เครือซีพี ผนึก มูลนิธิปิดทองหลังพระ ชูโมเดล Social Enterprise “มะพร้าวน้ำหอม ต. ทุ่งโป่ง” จ. ขอนแก่น เดินหน้าขยายพื้นที่ คาดปี 66 สร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่าล้านบาทต่อปี


“มะพร้าวน้ำหอม” พืชเศรษฐกิจใหม่ที่สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ต.ทุ่งโป่ง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ในทุกมิติ ตั้งแต่การพัฒนาพื้นที่และรูปแบบการทำการเกษตรแบบใหม่ การส่งเสริมอาชีพ ตลอดจนการสร้างรายได้ตลอดทั้งปีให้กับชาวบ้าน ดำเนินการโดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมตำบลบ้านทุ่งโป่ง โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระเเละซีพีขับเคลื่อนร่วมกันตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน กว่า 4 ปี มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 5 รุ่น จำนวน 85 ราย ในพื้นที่ 247 ไร่

คุณกฤษณะ สงวนศักดิ์ ผู้จัดการฝ่าย ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า มะพร้าวน้ำหอม เป็นพืชที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้หลักให้กับชาวบ้าน และยังคงเป็นพืชที่เป็นที่ต้องการของตลาด แผนในอนาคตต้องการผลักดันให้เกษตรกรมีผลผลิตที่มีคุณภาพและมีปริมาณเพิ่มขึ้น 80 % ต่อแปลงต่อราย ปัจจุบันจำหน่ายผลผลิตเข้าสู่ Makro ร้านคาเฟ่ รวมถึงร้านค้าในชุมชนอำเภออุบลรัตน์ เเละจะพัฒนาผลิตภัณฑ์และยกระดับสู่สินค้าประจำถิ่นและประจำจังหวัด ไปพร้อม ๆ กับการสร้างชื่อเสียงให้มะพร้าวน้ำหอม ต.ทุ่งโป่ง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เป็นที่รู้จักและยอมรับในวงการมะพร้าวน้ำหอม


ทั้งนี้มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และเครือซีพีได้พัฒนาโมเดลตั้งเเต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ เเละปลายน้ำ ของวิสาหกิจชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยในอนาคตจะมีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 500 ไร่ และตั้งเป้าว่าในปี 2566 จะมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้นปีละ 180,000 ลูกต่อปี และมีกำไรไม่ต่ำกว่า 1,800,000 บาทต่อปี ในส่วนของผลผลิตจะมีการแปรรูปที่หลากหลายและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ เพื่อง่ายต่อการบริโภคมากขึ้น นอกจากนี้กลุ่มวิสาหกิจฯ จะต้องบริหารจัดการธุรกิจได้ด้วยตัวเอง สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพื่อให้เป็นไปตามแนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” และก้าวสู่การเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprises หรือ SE) อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

#มูลนิธิปิดทองหลังพระ #ซีพีร้อยเรียงความดี#มะพร้าวน้ำหอมบ้านทุ่งโป่ง #ศาสตร์ของพระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน #ธุรกิจเพื่อสังคม