน กับผลงาน SERVICE ROBOT เป็นหุ่นยนต์ช่วยบริการ และเหรียญทองแดง กับผลงานแพลตฟอร์ม “ช่วยเลี้ยง” เพื่อการปศุสัตว์ ซึ่งนับเป็นการตอกย้ำการเป็นผู้นำนวัตกรรมที่กลุ่มทรูให้ความสำคัญมาตลอด

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรม และความยั่งยืน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้ขับเคลื่อนนวัตกรรม ทั้งยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่ได้รับมอบหมายจากประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ให้ยกระดับกลุ่มทรู และบริษัทในเครือ ซี.พี. ก้าวสู่บริษัทชั้นนำระดับโลกในด้านความยั่งยืน

“ขณะนี้กลุ่มทรูกำลังขยับจาก connectivity มาสู่ technology provider ซึ่งเป็นองค์กรดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ และผมทำงานในเรื่องนวัตกรรมมากว่า 10 ปี แต่เพิ่งเข้ามารับผิดชอบด้านความยั่งยืนในช่วง 3-4 ปีหลัง ตอนนี้หน้าที่ของผมคือ ต้องสำรวจว่าเทคโนโลยีประเภทไหนกำลังจะเข้ามาดิสรัปต์ธุรกิจเดิม เพื่อหาแนวทางในการปรับตัวให้สอดรับกับทิศทางของเครือ ซี.พี. ที่กำลังปรับตัวก้าวสู่การเป็น tech company นั่นหมายถึงคิดเรื่องใหม่ ๆ หานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์โลกอนาคต ท่ามกลางความเร็วของเทรนด์โลก จึงเป็นที่มาของการเกิดนวัตกรรมมากมายในปัจจุบัน ที่กลุ่มทรูนำโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลมาพัฒนาเป็นเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ เดินหน้าตามแนวคิด True Social Innovation for Sustainability หรือการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน”

“ทรูให้ความสำคัญกับนวัตกรรมอย่างมาก เพราะมีความเชื่อว่าองค์กรจะเกิดความยั่งยืนได้ ต้องมีนวัตกรรมไปด้วยพร้อม ๆ กัน เนื่องจากนวัตกรรมจะเข้ามาช่วยลดต้นทุน อีกทั้งยังช่วยค้นคิดให้ได้สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น เพราะการทำธุรกิจ เราต้องมองมิติอื่น ๆ ร่วมด้วย ไม่ใช่หาเงินอย่างเดียว”

“ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า นวัตกรรมเพื่อสังคมของทรูจึงวางเป้าหมายอยู่ 3 หมวด คือ รายได้, สุขภาพ และความสุข เพราะนวัตกรรมสามารถสร้างรายได้ที่นำมาสู่ความสุขของกลุ่มทรู คือ การทำ autistic application ที่ใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาศักยภาพให้แก่บุคคลออทิสติก ซึ่งแอปนี้นอกจากเป็นการพัฒนาเพื่อสร้างโอกาสสร้างรายได้แล้ว ยังทำให้เด็กออทิสติกสามารถสื่อสารกับพ่อแม่ของเขาได้ จึงทำให้กลุ่มทรูรู้สึกมีความสุขและได้บุญด้วย”

ดร.ธีระพล ยังกล่าวอีกว่า นวัตกรรมทุกชิ้นที่เกิดขึ้นทั้งหมดล้วนทำเพื่อธุรกิจ แต่หากวันหนึ่งนวัตกรรมเหล่านั้นกลายเป็นธุรกิจใหม่อย่างจริงจัง ผู้ได้ประโยชน์จะไม่ใช่แค่ทรู แต่จะทำให้เกิดธุรกิจ SMEs รายย่อยตามมา เพื่อมาช่วยเสริมในการสร้างนวัตกรรมพวกหุ่นยนต์โรบอตของเราด้วย เช่น ธุรกิจอุปกรณ์ชิ้นส่วน, ธุรกิจเครื่องมือต่าง ๆ ฯลฯ ดังนั้น จุดมุ่งหมายจึงไม่ใช่แค่การพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืนเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นส่วนหนึ่งที่จะพาประเทศไปสู่ความยั่งยืนด้วย

“เมื่อพูดถึงความยั่งยืนแล้ว ปัจจัยที่ทำให้บริษัทมีความเข้มแข็งทางด้านนี้ เราทำการประเมิน และวิเคราะห์ความเสี่ยงในทุก ๆ ด้านเสมอ (maturity analysis) อย่างล่าสุด World Economic Forum 2020 ที่ได้รายงานว่า ปีนี้จะเกิดโรคระบาด, โลกร้อน บริษัทของเรากระทบทั้งสองอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงต้องมาทบทวนว่าจะทำอย่างไร เพื่อที่รู้แล้วจะได้ป้องกัน หรืออีกบทบาท คือ การดำเนินธุรกิจของเรายังต้องช่วยยกระดับคู่ค้า (vender supplier) โดยมุ่งมั่นส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่จะขับเคลื่อนสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล”

“อย่างเช่นปีที่ผ่านมา ทรูให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล (data privacy, data security, hacker) ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ เรามีหน้าที่ในการดูแลข้อมูลให้ดีที่สุด อาทิ สแกนบัตรประชาชนลูกค้ายังไงให้ปลอดภัย และต้องเข้าไปช่วยคู่ค้าดูแลเรื่องนี้ด้วย และปีนี้กลุ่มทรูจะเน้นให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) จากวิกฤตโควิด-19 ขณะนี้ทรูต้องดูแลคนของเราก่อนว่าได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เมื่อเห็นว่าภายในแข็งแกร่งจึงนำจุดแข็งไปช่วยสังคม”

“โดยนำนวัตกรรมที่มีมาช่วยแพทย์ โรงพยาบาลใช้ดูแลผู้ป่วยในยามวิกฤต และจะขยายสิ่งที่ทำอยู่แล้วให้ไปถึงกลุ่มความสำคัญลำดับ 2-3 (tear 2, tear 3) ตามมา เช่น เรื่องมาตรฐาน ISO (international organization for standardization) เราก็เริ่มขยายเรื่องการตรวจสอบ (audit) ซัพพลายเออร์ว่า ทำธุรกิจยึดหลักความยั่งยืนหรือไม่ และมีอีกหลายอย่างที่เราพยายามจะขึ้นมาเป็นผู้นำจริง ๆ ตรงนี้เป็นความท้าทายต่อไปที่ต้องทำไปเรื่อย ๆ เพื่อสร้างให้เป็นวัฒนธรรม”

สำหรับประเด็นการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมของกลุ่มทรู จะยั่งยืนได้อย่างไรนั้น “ดร.ธีระพล” บอกว่า ทรูใช้แนวคิดแบ่งนวัตกรรมออกเป็น “แบบเปิด” และ “แบบปิด” โดยแบบเปิดคือการสร้างพาร์ตเนอร์ชิปทั้งในและต่างประเทศ เรามี True lab เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น จุฬาฯ, ธรรมศาสตร์, สจล., เกษตรศาสตร์ ฯลฯ ทั้งยังมีทุนเพื่อหาคนมาทำวิจัย ส่วนแบบปิดคือส่งเสริมให้เกิดนวัตกรในองค์กร เรามีโครงการ True Innovation Awards ที่ทำมา 11 ปี โดยมีการแข่งระดับเครือ ซี.พี. ในประเทศไทย และการแข่งขันกับ ซี.พี.รัสเซีย, จีน, เวียดนาม คล้าย ๆ กับการแข่งขันแบบโอลิมปิกด้วย

“ฉะนั้น ในเรื่องของหุ่นยนต์ที่คิดขึ้นมามากมายนั้น อนาคตจะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของคน เปรียบเหมือนโทรศัพท์มือถือ การสร้างนวัตกรรมหุ่นยนต์ โรบอตต่าง ๆ เป็นแนวคิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังเติบโตอยู่ทั่วโลก และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ประกาศให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศ ขึ้นเป็นผู้นำด้านหุ่นยนต์ในอาเซียน เพราะเป้าหมายปีนี้ คือ เราอยากเป็นเจ้าของเทคโนโลยี เพราะหมดยุคที่ไทยจะเป็นผู้ซื้อเทคโนโลยีต่อไปแล้ว”

“ส่วนตัวผมเองก็คิดค้นผลงานจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาถึง 10 ผลงานแล้ว และผมตั้งเป็นเคพีไอตัวเองเลยว่า ต้องมีผลงานของตนเอง นั่นหมายถึงทุกปีต้องมีผลงานที่จดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาให้ได้อย่างน้อย 2-3 ผลงาน และพยายามสร้างวัฒนธรรมนี้ให้ทีมงานด้วยว่า เราต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา เพราะจะทำให้ประเทศไทยแข่งขันได้ในระยะยาว เพราะถ้ายังต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ วันหนึ่งเราจะลำบาก ยกตัวอย่าง สถานการณ์โควิด-19 เราต้องรอยารักษา “ฟาวิพิราเวียร์” จากประเทศอื่น ๆ หรือแม้แต่จะผลิตหน้ากากเอง ยังต้องไปหาซื้อไส้กรองจากต่างประเทศ แต่พอเจอวิกฤต เขาไม่ขาย กลายเป็นว่าเราต้องเอาชีวิตของเราไปพึ่งคนอื่น แต่ถ้าเราเป็นเจ้าของเอง ก็จะยืนได้ด้วยตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9″

“ดังนั้น ถ้าเราอยากเป็นเจ้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่จริง อย่างแรกเราต้องคำนึงคือเรามีคนเก่งในประเทศที่ไปชนะเวทีประกวดมามากมาย เราจึงต้องดึงคนเก่งระดับปรมาจารย์ด้านนวัตกรรม หรือด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาอยู่เมืองไทยให้ได้ ประมาณหลักล้านคนมาอยู่กับเรา รวมถึงเรื่อง cosystem ไทยต้องมีโรงงาน มีเทคโนโลยี มีเครื่องมือให้พร้อม มีเงินทุน แล้วเชื่อมความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย เราก็จะเป็นผู้นำได้”

ที่สำคัญ ดร.ธีระพลยังกล่าวอีกว่า ในเรื่องของหุ่นยนต์ต่อไปในอนาคตจะเป็นส่วนเข้ามามีบทบาทมากในกลุ่มทรู โดยเฉพาะเรื่องการเป็น home robot เข้ามาดูแลในบ้าน เพราะทรูมีบทบาทในการให้บริการในบ้านอยู่แล้ว ทั้งอินเทอร์เน็ต ทีวี โทรศัพท์ จึงเป็นเหมือน smart box เคลื่อนที่ได้ในบ้าน รับคำสั่งได้ เป็นยามในบ้านก็ได้ และดูแลผู้สูงอายุในบ้านก็ได้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเกินไป

“อีกประเด็นคือทรูกำลังให้ความสนใจด้านการรักษาทางไกล Telehealth อย่างช่วงโควิด-19 ทรูไปช่วยบุคลากรทางการแพทย์หลายเรื่อง เช่น ทำระบบตรวจรักษาทางไกลให้คุณหมอ และวางระบบให้โรงพยาบาลในการตรวจคนไข้ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาด้านดิจิทัล ตามนโยบาย และแนวคิดของซีอีโอเครือ ซี.พี. ที่ต้องการให้เครือทรูสร้างสรรค์เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลให้ประเทศไทย และยังจะพัฒนาอีกเรื่อย ๆ เพื่อให้เราแข็งแกร่งทั้งภายในและภายนอก”

ทั้งนั้น เพราะ “ทรู” เชื่อว่า นวัตกรรมจะทำให้บริษัท และประเทศไทยเกิดความยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ