APEC 2022 ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปครับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี”

การประชุมเอเปค 2565 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเพื่อส่งเสริมการเปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ และเชื่อมโยงกันสู่สมดุลของภูมิภาคเสร็จสิ้นแล้วในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงข่าวในฐานะประธานผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายกรัฐมนตรี แสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จออกทรงรับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคพร้อมคู่สมรส และแขกพิเศษ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวังเมื่อค่ำวานนี้ นำมาซึ่งความปลาบปลื้มปีติแก่คณะผู้เข้าร่วมประชุมและคนไทยทุกคน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 จบลงแล้วด้วยความสำเร็จอย่างงดงาม ถือเป็นความสำเร็จร่วมกันของสมาชิกเอเปคทั้งหมด เอเปคต้องยืนหยัดทำงานท่ามกลางสภาวะโลกที่ผันผวนเพื่อสร้างการเจริญเติบโตและอนาคตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาไทยได้ต้อนรับคณะผู้นำ คู่สมรส แขกพิเศษ ผู้เข้าร่วมประชุม และสื่อต่างชาติ รวมกว่า 5,000 คน ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้เดินทางมาร่วมประชุมแบบพบหน้า

การประชุมนี้ นอกจากจะเป็นเวทีให้การหารือระหว่างผู้นำ ยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับแขกพิเศษ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และมกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ผู้นำได้พูดคุยกับภาคเอกชน ในการหารือกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค และนายกรัฐมนตรียังได้รับฟังมุมมองของกลุ่มผู้แทนเยาวชนเอเปคจาก APEC Voices of the Future 2022

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หยิบยกสถานการณ์การคุกคามด้านนิวเคลียร์ ไทย ในฐานะเจ้าภาพเอเปคเข้าใจและมีความห่วงกังวลต่อผลกระทบ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และพร้อมร่วมมือกับหุ้นส่วนต่าง ๆ เพื่อหาทางแก้ไขประเด็นปัญหาอย่างใกล้ชิดต่อไป

“ผมและผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้รับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. 2022 ซึ่งสะท้อนการทำงานของเอเปค 2022 ตลอดทั้งปี ที่มีแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อน ภายใต้หัวข้อหลัก เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” นายกรัฐมนตรีกล่าว

โดยมีผลลัพธ์ ดังนี้

1. “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์” เอเปคได้เดินหน้าสานต่อการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก FTAAP ผลงานที่เป็นรูปธรรม คือ จัดทำแผนงานต่อเนื่องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิก และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับประเด็นการค้าการลงทุนใหม่ๆ

2. “เชื่อมโยงกัน” เอเปคได้ฟื้นฟูการเดินทางข้ามแดนระหว่างกันอย่างปลอดภัย และไร้รอยต่อ เพื่อสร้างความพร้อมรับมือวิกฤติใหม่ในอนาคต

3. “สู่สมดุล” ผู้นำเอเปคทุกคนได้ร่วมกันรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี” วางรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ซึ่งโอกาสนี้ เอเปคได้ร่วมเปิดตัวเว็บไซต์ bangkokgoals.apec.org อีกด้วย

ไทยในฐานะเจ้าภาพ เอเปค2565 ส่งไม้ต่อแก่สหรัฐอเมริกา เจ้าภาพเอเปค ปี 2566 โดยไทยได้มอบชะลอมที่สานจากไม้ไผ่ ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/61778

“สำหรับการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2565 ของไทยได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ผมได้ส่งมอบหน้าที่นี้แก่สหรัฐอเมริกาที่จะเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2566 ผมเชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ จะสานต่อการส่งเสริม การเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” นายกรัฐมนตรีกล่าว

อ่าน
“เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” ได้ที่ https://www.apec.org/meeting-papers/leaders-declarations/2022/2022-leaders-declaration/bangkok-goals-on-bio-circular-green-(bcg)-economy

“ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจ ค.ศ. 2022” ได้ที่ https://www.apec.org/meeting-papers/leaders-declarations/2022/2022-leaders-declaration