สิงคโปร์ ไทย ประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับผลกระทบ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย

สิงคโปร์และไทยน่าจะเป็นประเทศแรกๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับผลกระทบ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย จากการประเมินของนักเศรษฐศาสตร์

นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าเอเชียจะไม่หนีไม่พ้นจากผลกระทบ หากสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่มีบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าประเทศอื่นๆ จากรายงานของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี(CNBC)

ภาวะเงินเฟ้อและภาวะถดถอยในสหรัฐอเมริกายังไม่แน่นอน ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐยังคงจุดยืนการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัว ผ่านการขึ้นดอกเบี้ย

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ติดลบสองไตรมาสติดต่อกันในช่วงสองไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งบางส่วนมองว่าเป็นภาวะถดถอย “ทางเทคนิค” แต่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเต็มที่เมื่อใดนั้นยังเห็นไม่ตรงกันอยู่บ้าง

แต่นักเศรษฐศาสตร์มองว่า สิงคโปร์และไทยน่าจะเป็นประเทศแรกๆที่ได้รับผลกระทบ หากสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย

สิงคโปร์

สิงคโปร์ “เปราะบาง” ต่อภาวะถดถอยของสหรัฐฯมากกว่า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพราะสิงคโปร์ต้อง “พึ่งพา” เศรษฐกิจอื่นๆอย่างมาก Chua Hak Bin นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของเมย์แบงก์( Maybank)กล่าว

“ผมมองว่า สิงคโปร์น่าจะโดนก่อน” Chua Hak Bin ตอบคำถามที่ว่า ประเทศไหนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้รับผลกระทบก่อนหากสหรัฐฯตกอยู่ในภาวะถดถอย สิงคโปร์น่าจะเป็นประเทศแรก เนื่องจากการพึ่งพาการส่งออก และเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดเล็กและเปิดกว้าง

Selina Ling หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโอซีบีซี(OCBC) ก็มองตรงกัน โดยกล่าวว่า “จากการประเมินคร่าวๆ คิดว่า ประเทศที่เศรษฐกิจเปิดกว้างและต้องพึ่งพาการค้า เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ และอาจจะมีประเทศไทยด้วยที่จะได้รับผลกระทบก่อน ซึ่งก็เป็ฯตามปกติอยู่แล้ว”

 

  • ความเชื่อมโยง

 

รายงานช่วงปลายเดือนสิงหาคมของเมย์แบงก์ระบุว่า การเติบโตของจีดีพีสิงคโปร์นั้น ที่ผ่านมาสัมพันธ์อย่างมาก กับวัฏจักรธุรกิจของสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นระบบเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออก

สิงคโปร์ไม่มีตลาดในประเทศมากนักและต้องพึ่งพาบริการทางการค้าเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก Chua อธิบาย ซึ่งรวมถึงกิจกรรมการขนส่งและคลังสินค้า

อัตราส่วนการค้าต่อ GDP ของสิงคโปร์ในปี 2564 อยู่ที่ 338% ตามข้อมูลของธนาคารโลก อัตราส่วนการค้าต่อ GDP เป็นตัวบ่งชี้ระดับการเปิดกว้างของเศรษฐกิจต่อการค้าระหว่างประเทศ

Chua กล่าวว่า “ความสัมพันธ์และการพึ่งพาอุปสงค์ภายนอกของสิงคโปร์นั้นสูงมาก” หากสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย “การพึ่งพาและผลที่ตามมา” นั้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออกมากขึ้น

สิงคโปร์มีความเชื่อมโยงอย่างมากกับส่วนต่างๆของโลก และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในประเทศใดก็ตาม จะส่งผลกระทบต่อสิงคโปร์อย่างแน่นอน Irvin Seah นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก DBS Group Research กล่าว

แต่ก็ไม่คิดว่าสิงคโปร์จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้หรือปีหน้า

รายงานของเมย์แบงก์ระบุว่าหากสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย ก็น่าจะถดถอยไม่มาก

อย่างไรก็ตาม Chua กล่าวว่าสหรัฐฯ อาจเผชิญกับภาวะถดถอยที่ “ยืดเยื้อ” และสิงคโปร์จะเข้าสู่ภาวะถดถอยที่ยาวนานหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับการเปิดประเทศของจีนอีกครั้ง เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์

  • เศรษฐกิจที่พึ่งพาส่งออก

 

สิงคโปร์เป็นผู้ส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้ารายใหญ่ แต่ผลผลิตในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ลดลง 6.4% ในเดือนกรกฎาคมเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จากข้อมูลของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ(Economic Development Board:EDB)ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลภายใต้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์

ผลผลิตในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ลดลง 4.1% ในขณะที่โมดูลและส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ หดตัว 19.7% เนื่องจาก “คำสั่งซื้อเพื่อส่งออกจากประเทศจีนและเกาหลีใต้ลดลง” EDB

“จีนเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดสำหรับหลายประเทศในอาเซียน … แต่การส่งออกไปยังจีนนั้นแย่มาก” Chua กล่าว “เนื่องจากสิงคโปร์พึ่งพาการส่งออกอย่างมาก ก็จะได้รับผลกระทบ”

 

  • การท่องเที่ยว

นโยบายปลอดโควิดของจีนยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวของสิงคโปร์นับตั้งแต่เกิดโรคระบาด นักเศรษฐศาสตร์กล่าว

ก่อนเกิดโรคระบาด มีชาวจีนประมาณ 3.6 ล้านคนเดินทางไปสิงคโปร์ในปี 2562 คิดเป็น 13% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ตามข้อมูลจากคณะกรรมการการท่องเที่ยวของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม มีนักท่องเที่ยวเข้าสิงคโปร์เพียง 88,000 คนระหว่างเดือนมกราคมถึงธันวาคมปีที่แล้ว

“เมื่อดูจากจำนวนนักท่องเที่ยว ก็ยังไม่ถึงหนึ่งในสามของระดับการระบาดใหญ่” Chua กล่าว “นักท่องเที่ยวจีนยังไม่มา”

ด้าน Seah กล่าวว่าไม่ได้ “ตัดความเป็นไปได้” ที่สิงคโปร์จะเติบโตติดลบอย่างน้อยหนึ่งไตรมาส เมื่อเทียบรายไตรมาส อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจในประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะปกติ

“วันนี้สิงคโปร์แข็งแกร่งขึ้นมากอย่างแน่นอน เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤติการเงินโลก”

ประเทศไทย

นักเศรษฐศาสตร์ยังมองว่า ไทยก็จะเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบหากสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย

  • การท่องเที่ยว

 

ไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างมากเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวคิดเป็นประมาณ 11% ของ GDP ของไทยในปี 2562 ก่อนเกิดโรคระบาด และมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าเกือบ 40 ล้านคน สร้างรายได้มากกว่า 60 พันล้านดอลลาร์ตามข้อมูลของธนาคารโลก

ในปี 2564 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพียง 428,000 คน และเศรษฐกิจเติบโตเพียง 1.5% นับเป็นหนึ่งในประเทศฟื้นตัวช้าที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามรายงานของ Reuters

Chua มองว่า ประเทศไทยอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยตามหลังสิงคโปร์ อย่างไรก็ตามสิ่งที่คาดเดาได้ยากคือ การเปิดประเทศของจีน ซึ่งอาจบ่งชี้ได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเต็มที่

แต่ Seah จาก DBS Bank กล่าวว่า การที่นักท่องเที่ยวชาวจีนไม่ได้เดินทางเข้าไทย ทำให้เศรษฐกิจของไทยอยู่ใน “สถานะที่ล่อแหลมยิ่งขึ้น”

“ตราบใดที่นักท่องเที่ยวจีนไม่กลับมา ประเทศไทยจะยังคงมีปัญหา การเติบโตอ่อนแอ อัตราเงินเฟ้อสูง และ ค่าเงินบาทอยู่ภายใต้แรงกดดัน”

ค่าเงินบาทในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และอ่อนค่าลง 20% เมื่อเทียบกับเมื่อ 3 ปีก่อนก่อนเกิดโรคระบาด

  • แรงกดดันเงินเฟ้อ

 

อัตราเงินเฟ้อของไทยแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีที่ 7.66% ในเดือนมิถุนายน ตามข้อมูลของ Refinitiv

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวตั้งแต่ปี 2561

“อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในประเทศไทยสูงมาก แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไม่สูงนัก แน่นอนว่าการเติบโตนั้นอ่อนแอลงมาก ดังนั้นไทยจึงไม่รู้สึกว่าเป็นภาวะเร่งด่วนที่จะดำเนินนโยบายเชิงรุก” Chua จากเมย์แบงก์กล่าว

Chua ชี้ว่า อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์น่าจะได้รับผลกระทบไม่มากจากภาวะถดถอยของสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากพึ่งพา “เศรษฐกิจภายในประเทศ”

“อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ภายนอกที่ชะลอตัวและภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯน้อยมาก เศรษฐกิจทั้งสองประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่องแม้ในปี 2551/52 ในช่วงวิกฤติการเงินโลก” รายงานของเมย์แบงก์ระบุ

จากข้อมูลของธนาคารโลก การเติบโตของจีดีพีในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์นั้นสูงกว่าเมื่อเทียบกับสิงคโปร์และไทยในช่วงวิกฤติการเงินโลกในปี 2551 ถึง 2552

 

ที่มา ไทยพับลิก้า