ผู้ว่า ธปท. ชี้เศรษฐกิจไม่ได้อยู่ในโหมดการกระตุ้น แต่เป็น Normalize Policy ‘นโยบายอะไรก็ตามที่บั่นทอนเสถียรภาพ’ คือความเสี่ยง

วันที่ 24 เมษายน 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดงานพบปะสื่อมวลชน Meet the Press โดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้บรรยายภาวะเศรษฐกิจในช่วงปีที่ผ่านมาและแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ พร้อมชี้ว่าความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีไม่มาก เสถียรภาพคือปัจจัยพื้นฐาน “นโยบายอะไรก็ตามที่บั่นทอนเสถียรภาพ’ คือความเสี่ยง

ไทยเจอ 4 shocks

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า วันนี้จะมาคุยเรื่องเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมามักจะพูดกันว่า ไทยเจอวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 แต่โดยข้อเท็จจริงเศรษฐกิจไทยไม่ได้เผชิญเพียงโรคโควิด แต่เผชิญกับ 4 shocks

โดย shock แรก คือโรคโควิด ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกหยุดชะงัก ธุรกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง ประเทศไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวก็ถูกกระทบหนัก ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) ไทยในปี 2563 หดตัว 6.1% จากนักท่องเที่ยวที่หายไปเยอะส่งผลมากต่อไทย การจ้างงานหายไป

shock ที่สอง ต้นปี 2565 เจอเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงาน ราคาอาหาร พุ่งสูงขึ้น เงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มขึ้น รวมถึงเงินเฟ้อของไทยก็เพิ่มขึ้นสูง โดยขึ้นไปสูงสุดในเดือนสิงหาคม 2565 เงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลกทำให้ผู้กำหนดนโยบาย คือธนาคารกลางทั่วโลกขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วและแรงพร้อมเพรียงกันอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเป็นปรากฎการณ์ ผลที่ตามมาจากการที่ดอกเบี้ยขึ้นเร็วและแรง

ส่งผลให้เกิด shock ที่สาม ดอกปีที่แล้วค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าสูงสุดในรอบ 20 ปี ส่วนประเทศที่ค่าเงินผูกติดกับดอลลาร์ก็อ่อนค่าลง รวมถึงเงินบาทที่อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 16 ปี อยู่ที่ 38.40 บาทต่อดอลลาร์ ผลจากการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่า

ทำให้ shock ที่ 4 เกิดเหตุการณ์ที่ภาษาไทยใช้คำว่า น้ำลด ตอผุด จากการที่ทั่วโลกชินกับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาอย่างยาวนาน ทุกคนชินกับการทำธุรกิจภายใต้บริบทที่ดอกเบี้ยต่ำมายาวนาน พอดอกเบี้ยขึ้นเร็วและแรง ทำให้เห็นธุรกิจที่มี business model หรือการลงทุนต่างๆ ภายใต้สมมติฐานอัตราดอกเบี้ยต่ำ และยาวนาน เริ่มเกิดปัญหา ปัญหาแรกที่เห็น คือ ที่อังกฤษ พอดอกเบี้ยขึ้นก็มีปัญหา ก่อนหน้านี้ก็ที่อเมริกา ที่เห็นปัญหาในบรรดาธนาคารภูมิภาค อย่างซิลิคอนวัลเลย์แบงก์(Silicon Valley Bank) ที่พอร์ตการลงทุนไปลงทุนในพันธบัตรระยะยาวจำนวนมาก พอดอกเบี้ยขึ้น ทำให้สินทรัพย์ราคาลดลง ต่อมา เป็นปัญหาที่ไม่ได้เกิดจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยตรง แต่เป็นปัญหาที่มีมาระยะหนึ่งแล้ว คือ ธนาคารเครดิตสวิส ที่อยู่มา 160 กว่าปี ถูกเทคโอเวอร์ภายใน 1 สัปดาห์ คือ เห็นความผันผวนในตลาดการเงินพอสมควร

สำหรับประเทศไทย shock สุดท้ายนี้ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินไทยค่อนข้างจำกัด เพราะ exposure โดยตรงของธนาคารไทยกับธนาคารภูมิภาคของสหรัฐค่อนข้างมีจำกัด

เศรษฐกิจผ่านมาได้ ฟื้นตัว เสถียรภาพเข้มแข็ง

ดร.เศรษฐกิจพุฒิ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าไทยเจอหลาย shock ด้วยกัน เป็น shock ที่หลากหลาย มีระยะเวลานาน และหนัก แต่สุดท้าย ก็ผ่านมาได้ในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ช่วงโควิด GDP ไตรมาส 2 หดตัว 12% ขณะที่ล่าสุดน่าจะกลับมาโตได้ 3.6% ในแง่ของระดับ GDP น่าจะกลับมาใกล้เคียงกับก่อนโควิดได้ในไตรมาสแรกปีนี้

แต่ที่ชัดที่สุด คือเรื่องการท่องเที่ยว เป็นที่ทราบกันดีว่า ก่อนโควิด นักท่องเที่ยวมาไทยปีละ 40 ล้านคน มีระยะหนึ่งในไตรมาส 2-3 ปี 2563 ที่เกิดโควิด ไม่มีนักท่องเที่ยวมาไทยเลย และภายใน 12 เดือนช่วงนั้น หรือสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2564 ไทยมีนักท่องเที่ยว 31,000 คน จากช่วงก่อนที่เข้ามาปีละ 40 ล้านคน สะท้อนถึงขนาดของ shock ที่มหาศาล ขณะที่ปีนี้น่าจะเป็นข่าวดีที่การท่องเที่ยวฟื้นขึ้นค่อนข้างดี ปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 28 ล้านคน ล่าสุดมีนักท่องเที่ยวมาไทย 66,000 คนต่อวัน เทียบกับช่วงโควิดที่มาไทย 12 เดือน 31,000 คน แสดงถึงว่า เมื่อผ่านจุดต่ำสุดแล้ว สามารถฟื้นกลับมาได้อย่างดี

สิ่งที่ธปท.สนใจคือ ท่องเที่ยวไม่ใช่แค่มีผลต่อ GDP แต่มีผลต่อรายได้ของคน หรือการจ้างงาน ตัวเลขที่ธปท.ติดตาม(Track) เยอะอย่างใกล้ชิดช่วงเกิดวิกฤติต่าง ๆ ตั้งแต่โควิดมา คือ จำนวนผู้ว่างงานและเสมือนผู้ว่างงาน ตัวเลขว่างงานของไทยปกติไม่ค่อยสูง แต่ตัวที่ธปท.ใส่ใจ คือ เสมือนว่างงาน คือคนที่มีงานทำ แต่ทำไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน หรือ underemployed เช่น อาจจะขับ Grab ส่งนั่นนี่ แต่ทำงานไม่เต็มที่ ไม่เต็มศักยภาพ ที่ธปท.มองว่าเป็นตัวสำคัญที่ต้องติดตามในช่วงที่คนมีรายได้สูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดเศรษฐกิจของไทยมีแรงงานแบบประกอบอาชีพอิสระค่อนข้างเยอะ การดูตัวเลขคนว่างงานเฉยๆ ไม่น่าจะพอ ธปท.จึงดูตัวเลขคนว่างงานและเสมือนว่างงาน โดยก่อนโควิดอยู่ที่ 2.3 ล้านคน แต่ช่วงหนักสุดของโควิดเพิ่มขึ้นมาเป็น 6.2 ล้านคน แต่ขณะนี้ล่าสุด ไตรมาส 4 ปี 2565 ตัวเลขกลับมาอยู่ที่ 2.6 ล้านคน ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด

ดร.เศรษฐกิจพุฒิ กล่าวว่า ถ้ามองในด้านเศรษฐกิจค่อนข้างโอเค การเติบโตของ GDP กลับมาแล้ว อัตราเสมือนว่างงานกลับมาใกล้เคียงแล้ว การท่องเที่ยวยังไม่ถึง 40 ล้านคน แต่แนวโน้มค่อนข้างใช้ได้ เงินเฟ้อ ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม แต่ก็กลับเข้ามาอย่างน้อยสุดในเป้าที่ตั้งไว้ ก่อนโควิด เงินเฟ้อโลกต่ำมาก รวมถึงไทย โดยปัญหาของไทยก่อนโควิดคือ เงินเฟ้อต่ำเกินไป เป้าเงินเฟ้อของไทยคือ 1-3% ก่อนโควิด เงินเฟ้ออยู่ที่ 0.7% พอเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงาน ราคาอาหารเพิ่มขึ้นเยอะ ทำให้เงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2565 เพิ่ม 7.9% ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย ไม่เห็นสัญญาณว่าเครื่องยนต์เงินเฟ้อของไทยจะติดเร็วและแรง ธปท.จึงดำเนินนโยบายการเงินแบบที่ที่พูดกันบ่อย ๆ คือ ค่อยเป็นค่อยไป เงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะลง ล่าสุด เดือนมีนาคม 2566 เงินเฟ้ออยู่ที่ 2.8% ขณะที่ปีนี้คาดว่าโดยรวมทั้งปีเงินเฟ้อจะใกล้เคียง 3% หรือขอบบนของกรอบเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ และเมื่อมองไปข้างหน้า ที่ยังสูงอยู่คือเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักราคา อาหารและพลังงานออก

ขณะเดียวกัน ถ้าดูค่าเงินก่อนโควิดค่าเงินบาทอ่อนค่าสุด 38.50 บาทต่อดอลลาร์ จาก 30 บาทต่อดอลลาร์ ล่าสุด เงินบาทปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น เช้าวันนี้(24 เม.ย.) อยู่ที่ 34.4 บาทต่อดอลลาร์ แสดงว่าเสถียรภาพเงินบาทเริ่มกลับมา อีกตัวหนึ่ง ที่ตอนนั้นมีคนให้ความสนใจกันมาก คือทุนสำรองระหว่างประเทศ ก่อนโควิด ไทยมีทุนสำรอง 260 พันล้านดอลลาร์ ปี 2565 เป็นปีที่มีทุนสำรองต่ำสุด คือ 228 พันล้านดอลลาร์

“ขอย้ำว่า ทุนสำรองที่ลดลงส่วนหนึ่ง มาจากการดูแลค่าเงิน แต่อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทุนสำรองลดลง คือ การที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เพราะทุนสำรองฯ ไม่ได้มีเพียงเงินสกุลดอลลาร์ แต่มีเงินสกุลอื่นด้วย หยวน เยน ยูโร พอดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เงินเหล่านี้ก็ค่าน้อยลง ทำให้ตัวเลขทุนสำรองลดลง”

แต่ล่าสุด ทุนสำรองทั้งจากเรื่องค่าเงินและความจำเป็นในการดูแลค่าเงินบาท กลับมาที่ 252 พันล้านดอลลาร์ ใกล้เคียงมากกับระดับก่อนโควิด

ส่วนเสถียรภาพในระบบการเงิน ถือเป็นจุดแข็งของไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเรื่องเงินทุน สภาพคล่อง มีความเข้มแข็ง มีเสถียรภาพพอสมควร ทำให้เมื่อเจอ shock จากธนาคารต่างประเทศที่มีปัญหา แต่สถาบันการเงินไทยผ่านพ้นไปได้ค่อนข้างดี โดย BIS Ratio อยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด 19% ทั้งก่อนโควิด ช่วงโควิด จนถึงปัจจุบัน ส่วนตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL(Non-Performing Loan) ที่กังวลว่าจะขึ้นเยอะ พบว่า จากมาตรการต่าง ๆ ในการดูแลลูกหนี้เพื่อสนับสนุนให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ตัวเลข NPL ปรับเพิ่มจาก 3% ไปอยู่ที่ 3.1% ล่าสุดลงมาที่ 2.8% มองไปข้างหน้าเอ็นพีแอลมีโอกาสเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่เวลานั้นมีคนกังวลกันมากว่าหลังจากมาตรการต่าง ๆ หมดไป NPL จะพุ่งกระฉูด(NPL Cliff) แต่ข้อเท็จจริงแล้วไม่เห็น NPL และบริษัทเครดิตเรตติ้ง ขณะนี้ได้ปรับลดตัวเลข NPL ของไทยลงจากอัตราสูงสุดที่เคยคาดไว้

ครึ่งหลังของปีโตสูงกว่า 4%

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ในเรื่องเศรษฐกิจ หากมองไปข้างหน้า พบว่า การฟื้นตัวยังต่อเนื่อง(Intact) มีการฟื้นตัวในหลายมิติ โดย GDP ครึ่งหลังปีนี้จะดีกว่าครึ่งปีแรก โดยจีดีพีครึ่งปีแรก จะโตได้ 2.8-2.9% ขณะที่ครึ่งปีหลังโตสูงกว่า 4% ขณะที่การส่งออกจะไม่ค่อยดี ครึ่งปีแรกติดลบค่อนข้างมาก ประมาณ 7% แต่ครึ่งหลังจะเพิ่มขึ้น 4% ขณะที่ปัจจัยที่ช่วยเศรษฐกิจไทยได้มาก คือการท่องเที่ยว ที่ครึ่งปีแรกจะนักท่องเที่ยวเข้ามา 12 ล้านคน ขณะที่ครึ่งปีหลัง 16 ล้านคน รวมทั้งปี 28 ล้านคน นอกจากนี้ การฟื้นตัวของรายได้ ช่วยให้การบริโภคดีขึ้น และดีต่อเนื่อง ทำให้เครื่องยนต์สำคัญที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยปีนี้ คือ ท่องเที่ยวและการบริโภค ที่น่าจะชดเชยปัญหาจากการส่งออกได้พอสมควร โดยการบริโภค ครึ่งปีแรกจะโต 4% ขณะที่ครึ่งปีหลังโตเกือบ 4% โดยรายได้นอกภาคเกษตรที่เคยได้ผลกระทบมากจากโควิด และการท่องเที่ยว พบว่ากลุ่มนี้มีการเติบโตของรายได้ที่ใช้ได้ ครึ่งปีแรกโต 7.6% และโตต่อเนื่องในครึ่งปีหลังเกิน 6% ส่วนรายได้ของเกษตรกรอาจจะดูไม่ค่อยดีนักในครึ่งปีหลัง ส่วนใหญ่มาจากฐานราคาสินค้าเกษตรในช่วงเดียวกันปีก่อนสูงกว่าปีนี้ค่อนข้างมาก

ด้านอัตราเงินเฟ้อค่อย ๆ กลับเข้ามาอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไป และน่าจะอยู่ในกรอบอย่างต่อเนื่อง โดยครึ่งปีแรกเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.3% สูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ 1-3% แต่ครึ่งปีหลังน่าจะต่ำกว่ากรอบ โดยล่าสุดเดือนมีนาคม อยู่ที่ 2.8% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ธปท.ใส่ใจ เพราะจะสะท้อนเรื่องเครื่องยนต์เงินเฟ้อจุดติดหรือไม่นั้น พบว่า สูงกว่าในอดีต ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ธปท.ใส่ใจเงินเฟ้อพื้นฐานในภาคบริการ เพราะตัวเลขอื่นมีแนวโน้มขาลง ซึ่งถ้าการท่องเที่ยวฟื้นตัวสูง มีโอกาสที่เงินเฟ้อภาคบริการจะไม่ยอมลง คือถูกดันขึ้นจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นภาคที่จับตามองอยู่ เพราะสะท้อนความเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อไม่ลงอย่างที่คาด เนื่องจากการตัดสินใจนโยบายการเงินนอกจากข้อมูลปัจจุบันแล้ว ต้องมองไปข้างหน้าด้วย ซึ่งถ้านักท่องเที่ยวกลับเข้ามามาก เงินเฟ้อหมวดนี้มีโอกาสจะขึ้นได้ แต่โดยรวมแล้วเงินเฟ้อน่าจะกลับเข้ามาอยู่ในกรอบ และสอดคล้องกับการฟื้นตัวในภาพรวมเศรษฐกิจ

การฟื้นตัวของจีนอาจไม่ส่งผลต่อไทยมากเท่าเดิม

สำหรับความเสี่ยงที่ธปท. จับตามองนั้น สำหรับโลก ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ขณะนี้มีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกพอสมควร ถามว่า มีสัญญาณชัดหรือไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง ถ้าดูตัวเลขต่าง ๆ ยังออกมาค่อนข้างดี การคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดก็ยังไม่แน่นอน แต่ภาพรวมเชื่อได้ว่า มาตรการของธนาคารกลางต่าง ๆ ที่มีทั้งการเหยียบเบรก การรัดเข็มขัด การแก้ปัญหาธนาคารต่าง ๆ ท้ายที่สุดไม่ช้าก็เร็ว น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ตอนนี้อาจมีสัญญาณไม่ชัด มีบางจุดอาจจะยังร้อนแรงอยู่

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีผลต่อไทยมาก คือจีน ถือเป็น key ของไทย โดยระหว่างที่เศรษฐกิจหลายประเทศชะลอตัว โดยจีนมีการเปิดประเทศ และเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี แต่คำถามหนึ่ง คือ ที่ผ่านมา การส่งออกไม่ฉพาะของไทย ของประเทศอื่นในภูมิภาคด้วย ที่ส่งออกไปจีน ไม่ฟื้นตัวอย่างที่ควร ส่วนหนึ่งเพราะการฟื้นตัวของจีนมาจากภาคบริการไม่น้อย ทำให้ไม่ดึงดูดการลงทุน และการส่งออกจากประเทศอื่น ๆ เข้าไป สำหรับไทยอย่างที่ทราบเศรษฐกิจโดยรวมเชื่อมกับจีนมาก ลักษณะการฟื้นตัวของจีนที่เน้นภาคบริการ ทำให้มีผลต่อการส่งออก

นอกจากนี้ การเชื่อมต่อของไทยและประเทศอื่นในเอเชียกับจีน จะทำให้การฟื้นตัวของจีนส่งผลต่อการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยและประเทศอื่นในภูมิภาคเท่าเดิมหรือไม่ เพราะมีสัญญาณว่า ในบางเซคเตอร์ จีนมีการลงทุนสร้างอุตสาหกรรม สร้างกำลังการผลิตของเขาเอง จึงเป็นไปได้ว่าจีนมีศักยภาพในการพึ่งพาตัวเองมากขึ้น สร้างอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องนำเข้า มองไปข้างหน้าการฟื้นตัวของจีน อาจไม่ส่งผลต่อไทยและประเทศในภูมิภาคเหมือนในอดีต คือ การส่งออกของไทยอาจจะไม่ฟื้นตามจีน ขณะที่บางแห่งมีความเห็นว่า การที่จีนไม่นำเข้า สะท้อนจากเรื่องสินเชื่อในจีนด้วย อันนี้ยังเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่

“อีกคำถามหนึ่งเกี่ยวกับโลก คือจะมี surprise หรือมีอะไรสะดุดหรือไม่ ซึ่งโยงกับเรื่องปัญหาธนาคารในต่างประเทศจบหรือยัง เป็นคำถามที่ตอบยาก ที่ตอบได้คือมันดูคลี่คลายลง แต่ถามว่ามีใครกล้าฟันธงหรือไม่ ว่ามันจบแล้ว ผมว่ายาก และปัญหาในตลาดการเงินโลกยังไม่จบ จากปัญหาการลงทุนในสินทรัพย์ในช่วงดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเร็ว เพียงแต่ยังไม่เห็น”

ก่อนหน้านี้ จากการคุยกับนักวิเคราะห์ ส่วนใหญ่มองว่าปัญหาจะไปเกิดในกลุ่ม non-bank แต่กลายเป็นว่าปัญหามาเกิดที่ธนาคาร เกิดปัญหาที่ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ เพราะฉะนั้น มองไปข้างหน้า มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาจากการที่ดอกเบี้ยขึ้นเร็วและแรง และความผันผวนในตลาดการเงินโลกยังมีอยู่และไม่จบ แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะทำให้ปัญหาคลี่คลายลง และที่น่าสังเกตคือ มาตรการที่ธนาคารกลางสหรัฐออกมา เรียกได้ว่า จัดเต็มมากในการแก้ปัญหา ใช้ยาแรงมาก แต่ไม่นิ่ง เลยทำให้ต้องคอยติดตาม และยังมีอะไรที่เป็นความเสี่ยงอยู่

“โดยรวมแล้ว ความเสี่ยงจากโลกที่ต้องจับตามอง สำหรับผม คือ จีน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับตอผุด”

ยังดูแลหนี้ครัวเรือน

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เรื่องดอกเบี้ยขาขึ้น เป็น Top of Mind ของแบงก์ชาติ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ดำเนินนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ และให้รายได้ของคนและบริษัทเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยจุดเปราะบาง คือ หนี้ครัวเรือน โดยหนี้ครัวเรือนของไทย 60% มีดอกเบี้ยคงที่ และมีค่างวดจำนวนแน่นอน ผลกระทบโดยตรงจากการที่ดอกเบี้ยขึ้นจึงไม่มากเท่ากับที่อื่นมีสัดส่วนหนี้ที่มีดอกเบี้ยแบบลอยตัว ทำให้บรรเทาผลจากดอกเบี้ยขาขึ้นต่อภาคส่วนต่างๆ

ทั้งนี้ เรื่องธปท. ยังกังวล คือ หนี้ครัวเรือน ในด้านผลกระทบต่อลูกหนี้เป็นส่วนใหญ่ ยอมรับว่า เป็น hang over หรือ ผลส่วนหนึ่งที่ได้รับมาจากโควิด เป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ส่วนด้านเจ้าหนี้ธนาคารพาณิชย์ได้มีการสำรองไว้แล้วจึงไม่กังวลนัก และไม่ลุกลามกลายเป็นปัญหาในเรื่องเสถียรภาพของภาคการเงิน

หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่อยู่กับไทยมายาวนาน ก่อนโควิดก็เพิ่มขึ้นมากและเร็ว มีสัดส่วนถึง 80% ของจีดีพี พอช่วงโควิด GDP หด ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ตัวเลขก็พุ่งไปสูงกว่า 90% ล่าสุดอยู่ในระดับสูง 80% กว่า ซึ่งยังสูงกว่าที่ธปท.อยากเห็น และกังวลผลต่อเรื่องเสถียรภาพที่สุด มีตัวเลขอ้างอิงว่า หนี้ครัวเรือนไม่ควรเกิน 80% ของ GDP ซึ่งหลังเกิดโควิด ตัวเลขวิ่งไปค่อนข้างสูง และเมื่อคาดการณ์ไปข้างหน้า สัดส่วนนี้มีแนวโน้มลดลง แต่ลงช้า ใช้เวลานาน และถ้าปล่อยตามโดยไม่ดูแลจะใช้เวลานานมากที่จะกลับมาอยู่ที่ 80% ซึ่งไม่ดีต่อเสถียรภาพ เพราะหนี้ครัวเรือนสูงกว่าที่ควรเป็น ทำให้ที่ผ่านมาธปท. มีการออกมาตรการต่าง ๆมาดูแล

นอกจากนี้ในระดับ 80% ของจีดีพี ไม่ได้น่ากังวลไปหมด มีเพียงเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ช่วงหลังหนี้โตเร็ว หรือจ่ายอย่างไรหรือทำงานจนตาย จนเกษียณ ก็ยังเป็นหนี้อยู่ ไม่หลุดพ้นจากกับดักหนี้ กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มที่พยายามหามาตรการต่าง ๆ มารองรับ และปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่มายาวนาน ต้องใช้เวลาในแก้ไข และแก้ให้ถูกหลักการ คือ ต้องแก้แบบครบวงจรไม่ให้กลับมาเป็นหนี้อีก

หลักการแก้หนี้ครัวเรือน จึง

    • 1. ไม่สร้างภาระเพิ่มเติมให้ลูกหนี้ ทำให้ไม่ควรใช้มาตรการพักหนี้เป็นเวลานาน เพราะช่วงพักหนี้ยังคิดดอกเบี้ยอยู่ ทำให้ภาระลูกหนี้ไม่ลด ธปท.จึงเน้นเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้

 

    • 2. ไม่สร้างปัญหา moral hazard ความหมายของผมง่าย ๆ อย่าไปสร้างแรงจูงใจให้คนไม่ชำระหนี้ ถ้ามีศักยภาพในการจ่ายหนี้ก็จ่าย การทำให้คนที่มีความสามารถในการจ่ายหนี้เลิกจ่าย เป็นอันตรายมาก กระทบต่อเสถียรภาพ

 

    3. อย่าทำอะไรที่กระทบให้คนไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ในอนาคต การทำอะไรระยะสั้นที่ดูดี แต่ท้ายสุด ข้อมูลไม่เพียงพอให้เจ้าหนี้ประเมินความเสี่ยงของลูกหนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ นี่คือโควิดก็ยังใช้อยู่ เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวที่ยังทำอยู่ และหลังจากนี้จะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมทั้งฝั่งผู้กู้ และผู้ให้กู้

นโยบายที่บั่นทอนต่อเสถียรภาพคือความเสี่ยง

“ส่วนความเสี่ยงในไทย คือ นโยบายในประเทศที่ต้องจับตามองให้ดี นโยบายที่กระทบเสถียรภาพ อะไรที่เป็นนโยบายที่บั่นทอนต่อเสถียรภาพ นำไปสู่ความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจข้างหน้า”

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ขณะนี้ภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ปีนี้โตได้ 3% เศษ เป็นอัตราการเติบโตที่สอดคล้องกับศักยภาพระยะยาวของเศรษฐกิจไทย ถ้าร้อนแรงกว่านี้ก็อาจกระทบต่อเงินเฟ้อและที่มาการฟื้นตัวมีความเสถียร นักท่องเที่ยวก็มี 28 ล้านคน การบริโภคฟื้นต่อเนื่อง “สองตัวนี้สะท้อนว่าความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มากขนาดนั้นเทียบกับบริบทเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในโหมดการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ควรเป็นโหมดปรับนโยบายให้เข้าสู่สภาวะปกติ”

ช่วงโควิด นโยบายการเงินมีความจำเป็นต้องดูแล แต่จุดนี้ต่างจากช่วงโควิดมาก นโยบายต่างๆ จึงควรเข้าสู่สภาวะปกติ ทางการคลังก็ค่อย ๆ consolidate การขาดดุบการคลังที่มีมากก็ทะยอยลดลง

โดยขณะนี้ต่างชาติ rating agency ให้ความสำคัญที่สุด เรื่องเสถียรภาพ เพราะมีความชัดเจนจากต่างประเทศที่เจอ shock ต่าง ๆ ความสำคัญจึงเป็นเรื่องเสถียรภาพ ที่มาจากหลายอย่าง ทั้งเสถียรภาพการคลัง เสถียรภาพฝั่งราคาเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงินที่เข้มแข็ง เสถียรภาพต่างประเทศ

“ผมเข้าใจนะ หลายคนพูดว่า แบงก์ชาติพูดทีไรก็พูดเรื่องเสถียรภาพ แต่ที่สำคัญ เรื่องพวกนี้เป็นปัจจัยพื้นฐานจริงๆ เป็นอะไรที่จะไม่เห็นความสำคัญจนกว่ามันจะหายไป เหมือนเรื่องสุขภาพ เราไม่คิดอะไร จนกระทั่งสุขภาพมันหายไป กลายเป็นสุขภาพสำคัญที่สุด เสถียรภาพก็เหมือนกัน คำถามเรื่องความเสี่ยง ก็คือ กังวลเรื่องนโยบายที่กระทบต่อเสถียรภาพ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ เช่น นโยบายอะไรก็ตามที่บั่นทอนเสถียรภาพที่เรา concern”

ถ้ามองวิกฤติเศรษฐกิจต่างประเทศที่เกิดขึ้นมาจากอะไรบ้างเสถียรภาพที่สำคัญมีด้วยกัน 4 ด้าน

  1. เรื่องเงินเฟ้อ ถ้าเงินเฟ้อไม่ใช่แค่ 2-3% แต่วิ่งไปเป็นสิบๆ เปอร์เซ็นต์ ที่ส่วนมากเกิดกับประเทศที่พื้นฐานมีปัญหาการคลัง เพราะเมื่อมีรายจ่าย ก็ต้องหาเงินมาจ่าย เมื่อกู้ก็ไม่ได้ ไม่มีใครอยากให้กู้ ก็พิมพ์เงินขึ้นมาใหม่ ด้วยการออกพันธบัตร เป็นพันธบัตรที่ขายให้ประเทศไหนก็ไม่มีใครซื้อ ก็ไปบังคับให้ธนาคารกลางซื้อ เพื่อเอาเงินจากธนาคารกลางให้รัฐบาลใช้จ่าย ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้น ความเชื่อมั่นในกระบวนการ นโยบายต่าง ๆ ไม่มีการการแยกระหว่างนโยบายการคลังกับนโยบายการเงินที่ปกติต้องแยกกัน กลายเป็นว่านโยบายการเงินต้องไปตอบสนองนโยบายการคลัง เสถียรภาพก็หายไป นี่เป็นตัวอย่าง
  2. เรื่องค่าเงิน ที่ทำให้ทุนสำรองน้อยลง เงินไหลออกนอกประเทศเหมือนที่ไทยเจอปี 2540 คือ อะไรที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เจ้าหนี้ หรือที่เกิดในประเทศอังกฤษ หลังจากนายกรัฐมนตรีประกาศนโยบายขาดดุลการคลังจำนวนมาก จะมีการลดภาษี แต่การชดเชยการขาดดุลงบประมาณไม่ค่อยชัด ทำให้ความเชื่อมั่นหายไป และเกิดความปั่นป่วนในตลาดเงิน
  3. เสถียรภาพการคลัง ซึ่งเป็นพื้นฐานของหลายอย่าง อะไรที่ทำให้ภาระการคลังเพิ่มขึ้นสูงเกินไป ภาระหนี้ต่องบประมาณที่สูง ก็ส่งผลกระทบ มีตัวอย่างที่เกิดในประเทศกรีซ
  4. เสถียรภาพระบบการเงิน คือความเข้มแข็งของระบบการเงินต่าง ๆ ถ้าทำอะไรที่สร้างแรงจูงใจ เกิด moral hazard ทำให้คนมีศักยภาพที่จะจ่ายหนี้ เป็นไม่จ่ายดีกว่า ทำลายวินัยการชำระหนี้ หรือระบบแบงก์มีปัญหา อย่างที่เกิดในต่างประเทศ

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า…

“การที่เศรษฐกิจไทยสามารถผ่าน shock ต่าง ๆ มาได้ แสดงว่ามีปัจจัย มีความยืดหยุ่นพอสมควร และจะทำให้เศรษฐกิจไปต่อได้ ภาพรวมเศรษฐกิจตอนนี้ โจทย์จึงไม่น่าอยู่ที่การกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่น่าจะอยู่ด้านเสถียรภาพมากกว่า และเศรษฐกิจโดยรวมที่ฟื้นตัวแล้ว นโยบายที่น่าจะสำคัญกว่าการกระตุ้นระยะสั้น คือ การสร้างเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ทำโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้เศรษฐกิจไปได้ในอนาคต ถ้ามองไปข้างหน้า การมุ่งไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนขึ้น sustainability ก็เป็นโจทย์ที่อยากเห็นให้เกิดการเติบโตได้อย่างยั่งยืน มากกว่าการกระตุ้นระยะสั้น ซึ่งถ้าถอยกลับไปหลายปีที่ผ่านมา ได้เห็นนโยบายกระตุ้นสไตล์นี้มาเยอะแล้ว ท้ายที่สุดก็ได้ผลชั่วคราว แถมมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นจากการรีบโตขึ้นมา การทำนโยบายเศรษฐกิจจึงต้องมองให้ครบ รวมถึงไทยมีงบระมาณที่จำกัด ทรัพยากรก็มีจำกัด”

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายในเชิงประชานิยมที่มีการพูดกันมายาวนาน ว่าดูแลคนให้ครบ อย่างแจกเงิน แต่ก็ไม่ควรให้เยอะเกินไป มากเกินไป นโยบายที่ดูแลเป็นจุด ๆ ก็เพื่อหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนกับนโยบายอื่น ๆ ซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อย่าง นโยบายช่วยเด็ก ที่เป็นนโยบายที่ดี ก็เอาข้อมูลต่าง ๆ มาประกอบการวิเคราะห์ ประกอบการตัดสินใจ เอางบประมาณมาใช้อย่างยั่งยืนดีกว่า ช่วยสร้างเสถียรภาพการเติบโตระยะยาว ที่สำคัญไม่ควรเป็นนโยบายทอดแห เช่น ลดให้ทุกคน ทำให้เงินที่ออกไป ไม่ไปในจุดที่ควรจะไป อย่างให้ไปแล้วคนรวยใช้ กลายเป็นการเอางบประมาณที่มีจำกัดไปให้คนรวย แต่ถ้าเอาเงินจำนวนนั้นไปให้กับคนที่ขาดจริง ๆ จะได้ผลมากกว่าเยอะ ทำอะไรที่ให้กับคนจนน่าจะดีกว่าเหวี่ยงแห

ที่มา ไทยพับลิก้า