JobsDB ชี้ความท้าทายผู้ประกอบการไทยยุคใหม่ บริหารให้ถูกใจ “Digital Native”

ตลาดแรงงานยุคหลัง Covid-19 ได้เปลี่ยนไปแล้วทั่วโลก รวมถึงไทย โดยผู้บริหาร จ๊อบส์ ดีบี เผยถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า พบตัวเลขการเติบโตใน 3 ธุรกิจดาวรุ่งอย่าง “ไอที-เซลล์-วิศวกร” สูงสุดในตลาด ขณะที่ความท้าทายใหม่ของบริษัทในปัจจุบันก็คือการปรับวิธีการทำงานให้เข้ากับชาว Digital Natives หรือคนรุ่นใหม่ที่สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างคล่องแคล่ว และการเข้ามาเปิดบริษัทของสตาร์ทอัพต่างชาติตามหัวเมืองใหญ่ ทั้งภูเก็ต – เชียงใหม่

คุณดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยทิศทางการจ้างงานในปี 2565 ต่อเนื่องมาถึงปี 2566 ว่าพบสัญญาณบวกในหลายด้าน โดยสายงานที่ได้รับความนิยมมากในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2565 คือ ไอที เซลล์ – Customer Service และงานในกลุ่มวิศวกร

“เราพบสัญญาณบวกในด้านการจ้างงานตั้งแต่ต้นปี 2565 เมื่อรัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลายจาก Covid-19 โดยสายงานที่มีการลงประกาศหางานมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ไอที เซลล์ และ customer service และกลุ่ม Engineering”

นอกจากสามกลุ่มที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว คุณดวงพรยังกล่าวด้วยว่า มีกลุ่มของงานบัญชี งานทรัพยากรบุคคล และงานมาร์เก็ตติ้ง ปรากฏอยู่ด้วย (ติดในกลุ่ม Top10) ไม่เพียงเท่านั้น ในฝั่งคนสมัครงาน ก็พบว่า สายงานที่มีคนสมัครมากที่สุดก็อยู่ใน 3 กลุ่มนี้เช่นกัน โดยเรียงลำดับ 1 – 3 ดังนี้

  • เซลล์
  • Engineering
  • IT

คุณดวงพรให้ความเห็นว่า ภาพดังกล่าวเป็นความสอดคล้องกันของตลาด ทั้งในฝั่งคนสมัครงานและคนหางาน แต่ในงานสายไอทีพบสัญญาณเพิ่มเติมด้วยว่า กำลังคนยังมีไม่พอ และเกิดการแย่งชิงตัวพนักงานกันอย่างมาก ซึ่งเป็นโจทย์ให้ประเทศต้องผลิตแรงงานที่มีทักษะด้านไอทีมากขึ้น

สวัสดิการเปลี่ยนตามยุคสมัย

การเติบโตดังกล่าวยังรวมไปถึงเรื่องของสวัสดิการ ที่ผู้บริหาร JobsDB พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยคุณดวงพร ระบุว่า หลายบริษัทเปลี่ยนนโยบายจาก Work From Home เป็นการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศแบบ 100% แต่ก็มีบางบริษัทยังเลือกใช้ Hybrid Model อยู่

“เรามีโอกาสได้คุยกับ HR หลาย ๆ ที่ ว่าหาคนยาก เพราะพนักงานเลือกไปทำงานกับบริษัทที่มีนโยบาย Work From Anywhere มากกว่า แต่สวัสดิการที่เห็นว่าเปลี่ยนไปก็คือ Flexi personal leave คือเป็นวันหยุดที่เอาไปใช้อะไรก็ได้ รวมถึงบางบริษัทที่เกิดสวิสดิการใหม่ ๆ ขึ้นมา เช่น การเลี้ยงอาหาร จัดงานพิเศษ เพราะอยากให้พนักงานเข้ามาออฟฟิศเพิ่มขึ้น”

นายจ้างเชื่อมั่น – จ้างคนเพิ่ม

ทั้งนี้ ผู้บริหาร JobsDB วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลอินไซต์ดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงเดือน กรกฎาคม – ธันวาคม 2565 ที่มีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น 35% กำลังสะท้อนว่า ผู้ประกอบการมีความมั่นใจมากขึ้น ขณะที่ในครึ่งปีแรกของปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็น 51% เลยทีเดียว ซึ่งคุณดวงพรมองว่าส่วนหนึ่งมาจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจที่จะลงทุนเพิ่มนั่นเอง

พฤติกรรมใหม่ ๆ ของคนสมัครงาน

ทั้งนี้ คุณดวงพรได้กล่าวถึงความท้าทายของการจ้างงานในยุคปัจจุบันด้วย นั่นคือการปรับระบบให้เข้ากับคนทำงานยุคใหม่อย่าง Digital Native

“เด็กจบใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานตอนนี้เป็น Digital Native เต็มขั้น คือพวกเขาสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างสมบูรณ์ บริษัทจึงต้องหาวิธีใช้คนเหล่านี้ให้ได้เต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรื่องของวิธีคิด กระบวนการทำงาน แต่เรื่องเทคโนโลยีจะไม่ใช่ปัญหาของคนกลุ่มนี้อีกต่อไปแล้ว”

พนักงานต่างชาติสนใจไทย?

ส่วนในแง่ของการปลดพนักงานของบริษัทเทคโนโลยีในหลาย ๆ ประเทศจะทำให้ไทยมีโอกาสเป็นประเทศที่พนักงานเหล่านั้นเข้ามาทำงานเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น คุณดวงพรได้ให้ทัศนะว่า อาจมีกำแพงด้านภาษาอยู่พอสมควร เพราะถึงแม้ทักษะด้านไอทีจะเป็นสิ่งที่ตลาดแรงงานไทยต้องการ แต่นายจ้างส่วนหนึ่งก็ต้องการคนที่สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยด้วยเช่นกัน เว้นแต่จะเป็นบริษัทระดับสากล ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการสื่อสาร

“คนต่างชาติเหล่านี้อยากมาอยู่ในไทย เพราะค่าครองชีพไม่สูง อีกทั้งช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ประเทศไทยก็มีสถานที่ให้ไปพักผ่อนได้เยอะกว่า เราพบว่ามีเทคสตาร์ทอัพมาเปิดบริษัทที่ไทยเพิ่มขึ้น โดยเลือกตั้งสำนักงานใหญ่ที่ภูเก็ต หรือเชียงใหม่”

ทั้งหมดนี้จึงอาจเป็นภาพรวมของโลกการทำงานในปี 2566 ที่ผู้บริหาร JobsDB มองเห็น ซึ่งในระยะยาว คุณดวงพรให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยยังต้องการธุรกิจใหม่ที่จะมาสร้างการเติบโตให้กับประเทศ โดยอาจเป็นธุรกิจเทคโนโลยีที่ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้สามารถแข่งกับสตาร์ทอัพจากต่างประเทศได้ พร้อมยกตัวอย่างกรณีของโรบินฮู้ด ผู้ให้บริการ SuperApp ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ว่าอาจเป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งเลยทีเดียว