21 ธันวาคม พ.ศ. 2443 รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เปิดทางรถไฟสายแรกของสยาม

วันนี้ เมื่อ 119 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เปิดเดินรถไฟสายกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ซึ่งเป็นการเดินรถไฟสายแรกของเมืองไทย สืบเนื่องจากพระองค์ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการคมนาคมโดยเส้นทางรถไฟ ทั้งจะเป็นประโยชน์ทางเศรษกิจของประเทศ และจะเป็นเส้นทางขนส่งผู้โดยสารและสินค้าไปมาถึงกันได้ง่ายยิ่งขึ้น

ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2430 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เซอร์แอนดรู คลาก และ บริษัท ปันชาร์ด แมกทักการ์ด โลเธอร์ ดำเนินการสำรวจเพื่อสร้างทางรถไฟ

ต่อมาในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2430 เมื่อได้สำรวจแนวทางต่างๆ แล้ว รัฐบาลพิจารณาเห็นว่า จุดแรกที่สมควรจะสร้างทางรถไฟเชื่อมกับเมืองหลวงของไทยก่อนอื่น คือ นครราชสีมา ดังนั้น ในเดือนตุลาคม พ.ส. 2433 พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งกรมรถไฟขึ้น สังกัดอยู่ในกระทรวงโยธาธิการมีพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ ทรงเป็นเสนาบดี และนาย เค. เบ็ทเก (K.Bethge) ชาวเยอรมัน เป็นเจ้ากรมรถไฟ พร้อมกันนั้นได้มีการเปิดประมูลสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – นครราชสีมา เป็นสายแรก ณ ที่ทำการรถไฟกรุงเทพฯ ปรากฏว่า มิสเตอร์ จี มูเร แคมป์เบล แห่งอังกฤษ เป็นผู้ค้ำประกันประมูลได้ในราคาต่ำสุด โดยเสนอราคาเป็นเงิน 9,956,164 บาท

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชทานพระบรมราชานุมัติให้กระทรวงโยธาธิการว่าจ้าง มิสเตอร์ จี. มูเร แคมป์เบลล์ สร้างทางรถไฟหลวงจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา เป็นสายแรก เป็นทางขนาดกว้าง 1.435 เมตร และได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีกระทำพระฤกษ์ เริ่มการสร้างทางรถไฟ ณ บริเวณย่านสถานีกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2434 ซึ่งปัจจุบัน การรถไฟฯ ได้สร้างอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกเหตุการณ์สำคัญในอดีต และเพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ

ปี พ.ศ. 2439 การก่อสร้างทางรถไฟสาย กรุงเทพฯ – นครราชสีมา สำเร็จบางส่วน พอที่จะเปิดการเดินรถได้ ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟระหว่าง สถานีกรุงเทพฯ – อยุธยา ระยะทาง 71 กิโลเมตร และเปิดให้ประชาชนเดินทางไปมาระหว่าง กรุงเทพฯ – อยุธยา ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2439 เป็นต้นไป

ระยะแรกเดินขบวนรถขึ้นล่องวันละ 4 ขบวน มีสถานีรวม 9 สถานี คือ สถานีกรุงเทพฯ, บางซื่อ, หลักสี่, หลักหก, คลองรังสิต, เชียงราก, เชียงรากน้อย, บางปะอิน และกรุงเก่า

การรถไฟได้ถือเอา “วันที่ 26 มีนาคม” เป็น วันสถาปนากิจการรถไฟ สืบมาจนถึงปัจจุบัน

Cr : Workpoint News

ขอบคุณข้อมูลจาก: การรถไฟแห่งประเทศไทย, ชมรมประวัติศาสตร์สยาม
ภาพประกอบ: พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีกระทำฤกษ์ เริ่มก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – นครราชสีมา เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 ณ บริเวณพิธีหัวลำโพง กรุงเทพฯ