เกษตรกรยุค 4.0 ต้องรู้จักบริหารจัดการ

มนตรี คงตระกูลเทียน
คณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

ประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวอันดับต้นๆของโลก โดยแต่ละปีเราสามารถผลิตข้าวเฉลี่ย 56-57 ล้านตันข้าวเปลือก และทำรายได้จากการส่งออกข้าวปีละกว่า 200,000 ล้านบาท อีกทั้งข้าวยังเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรกว่า 4.16 ล้านครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 65 ของเกษตรกรทั่วประเทศ และมีพื้นที่ปลูกรวม 69.56 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 45.80 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 138 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม นับจากปี 2555 ที่ประเทศอินเดียและจีน ซึ่งเคยเป็นผู้นำเข้าข้าวจากประเทศไทย สามารถผลิตข้าวขาวได้มากขึ้นจนเกินความต้องการบริโภคในประเทศ และมีปริมาณสต็อกข้าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำการระบายข้าวขาวออกสู่ตลาดโลก นอกจากจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาข้าวในตลาดปรับตัวลดลงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกข้าวขาวของไทยอีกด้วย ล่าสุดจากข้อมูลของสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์พบว่า ปริมาณการส่งออกข้าวขาวของไทยในครึ่งปีแรกของปี 2562 ลดลงถึง 1,062.02 ล้านตัวหรือคิดเป็นร้อยละ 19.6 ขณะที่ครึ่งปีแรกของปีนี้ประเทศอินเดียสามารถส่งออกข้าวขาวได้ 12 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ส่วนประเทศจีนสามารถส่งออกข้าวขาวได้ 3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 45.6

การนำเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวและเรื่องเกษตรแม่นยำ(precision agriculture) มาใช้ในกระบวนการผลิตข้าว ทำให้จีนกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหม่ที่ถูกจับตามองในกลุ่มประเทศผู้ส่งออก เพราะนอกจากสต็อกข้าวของจีนที่เพิ่มขึ้นทุกปีแล้ว ผลผลิตข้าวเฉลี่ยยังสูงถึง 1,091 กก./ไร่ เช่นดียวกับประเทศอินเดียและเวียดนามที่ปรับปรุงพันธุ์ข้าวควบคู่ไปกับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ผลผลิตเฉลี่ยขยับขึ้นมาอยู่ที่ 629 กก./ไร่ และ 939 กก./ไร่ ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่ของเราอยู่นอกเขตประทาน และยังมีข้อจำกัดในการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ทำให้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 473 กก./ไร่เท่านั้น

ประเทศผู้ผลิตข้าวรายอื่นๆให้ความสำคัญกับเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ การใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพราะเกษตรกรรมยุคใหม่ไม่ใช่การทำเกษตรแบบดั้งเดิม ที่ปล่อยให้ธรรมชาติดูแล และอาศัยแรงงานคน แต่เป็นการผลิตที่ต้องใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในการกระบวนการผลิต ที่เรียกว่าเกษตรแม่นยำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนและแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรได้ ดังนั้นนอกจากการสนับสนุนเรื่องนาแปลงใหญ่ เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มพัฒนาศักยภาพการผลิตที่ดำเนินการอยู่ รัฐบาลควรสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรเหล่านั้นร่วมกันนำเครื่องจักรกลการเกษตร และเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตข้าวไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นได้

ขณะเดียวกันเพื่อลดความเสี่ยงจากการส่งออกข้าว รัฐบาลควรสนับสนุนให้เกษตรกรบางพื้นที่ปลูกพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเช่น ข้าวสังข์หยด ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวทับทิมชุมแพและข้าวลืมผัว รวมทั้งข้าว กข.4 พันธุ์ข้าวขาวน้ำตาลน้อย ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ และยังเป็นตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

พันธุ์ข้าวพื้นเมืองของไทยหลายพันธุ์เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ทั้งกลุ่มผู้ป่วยและคนที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก เพราะมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ ทั้งวิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระ เส้นใยสูงฯ ซึ่งการปลูกพันธุ์ข้าวพื้นเมืองต้องอาศัยความจำเพาะของสภาพพื้นที่และสภาพอากาศ จึงไม่ต้องเจอกับสถานการณ์แข่งขันรุนแรงเหมือนการส่งออกข้าวขาว รวมทั้งข้าวเหนียวก็เป็นหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะมีตลาดแน่นอนและการแข่งขันน้อย ล่าสุดกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียวหอม พันธุ์ซี.พี.888 ซึ่งเหมาะสำหรับทานเป็นข้าวนึ่ง และข้าวเหนียวมูน ลักษณะเด่นคือ ปลูกได้ทั้งปี อายุเก็บเกี่ยว 120-130 วัน

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวที่ได้รับรางวัลจากมูลนิธิข้าวไทย เช่น ฉนวนกันความร้อน เซรั่มบำรุงผิว ผลิตภัณฑ์รักษาผมร่วงฯ ตลอดจนงานวิจัยผลิตภัณฑ์จากข้าวหลากชนิดของสถาบันต่างๆ ที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ รัฐบาลจึงควรมีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชน และ start up นำผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไปขยายผล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่ยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมข้าวไทยต่อไป

ในส่วนของเกษตรกรนอกจากเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแล้ว ควรปรับรูปแบบการผลิตเพื่อลดความเสี่ยงด้วยการปลูกพืชแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยการแบ่งพื้นที่บางส่วนมาปลูกไม้มีค่าเช่น สัก พะยูง มะค่าฯ เพื่อสร้างหลักทรัพย์ที่ยั่งยืนบนผืนดินในระยะยาว เพราะปัจจุบันกรมป่าไม้อนุญาตให้เกษตรกรและเอกชนสามารถตัดไม้มีค่าที่ปลูกบนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ได้แล้ว

ความแปรปรวนของสภาพอากาศ และภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น การปลูกพืชชนิดเดียวจึงค่อนข้างเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา แต่หากเกษตรกรลองปรับการผลิตเป็นแบบผสมผสาน และใช้พื้นที่บางส่วนปลูกไม้ผล หรือไม้มีค่าเก็บไว้ เหมือนเป็นการออมระยะยาวหลังเกษียณ และยังได้ช่วยคืนความสมดุลของระบบนิเวศด้วย ซึ่งระหว่างนั้นก็ยังสามารถปลูกสมุนไพรชนิดต่างๆเพื่อเป็นรายได้เสริมได้

นอกจากนี้ตลาดดิจิทัล ถือเป็นเรื่องสำคัญของเกษตรกรยุคใหม่ ที่จะช่วยขยายโอกาสของสินค้าเกษตรไทยให้เข้าถึงผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ เหมือนที่ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทอาลีบาบา เคยสร้างปรากฎการณ์ขายทุเรียนหมอนทอง 80,000 ลูกผ่านเว็บไซต์ทีมอลล์ (Tmall) ภายในเวลาแค่ 1 นาที และเพียง 1 วันหลังจากที่เขาได้ลงนามในเอ็มโอยูกับรัฐบาลไทย เกี่ยวกับความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน และการจัดตั้ง Smart Digital Hub ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2561

ความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นกับภาคเกษตรกรรม คณะนวัตกรรมการจัดการการเกษตรจึงนำกระบวนการเรียนการสอนแบบ Work Based Education มาใช้ ซึ่งนักศึกษาจะต้องเรียนวิชาการควบคู่ไปกับฝึกงานจริงในองค์กรธุรกิจ เพื่อสร้างนักจัดการเกษตรที่มีความรู้รอบด้าน ตั้งแต่การผลิตที่ดีมีคุณภาพ การบริหารจัดการ และสามารถเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน(supply chain)ของตลาดทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ

การสอนแบบ Work Based Education จะเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้วิชาการรอบด้าน ส่วนการฝึกงานคือการขยายจากทฤษฎีไปสู่การทำงานจริง เพราะการทำเกษตรสมัยใหม่ต้องมีความรู้รอบด้าน ไม่ใช่แค่การผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพ แต่ต้องเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการ วางแผนการผลิตได้ รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงของตลาดทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ นักศึกษาคณะนวัตกรรมฯจึงไม่ได้เรียนแค่วิชาการด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ยังต้องมีความรู้เรื่องการบริหารงาน บริหารคน การคัดเลือกวัตถุดิบ เรื่องของการแปรรูปและส่งออก ตลอดจนมีความรู้เรื่องบัญชีการเงินและงานประชาสัมพันธ์ด้วย เพื่อให้บัณฑิตของเราเป็นนักจัดการการเกษตรมืออาชีพ หรือ start up รุ่นใหม่ต่อไป

ถึงแม้สินค้าเกษตรจะเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรง แต่ถ้าเกษตรกรเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค และสามารถนำนวัตกรรม-เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการบริหารจัดการการผลิตให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของบริโภคทั่วโลก ภาคการเกษตรไทยจะยังเติบโตและสร้างรายได้เข้าประเทศไทยได้อีกมาก