Economic Freedom Index 2023 เผย เศรษฐกิจโลกส่วนใหญ่ “ไม่เสรี” – เสรีภาพเศรษฐกิจไทยถดถอย

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ Heritage Foundation เผยแพร่ผลการจัดอันดับตามดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางเศรษฐกิจประจำปี 2023 (2023 Index of Economic Freedom) ที่ได้จากการพิจารณานโยบายและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจใน 184 ประเทศตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2021 ถึง 30 มิถุนายน 2022 พบว่า

เศรษฐกิจโลกโดยรวมแล้ว “ส่วนใหญ่ไม่เสรี” “mostly unfree” โดยมีคะแนนเสรีภาพทางเศรษฐกิจเฉลี่ยทั่วโลกลดลงจาก 60.0 ในปีที่แล้วเป็น 59.3 ซึ่งต่ำที่สุดในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา

ความมั่นคงทางการคลังทั่วโลกถดถอยลงอย่างมาก การขาดดุลที่เพิ่มขึ้นและหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศคือตัวบั่นทอน และมีแนวโน้มที่จะฉุดการเติบโตขอผลิตภาพโดยรวมลงอีก และท้ายที่สุดจะนำไปสู่ความซบเซาทางเศรษฐกิจมากกว่าการเติบโตที่แข็งแกร่ง

แม้ว่าเสรีภาพทางเศรษฐกิจทั่วโลกจะตกต่ำอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างยกระดับเสรีภาพทางเศรษฐกิจและการบรรลุถึงพลวัตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ตลอดจนความเป็นอยู่ที่ดีโดยรวมมากขึ้น ไม่ว่าการพัฒนาที่มีอยู่จะอยู่ในระดับใด ประเทศต่างๆ สามารถเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่วัดผลได้ ด้วยการดำเนินการเพื่อเพิ่มเสรีภาพทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายที่ลดภาษี ปรับสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบให้เหมาะสม เปิดระบบเศรษฐกิจให้มีการแข่งขันสูงขึ้น และขจัดการทุจริตคอร์รัปชัน

ในประเทศที่มีเศรษฐกิจเสรีสูง มาตรฐานการครองชีพซึ่งวัดจากรายได้ต่อหัวนั้นสูงกว่าประเทศอื่นๆ ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับ “เสรี” “ส่วนใหญ่เสรี” หรือ “เสรีปานกลาง” ในดัชนีปี 2023 สร้างรายได้มากกว่าสองเท่าของระดับค่าเฉลี่ยในประเทศอื่นๆ และสูงกว่ารายได้ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ “ถูกควบคุม” ทางเศรษฐกิจมากกว่าสามเท่า

ในดัชนีปี 2023 เสรีภาพทางเศรษฐกิจยังสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีโดยรวม ซึ่งรวมถึงปัจจัยต่างๆ เช่น สุขภาพ การศึกษา สิ่งแวดล้อม นวัตกรรม ความก้าวหน้าทางสังคม และการบริหารจัดการที่ดีในรูปแบบประชาธิปไตย

ในปีนี้มีเพียง 4 ประเทศ (ลดลงจาก 7 ประเทศในปีที่แล้ว) ที่มีคะแนนเสรีภาพทางเศรษฐกิจ 80 คะแนนหรือมากกว่า และติดอยู่ในอันดับของเศรษฐกิจที่ “เสรี” มี 23 ประเทศได้ถูกจัดว่า “ส่วนใหญ่เสรี” ด้วยคะแนน 70.0 ถึง 79.9 และอีก 56 ประเทศได้รับการพิจารณาว่าอย่างน้อย “เสรีปานกลาง” ด้วยคะแนน 60.0 ถึง 69.9

โดยรวมจึงมี 83 ประเทศ หรือน้อยกว่าครึ่งหนึ่งเล็กน้อยของทั้งหมด 176 ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับในดัชนีปี 2023 มีสภาพแวดล้อมเชิงสถาบันที่บุคคลและองค์กรเอกชนได้รับประโยชน์จากการที่อย่างน้อยที่สุดเศรษฐกิจมีเสรีภาพในระดับปานกลาง ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น และความเจริญรุ่งเรือง

ในทางตรงกันข้าม กว่า 50% ของประเทศที่ได้รับการจัดอันดับในดัชนีปี 2023 (93 ประเทศ) ได้คะแนนเสรีภาพทางเศรษฐกิจต่ำกว่า 60 ซึ่งในจำนวนนี้ 65 ประเทศได้รับการพิจารณาว่า “ส่วนใหญ่ไม่เสรี” (คะแนน 50.0 ถึง 59.9) และ 28 ประเทศ รวมทั้งจีนและอิหร่าน อยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจที่ “ถูกควบคุม”

ส่วนใน 10 อันดับแรก มีการสับเปลี่ยนตำแหน่งอย่างชัดเจน สิงคโปร์ยังคงรักษาสถานะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเสรีที่สุดในโลก แต่ทั้งนิวซีแลนด์และออสเตรเลียสูญเสียสถานะเสรีภาพทางเศรษฐกิจระดับสูงสุด โดยออสเตรเลียหลุดออกจาก 10 อันดับแรกของประเทศที่เศรษฐกิจเสรีที่สุดในโลก ด้านสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเสรีสูงสุดเป็นอันดับสองของโลก รองลงมาคือไอร์แลนด์ และไต้หวันขยับขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ห้า

สิ่งที่น่าสังเกตเป็นพิเศษคือการลดลงอย่างต่อเนื่องในหมวด “ส่วนใหญ่เสรี” ของสหรัฐอเมริกา คะแนนลดลงเหลือ 70.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ 29 ปีของการจัดทำดัชนี ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเสรีที่สุดอันดับที่ 25 ของโลก ปัจจัยที่เป็นสาเหตุหลักในการกัดเซาะเสรีภาพทางเศรษฐกิจของอเมริกาคือการใช้จ่ายภาครัฐที่มากเกินไป ซึ่งส่งผลให้เกิดการขาดดุลและภาระหนี้เพิ่มขึ้น

สำหรับประเทศไทย มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจในระดับปานกลาง และติดอันดับ 80 มีคะแนนรวม 60.6 ลดลงอย่างมาจากอันดับ 70 และคะแนนรวม 63.2 ใน 2022 Index of Economic Freedom ขณะที่อันดับในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งมี 39 ประเทศ ก็ลดลงมาที่อันดับ 16 จากอันดับที่ 13 ในปีก่อน เนื่องจากคะแนนของ 12 ตัวชี้วัด ลดลงเกือบทุกตัวยกเว้น ตัวที่ 11 Business Freedom เสรีภาพด้านธุรกิจ

 

  • Economic Freedom Index 2022 ชี้ เศรษฐกิจทั่วโลก “เสรีปานกลาง” เสรีภาพทางเศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอย

 

ดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางเศรษฐกิจเปิดตัวในปี 1995 และมีการประเมินประเทศต่างๆ ในด้านนโยบายกว้างๆ 4 เสาหลักที่ส่งผลต่อเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ได้แก่ หลักนิติธรรม ขนาดของรัฐบาล ประสิทธิภาพการกำกับดูแล และตลาดเสรี ซึ่งทั้ง 4 สาหลักนี้ประกอบด้วย 12 ตัวชี้วัด

ตัวชี้วัดที่นำมาจัดทำ Index ประกอบด้วย 12 รายการได้แก่

1) Property Rights สิทธิในทรัพย์สิน
2) Judicial Effectiveness ประสิทธิภาพการพิจารณาคดี
3) Government Integrity ความซื่อตรงในภาครัฐ
4) Tax Burden ภาระภาษี
5) Government Spending การใช้จ่ายภาครัฐ
6) Fiscal Health ฐานะการคลัง
7) Business Freedom เสรีภาพด้านธุรกิจ
8) Labor Freedom เสรีภาพด้านเรงงาน
9) Monetary Freedom เสรีภาพทางการเงิน
10) Trade Freedom เสรีภาพทางด้านการค้า
11) Investment Freedom เสรีภาพด้านการลงทุน
12) Financial Freedom เสรีภาพระบบการเงิน

ในปีนี้จากการประเมินเสาหลักแรก คือหลักนิติธรรม ซึ่งประกอบด้วย 3 ตัวชี้วัด คือ 1) Property Rights สิทธิในทรัพย์สิน 2) Judicial Effectiveness ประสิทธิภาพการพิจารณาคดี และ 3) Government Integrity ความซื่อตรงในภาครัฐ พบว่าหลักนิติธรรมได้คะแนนต่ำที่สุด สะท้อนถึงการคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบของสถาบันของรัฐในหลายประเทศ หากไม่มีหลักนิติธรรมที่เข้มงวด การตัดสินใจของเจ้าของธุรกิจและผู้ประกอบการก็เป็นเพียงการวัดดวงมากกว่าการตัดสินใจบนข้อมูลที่เชื่อถือได้

ในเสาหลักที่ 2 ขนาดของรัฐบาล ซึ่งมี 3 ตัวชี้วัด คือ 1) Tax Burden ภาระภาษี 2) Government Spending การใช้จ่ายภาครัฐ และ 2) Fiscal Health ฐานะการคลัง อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉลี่ยสูงสุดสำหรับทุกประเทศในดัชนีปี 2023 คือ 28.7% แต่อัตราภาษีนิติบุคคลสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 23.3% ภาระภาษีโดยรวมโดยเฉลี่ยเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศคือ 19.7% ระดับการใช้จ่ายของรัฐบาลโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นและขณะนี้อยู่ที่ 32.9% ของ GDP และระดับเฉลี่ยของหนี้สาธารณะขั้นต้นก็เพิ่มขึ้นเป็น 67.7%

เสาหลักที่ 3 ประสิทธิภาพการกำกับดูแล ซึ่งประกอบด้วย 1) Business Freedom เสรีภาพด้านธุรกิจ 2) Labor Freedom เสรีภาพด้านแรงงาน 3) Monetary Freedom เสรีภาพทางการเงิน ในบรรดาตัวชี้วัดนี้ เมื่อประเมินจากทั่วโลก เสรีภาพทางการเงินได้รับคะแนนสูงสุด รองลงมาคือ เสรีภาพทางธุรกิจและเสรีภาพด้านแรงงาน ประเทศที่มีคะแนนประสิทธิภาพการกำกับดูแลโดยเฉลี่ยในระดับชั้นนำ ได้แก่ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรีย ไต้หวัน เดนมาร์ก และฟินแลนด์ ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่มีคะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุดโดยเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ เซียร์ราลีโอน อิหร่าน คิวบา ซูดาน ซิมบับเว เวเนซุเอลา และเกาหลีเหนือ

สาหลักที่ 4 ตลาดเสรี ที่ประเมินจาก 1) Trade Freedom เสรีภาพทางด้านการค้า 2) Investment Freedom เสรีภาพด้านการลงทุน 3) Financial Freedom เสรีภาพระบบการเงินนั้น พบว่า เสรีภาพทางการค้าทั่วโลกส่วนใหญ่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง มาตรการด้านนโยบายการลงทุน ที่มุ่งส่งเสริมการลงทุนรายสาขามากกว่าการเปิดตลาดทั่วไปในหลายประเทศ มีส่วนทำให้เสรีภาพในการลงทุนทั่วโลกมีคะแนนเพียง 57.0. ขณะที่คะแนนระดับโลกสำหรับอิสรภาพทางการเงินนั้นต่ำที่สุดใน 3 ตัวชี้วัดคือ 48.9 การแทรกแซงของรัฐบาลในภาคการเงินถือเป็นเรื่องปกติในหลายประเทศ

โดยสรุป การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องยังคงไม่เท่าเทียมและไม่แน่นอน รวมทั้งมีผลแตกต่างกันอย่างมากในหลายประเทศ หลายภาคส่วน และกลุ่มประชากร ผลผลิตและการจ้างงานยังไม่เต็มศักยภาพในหลายประเทศ โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งบ่งชี้ว่าประเทศต่างๆ เผชิญกับความท้าทายด้านนโยบายที่แตกต่างกันอย่างมากในการฟื้นตัวและหลังจากนั้น

ที่มา ไทยพับลิก้า