นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ถึงความร่วมมือและการนำเสนอประเด็นต่างๆ ของภาคเอกชนต่อการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรของประเทศไทย ว่า ประเทศไทย มีความพร้อมที่จะยกระดับภาคเกษตรไปสู่มูลค่าสูงได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะการส่งเสริมบทบาทของเกษตรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยี เพื่อต่อยอดและขยายผลไปในแต่ละจังหวัด
ทั้งนี้ ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาสนับสนุนแหล่งเงินทุน มาตรการลดต้นทุนภาคการเกษตร และการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งซ้ำซาก ซึ่งหอการค้าฯ และภาคเอกชนพร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ รวมถึงถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ผ่านเครือข่ายหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศไปพร้อมกัน
“วันนี้ ประเทศไทยมีจุดเด่น และความพร้อมพื้นฐานด้านการเกษตร ทั้งในเชิงปริมาณพื้นที่เพาะปลูก จำนวนเกษตรกร สภาพภูมิอากาศ แต่ขณะเดียวกันมูลค่าการส่งออกและรายได้ของเกษตรกร ยังไม่เพิ่มสูงเท่าที่ควร ดังนั้น ทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ยกตัวอย่าง ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีพื้นที่เล็กกว่าไทยถึง 12 เท่า แต่สามารถสร้างรายได้ในภาคเกษตรต่อประชากรสูงกว่าไทยถึง 10 เท่า นี่จึงถือเป็นโอกาสที่ไทยต้องเรียนรู้ รูปแบบการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยี และงานวิจัยต่อยอดผลผลิต และการแปรรูปสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูง” นายสนั่น ระบุ
โดยหอการค้าไทย พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งในอนาคตหากสามารถยกระดับการทำเกษตรสมัยใหม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม เกษตรกรกว่า 27 ล้านคน ที่ถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจะมีรายได้ที่สูงขึ้น เกิดการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และสามารถลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลได้อย่างแท้จริง
นายสนั่น กล่าวว่า หอการค้าฯ ได้ขอให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน (กรอ.กษ.) ซึ่งจะช่วยสร้างความร่วมมือภาครัฐ และภาคเอกชน ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และมีความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
นอกจากนี้ ได้ยื่นข้อเสนอแนะเร่งด่วนของธุรกิจเกษตรและอาหาร ต่อรมว.เกษตรฯ เพื่อร่วมขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาผ่าน คณะกรรมการ กรอ.กษ โดยมีข้อเสนอใน 7 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย
1. การส่งเสริมความมั่นคงและความยั่งยืนด้านอาหาร (Food Safety and Food Security) ซึ่งภาคเกษตรเป็นส่วนสำคัญที่มีการขับเคลื่อนในเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจ APEC โดยการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ได้เห็นชอบในการผลักดันให้ดำเนินงานส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเปค รวมถึงการหารือเกี่ยวกับนโยบายแนวทางในการรับมือกับประเด็นท้าทายด้านความมั่นคงอาหาร ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change)
ทั้งนี้ หอการค้าฯ ยินดีร่วมขับเคลื่อนนโยบาย 3S ได้แก่ Safety , Security และ Sustainability เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยอาหารให้ได้มาตรฐานสากล ตลอดจนร่วมส่งเสริมการขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วย BCG Model เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า สินค้าเกษตรและอาหารของไทย มีผลผลิตที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพมาตรฐาน พร้อมเป็นครัวโลก
2. การรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางทะเล เสนอให้กระทรวงเกษตรฯ ประสานงานสมาคมการค้าและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมขับเคลื่อนและรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางทะเล ด้วยมาตรการป้องกันปัญหาการประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ตลอดจนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อยกระดับอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ของประเทศไทยให้อยู่ในระดับ Tier 1 ในปี 67
3. การสร้างความสมดุลภาคธุรกิจเกษตรและอาหาร เสนอให้กระทรวงเกษตรฯ กำหนดนโยบายเพื่อสร้างความสมดุลและเสถียรภาพการนำเข้า-ส่งออกภาคเกษตรและอาหาร ระหว่างเกษตรกร และผู้ประกอบการส่งออก เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความมั่นคงและความยั่งยืนด้านเกษตรและอาหารของไทย
4. การส่งเสริมการสร้างเกษตรมูลค่าสูงผ่านการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ (Area-based) ซึ่งที่ผ่านมา หอการค้าฯ ได้มีการขับเคลื่อนเกษตรมูลค่าสูง ที่ถือเป็นศักยภาพและโอกาสที่สำคัญของประเทศไทย โดยใช้จังหวัดเป็นผู้นำการขับเคลื่อน เนื่องจากมีความเข้าใจในศักยภาพของพื้นที่ โดยขับเคลื่อนในพื้นที่นำร่องแล้ว 7 จังหวัด รวมถึงตั้งเป้าขยายพื้นที่จังหวัดเป้าหมายเพิ่มเติมอีก 5 จังหวัด ในปี 67 ได้แก่ ชัยนาท เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี และพัทลุง
5. การส่งเสริมธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต เสนอให้ผลักดันการจัดทำระบบอาหารที่มีการกล่าวอ้างอาหารเชิงหน้าที่ (FFC Thailand) เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกระดับ สามารถยืนยันการกล่าวอ้างเชิงสุขภาพด้วยเอกสารหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในรูปแบบออนไลน์ โดยครอบคลุมผลผลิตการเกษตร อาหารปรุงสดและอาหารท้องถิ่น เพื่อพัฒนาไปสู่การผลิตอาหารมูลค่าสูง พร้อมทั้งส่งเสริมนโยบายและขับเคลื่อนธนาคารอาหารของประเทศไทย (Cloud Food Bank) เพื่อความมั่นคงทางอาหาร
6. การส่งเสริมธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยหอการค้าไทย เสนอให้สนับสนุน และส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์กุ้งปลอดโรค พร้อมทั้งสนับสนุนแนวทางส่งเสริมและลดภาระต้นทุนการเลี้ยงให้กับเกษตรกร รวมไปถึงห่วงโซ่อุตสาหกรรม (Value Chain) ตลอดจนลดภาษีการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์
พร้อมทั้งให้กระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมสินค้าเกษตร อาหาร ประมง และการอำนวยความสะดวกในการส่งออก-นำเข้า เพื่อการแก้ปัญหาวัตถุดิบภาคการประมง ที่ไม่เพียงพอต่ออุตสาหกรรมการผลิต และการส่งออก ควรมีการผ่อนปรนการนำเข้าวัตถุดิบสัตว์น้ำเพื่อแปรรูปเพิ่มมูลค่าและส่งออก ซึ่งต้องไม่กระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงภายในประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและปกป้องสัตว์น้ำเศรษฐกิจของไทย ได้แก่ ปลากะพง ปลานิล และกุ้งก้ามกราม เป็นต้น
7. การส่งเสริมธุรกิจปศุสัตว์และแปรรูป เสนอให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งรัดยกระดับมาตรฐานฟาร์มปศุสัตว์ไทย โดยเฉพาะกลุ่มโคเนื้อ แพะเนื้อ และแพะนม พร้อมทั้งเสนอให้เร่งรัดการเพิ่มจำนวนโรงฆ่าสัตว์, โรงตัดแต่งเนื้อสัตว์, โรงคัดบรรจุ ที่ได้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practices) ทุกจังหวัดที่มีศักยภาพ
ขณะเดียวกัน ควรเร่งรัดปราบปรามผู้ลักลอบนำเข้าหรือส่งออกสินค้าปศุสัตว์อย่างเข้มงวด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ รวมทั้งประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้ร้านค้าสินค้าปศุสัตว์ (โดยเฉพาะตลาดสด) เข้าร่วมโครงการปศุสัตว์ OK เพื่อสร้างมาตรฐานสินค้าคุณภาพ และสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับแก่ผู้บริโภค เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์