“ไฮโดรเจน” พลังงานทางเลือกใหม่ สัดส่วน 20% นำร่อง PDP 2580


Image by Roman/ Pixabay

หลังจากการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ไทยให้คำมั่นว่าจะก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero) ในปี 2608 เพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติจากการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน

นำมาสู่การจัดทำแผน “นโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน” เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานพร้อมสร้างความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม

 

โรดแมปแผนพลังงานแห่งชาติ

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิด roadmaps แผนพลังงานแห่งชาติ เพื่อพาประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 ประกอบด้วย 5 แผน ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (gas plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (oil plan)

โดยดำเนินการสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนตาม 5 แนวทางหลัก ได้แก่ 1) การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 2) การผลิตและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 3) การเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานไฟฟ้าแบบที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ 4) การใช้พลังงานไฮโดรเจนซึ่งเป็นกรีนเทคโนโลยี และ 5) การใช้เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน (CCS)

ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพ RE

ในส่วนของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือแผน PDP กำหนดว่าในปี 2573 ต้องมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (renewable energy หรือ RE) มากกว่า 30% และตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไปจะต้องมีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% โดยมุ่งเน้นไปที่พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

ถึงแม้พลังงานหมุนเวียนจะเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหา (pain point) ของพลังงานหมุนเวียนคือไม่มีเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้า เพราะไม่สามารถผลิตได้ 24 ชั่วโมง 7 วัน เหมือนพลังงานฟอสซิล และต้องอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 4.5 ชั่วโมงต่อวัน

รวมถึงพลังงานลมก็มีเงื่อนไขเรื่องความไม่แน่นอน ทำให้ประเทศไทยต้องมองหาทางสำรอง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage) และระบบสายส่งกักเก็บพลังงาน (gride storage)

แต่ไทยพบว่า “พลังงานไฮโดรเจน” ความหวังใหม่ที่จะมาสร้างเสถียรภาพการผลิตไฟฟ้า โดยจะเริ่มจากไฮโดรเจนสีฟ้า (blue hydrogen) พัฒนาสู่ไฮโดรเจนสีเขียว (green hydrogen) ควบคู่กับระบบการกักเก็บคาร์บอน ที่จะมาช่วยแก้จุดอ่อนเสริมจุดแข็งด้านพลังงานของประเทศไทยอย่างยั่งยืนตามแนวทางโลก

ความหวังใหม่ไทย “ไฮโดรเจน”

นายวัฒนพงษ์กล่าวว่า พลังงานหมุนเวียนมีจุดอ่อนที่ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอดเวลา จึงต้องรอเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ซึ่งวันนี้ยังมีปัญหาเรื่องราคาค่อนข้างสูงจึงต้องแสวงหาทางเลือกใหม่นั่นคือ พลังงานไฮโดรเจน ที่ทั้งโลกไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้และญี่ปุ่น เริ่มกลับมาให้ความสนใจอีกครั้ง

โดย สนพ.เริ่มศึกษาเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าด้วยกระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (electrolyzer) เป็นการแยกไฮโดรเจนและออกซิเจนด้วยกระแสไฟฟ้า เพื่อให้ได้ไฮโดรเจน ซึ่งการจะได้ไฮโดรเจนสีอะไรขึ้นอยู่กับ “ที่มา” เช่น หากมาจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม จะเป็นต้นทางของการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว แต่ชนิดนี้ยังมีต้นทุนค่อนข้างสูง

ด้วยเหตุนี้ สนพ.ร่วมกับหลายภาคส่วนทั้งภาควิชาการ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงภาคเอกชนที่สนใจการใช้ไฮโดรเจนอย่าง Hydrogen Thailand Club ได้ข้อสรุปว่าจะเริ่มต้นผลิตไฮโดรเจนสีฟ้าก่อน โดยการใช้กระบวนการนี้กับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2574

ตาราง ‘ไฮโดรเจน’ ทางเลือกใหม่

4 ยุทธศาสตร์ “ไฮโดรเจน”

นายวัฒนพงษ์กล่าวว่า สำหรับแนวทางสำคัญที่จะส่งเสริมการผลิตและการใช้ไฮโดรเจนมี 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดและสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ใช้ เพื่อให้ได้ปริมาณมาก ต้นทุนต่ำลง (economies of scale) ด้วยมาตรการสนับสนุนด้านการเงินและการลงทุนสำหรับกลุ่มผู้ใช้ พัฒนากลไกราคาที่มีการพิจารณาเกณฑ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) พร้อมพัฒนาโครงการนำร่อง ซึ่งได้ดำเนินนำร่องร่วมกับ กฟผ. เป็นที่เรียบร้อย

ยุทธศาสตร์ 2 คือ การส่งเสริมการวิจัยและอุตสาหกรรมในประเทศ มาตรการสนับสนุนด้านการเงินและการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการ พัฒนาการตลาดและกลไกการซื้อขายคาร์บอน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ต่อเนื่องทั้งการขนส่ง เก็บและการนำไปใช้

ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการพัฒนาโครงข่ายระบบท่อสำหรับเชื้อเพลิงผสม พัฒนาระบบจัดเก็บ ขนส่ง และสถานีเติมไฮโดรเจน พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับไฮโดรเจนสีเขียว

และยุทธศาสตร์สุดท้ายคือ ปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรการเกี่ยวกับการใช้การผลิต ความปลอดภัย การขนส่ง การจัดเก็บ และการจำหน่าย

3 กลุ่มประเดิมใช้ไฮโดรเจน

นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวเสริมว่า กลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการใช้ไฮโดรเจน มี 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มโรงไฟฟ้าที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า กลุ่มที่ 2 โรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เชื้อเพลิงความร้อน อาทิ น้ำมันเตา และกลุ่มที่ 3 คือภาคขนส่งอย่างกลุ่มรถขนาดใหญ่ เช่น รถบรรทุก ทั้ง 3 กลุ่มศักยภาพนี้เป็นเป้าหมายที่รัฐจะผลักดันการใช้ไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2030

ทั้งนี้ เป้าหมายแรกของ สนพ. เริ่มให้มีการผลิตและใช้ไฮโดรเจนในกลุ่มโรงไฟฟ้าตามแผน PDP ฉบับล่าสุด (ระหว่างปี 2023-2037) โดยกำหนดปริมาณการใช้ไฮโดรเจนมากสุดอยู่ที่ 20% ภายในปี 2580 เนื่องจากเป็นปริมาณที่ไม่กระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานเดิม เช่น ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ พร้อมลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

แต่ยังเป็นห่วงในเรื่องของต้นทุน เพราะจากการศึกษาพบว่า ต้นทุนไฮโดรเจนที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ ควรมีราคาไม่เกิน 2 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม ซึ่งปัจจุบันยังมีต้นทุนที่สูงอยู่ โดยเฉพาะไฮโดรเจนสีเขียวที่มีต้นทุนอยู่ที่ 5-10 เหรียญสหรัฐ และต้นทุนไฮโดรเจนสีฟ้าที่ 3-5 เหรียญสหรัฐ

“ประเทศไทยตอนนี้มีทางเลือก 2 ทาง คือไฮโดรเจนสีฟ้าควบคู่กับการใช้เทคโนโลยี CCS ซึ่งก็มี pain point ในเรื่องราคาที่ค่อนข้างสูง เพราะยังไม่ได้มีการใช้ราคาเชิงพาณิชย์ เช่นเดียวกับไฮโดรเจนสีเขียวที่มีปัญหาเรื่องต้นทุนจากเทคโนโลยี electrolyzer จึงคาดว่า หากมีการพัฒนาเทคโนโลยีและราคาถูกลงจนทำให้ราคาต้นทุนสามารถแข่งขันได้ วันนั้นก็สามารถมุ่งไปสู่ไฮโดรเจนสีเขียวได้อย่างแน่นอน”

แต่อย่างไรก็ตามก็ยังเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ซึ่งเป็นความกังวลหลัก ทั้งในเรื่องจัดเก็บและการขนส่งที่ต้องมีมาตรฐานการควบคุมที่ได้ประสิทธิภาพ

ทั้งหมดนี้ทำให้เริ่มเห็นภาพการวางแผนและการศึกษาเชิงนโยบายเกี่ยวกับ “ไฮโดรเจน” เพื่อมาตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนด้านพลังงานที่จะพาประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เปิดทางไปสู่โลกใบใหม่ที่สะอาดมากยิ่งขึ้นแล้ว