โจทย์ใหญ่ของนวัตกรผู้สอนด้านหุ่นยนต์-ระบบอัตโนมัติ PIM

เว็บไซท์ salika.com ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.ธันยวัต สมใจทวีพรผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (iCRAS) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) เกี่ยวกับเรื่องราวของหุ่นยนต์รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับหุ่นยนต์ของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์มีสิ่งที่น่าสนใจ wearecp.comนำมาแบ่งปันชาวซีพี

จากการบริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และคร่ำหวอดอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร-ค้าปลีกมานาน กอปรกับเล็งเห็นว่า ยุคที่กำลังจะมาถึงนั้นเป็น ยุคของหุ่นยนต์-ปัญญาประดิษฐ์ ทางซีพี ออลล์จึงลงทุนกว่า 50 ล้านบาท สร้าง ศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (iCRAS) พีไอเอ็ม และรวบรวมหุ่นยนต์รุ่นใหม่จากบริษัททั่วโลกมาให้นักศึกษาได้เรียนรู้ โดยเน้นสอนทักษะด้านการออกแบบและสร้างระบบหุ่นยนต์ให้แก่ผู้เรียน จนกระทั่งมีทักษะด้านหุ่นยนต์ในระดับมืออาชีพก่อนที่จะเรียนจบ

Q : สไตล์การเรียนการสอนด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่พีไอเอ็มเป็นแบบไหนคะ?
A : Work-based Education เป็นการเรียนการสอนที่เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติงานจริง คือการเรียนทฤษฎีควบคู่กับการฝึกปฏิบัติงานด้วยการใช้โจทย์จริง จากบริษัทที่ใช้งานหุ่นยนต์จริง จึงทำให้นักศึกษาได้องค์ความรู้ที่เข้มข้นกว่าการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ซึ่งผลงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์และนำไปใช้จริงก็เป็นความภูมิใจของนักศึกษาเอง
และโดยปกติ เด็กที่พีไอเอ็มทุกชั้นปี ทุกคณะ ทุกสาขา จะเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย สลับกันจนกว่าจะเรียนจบ เช่น เด็กบริหารธุรกิจเรียน 3 เดือน สลับกับการไปอยู่ร้านเซเว่น 3 เดือน สาขาอื่นๆ เรียน 9 เดือน แล้วลงร้าน 3 เดือน

Q : มีหลายสถานศึกษาที่สอนระบบหุ่นยนต์ แต่อะไรเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เด็กมาสมัครเรียนที่นี่?
A : เด็กที่มาเรียนหุ่นยนต์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ลงสนามแข่งขันด้านหุ่นยนต์ แล้วอยากลงมือในภาคปฏิบัติ อยากทำงานจริงมากกว่าเรียนตามทฤษฎีจึงมาสมัครที่นี่ แล้วที่ซีพีมีงานเยอะ เราจึงนำโจทย์จริงมาใช้สอนได้ โดยให้เด็กปี 2 ได้เข้าโรงงาน บุคลากรในโรงงานซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ก็มาเป็น Mentor แนะให้เด็กออกแบบหุ่นยนต์ ผ่านการเรียนเขียนแบบ ออกแบบ ตรวจงานว่าต้องเติมอะไรเพิ่ม

Q : ทราบว่ามีหุ่นยนต์ประเภท Cobot, Cylindrical Robot, Arm Robot, Fixed Robot สรุปได้ไหมว่า หุ่นยนต์แบบไหนจะเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม (Industrial Robot Type) มากที่สุด?
A : ในเครือซีพีมีการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเยอะ โดยเฉพาะ หุ่นยนต์แขนกล (Arm Robot) ซึ่งจะเป็นที่ต้องการมาก และไม่ใช่เฉพาะซีพีเท่านั้น เราจึงให้เด็กได้เรียนรู้การเคลื่อนไหว การหยิบจับของแขนกล แล้วให้ออกแบบแขนหุ่นยนต์ที่เรียกว่า Gripper ตรงนี้หาคนทำยาก เพราะในกระบวนการผลิตมีหลายส่วน แต่หากออกแบบหุ่นยนต์มาทำงานที่มีรายละเอียดแตกต่างกันได้ก็จะช่วยหลายด้าน หนึ่ง ต้นทุนถูกลง ทั้งค่าแรงและต้นทุนเวลา สินค้าก็จะมีราคาถูกลงไปด้วย สอง การใช้หุ่นยนต์ทำงานก็จะเชื่อถือได้ในเรื่องความสะอาด และ สาม Speed มันดี Performance มันได้

Q : ตอนนี้มีนักศึกษามากน้อยเพียงใด และมีผลงานใดที่ใช้ได้จริงแล้วบ้าง?
A : เราตั้งหลักสูตรปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มา 3 ปี ปี 1 กับ 2 มีปีละ 40 คน ปี 3 มี 60 คน แต่ในภาพรวมรับได้ถึงปีละ 100 คน ตอนนี้นักศึกษารุ่นแรกอยู่ในชั้นปีที่ 3 แต่สร้างผลงานที่นำไปใช้ได้จริงแล้ว เช่น หุ่นยนต์ช่วยปิดฝาข้าวกล่อง สำหรับโรงงานผลิตอาหารแช่แข็ง จากที่ปิดได้ครั้งละ 1 กล่อง ก็ออกแบบให้ปิดได้ทีละ 4 กล่อง หุ่นยนต์ตรวจเช็คสภาพอากาศด้วยเซ็นเซอร์ เพื่อจะนำไปใช้ในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และ หุ่นยนต์ทำความสะอาดคลังสินค้า สำหรับศูนย์กระจายสินค้า

Q : ปัจจัยหลักที่ซีพีให้จัดตั้งหลักสูตรการสอนระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ คือเพื่อเสริมศักยภาพของธุรกิจค้าปลีกและอุตสาหกรรมอาหาร?
A : นั่นก็ใช่ครับ แต่ด้วยความที่ผมอยู่ในสาขานี้มานาน เห็นมาตลอดว่าประเทศไทยยังขาดคนที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี เนื่องจากตลอด 20-30 ปี เราไม่ได้เน้นการพัฒนาทักษะเพื่อสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี เมื่อคนขาดทักษะขั้นสูง ทำงานก็ได้เงินเดือนน้อย ต่างคนต่างไปแย่งงานกันในระดับกลาง ทำให้คนไทยได้เงินเดือนไม่สูง ส่งผลต่อการติดกับดักรายได้ปานกลางมาหลายสิบปี แต่หากเราสร้างคนที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีได้มากๆ คุณภาพชีวิตคนในประเทศก็จะดีขึ้นด้วย เป้าหมายปลายทางจึงเป็นเรื่องที่กว้างและลึกกว่าประเด็นทางธุรกิจ

Q : มุมมองของ ดร.ธันยวัต ในเรื่องการสร้างหุ่นยนต์เพื่อทดแทนแรงงานละคะ?
A : แรงงานไทยเริ่มหายาก และคุณค่าของคนไม่ได้อยู่ที่แรงงาน แต่อยู่ที่ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยออกแบบให้หุ่นยนต์ทำงานในส่วนที่ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของเขาดีขึ้น ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยด้วย การนำหุ่นยนต์มาใช้งานจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต และจากที่สังเกต คนที่กลัวหุ่นยนต์จะมาแย่งงาน เขาไปกลัวแทนคนอื่น อันที่จริงไม่ได้มีอะไรน่ากลัวขนาดนั้น

Q : ถามถึงความได้เปรียบของการเรียนสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีที่พีไอเอ็ม?
A : เกริ่นก่อนว่าตอนเปิดตัวหลักสูตร เทรนด์หุ่นยนต์กำลังมา แล้วปีต่อมาก็มาเลย แล้วแนวการสอนของเรานั้นมุ่งให้เด็กเป็นในด้าน SI (System Integrator) คือ การออกแบบระบบหุ่นยนต์ โดยต้องสามารถบูรณาการกระบวนการผลิตในระบบอัตโนมัติได้ ไม่ใช่นักพัฒนา (Developer) บริษัทหุ่นยนต์ต่างๆ เห็นว่าเราเปิดสาขานี้จึงนำเอาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของตัวเองมาให้นักศึกษาได้เรียนรู้และให้นำไปใช้กับการฝึกปฏิบัติงาน หลักสูตรของเราจึงทันสมัยอยู่ตลอด เช่น หุ่นยนต์ของบริษัท ABB และการที่เราสร้างศูนย์หุ่นยนต์ iCAS ขึ้น บริษัทต่างๆ ก็ยิ่งต้องการส่งต่อเทคโนโลยีให้เด็กที่มาเรียนได้สร้างความคุ้นเคยกับอุตสาหกรรมนี้

Q : คนที่เรียนด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ไม่ตกงาน?
A : ผมก็เป็นกรรมการด้านหุ่นยนต์ในคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC ตั้งแต่ก่อตั้ง บอกได้ว่าผู้ที่มีทักษะทางด้านหุ่นยนต์จะกลายเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจ ดูได้จากการสำรวจเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC พบว่า มีความต้องการบุคลากรทางด้านนี้สูงถึง 37,500 คน

ส่วนซีพี ออลล์ ซึ่งเป็น Key Player และเป็นหนึ่งในบริษัทที่คนอยากเข้าทำงานมากที่สุด ก็วางนโยบายในการรับนักศึกษาที่จบหลักสูตรนี้เข้าทำงานอย่างเป็นทางการแล้ว ตลอดจนบริษัทพันธมิตรต่างๆ ก็พร้อมที่จะรับนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วย เพราะเป็นเส้นทางของการสร้างมูลค่าพร้อมกับนวัตกรรม จากไอเดียของผู้เรียนและเทคโนโลยีที่ใช้ได้จริงในภาคธุรกิจ จึงรับประกันได้ถึงความมั่นคงทางอาชีพของสาขาวิชานี้

Q : มีอุปสรรคที่ทำให้การพัฒนาบุคลากรไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ หากมี ดร.ธันยวัต หรือทางพีไอเอ็มเตรียมแนวทางใดไว้แก้ปัญหา?
อุปสรรคคือ การเรียนของเด็กขึ้นอยู่กับผู้ปกครอง คือผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าหุ่นยนต์คืออะไร ทำอะไรได้บ้างก็ไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กมาเรียน เพราะมองไม่เห็นว่าเรียนจบแล้ว เด็กจะต้องไปสมัครงานที่ไหน มองไม่เห็นเงินเดือน คือขาดความชัดเจนหลายด้านจึงทำให้เขาสงสัยและยังไม่สนับสนุนให้เด็กมาเรียนด้านนี้ และเนื่องจากพีไอเอ็มให้ความสำคัญของบุคลากรด้านโรโบติกส์ จึงให้ทุนการศึกษาแก่ผู้เรียน ซึ่งมีทั้งแบบทุนเต็มจำนวนและทุนบางส่วน เพื่อให้ผู้ปกครองเปิดโอกาสให้เด็กเข้าถึงการเรียนสาขานี้มากขึ้น

Q : อยากทราบเกี่ยวกับก้าวต่อไปของสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม
A : ปัจจุบัน คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม เป็นศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากรด้านหุ่นยนต์ของเครือซีพีและพันธมิตร นักศึกษาจึงมีโอกาสเรียนรู้ มีโอกาสฝึกงานและดูงานอย่างกว้างขวางและหลากหลายกับเครือข่ายองค์กรพันธมิตรที่มีมากที่สุด นอกจากนี้ เรายังเป็นเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ของกระทรวงอุตสาหกรรม และยังเป็นศูนย์พัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอีกด้วย เนื่องจากประเทศไทยยังต้องการบุคลากรด้านนี้อีกมาก เราจึงพยายามหาพันธมิตรเพิ่ม ขณะเดียวกัน ก็กำลังสร้าง PIM EEC แคมปัสใหม่บริเวณสวนนงนุช จังหวัดชลบุรี เพื่อปั้นคนที่มีทักษะตรงตามความต้องการเข้าสู่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ของประเทศ
Cr : salika.com