ความท้าทายยุคโควิด-19 เมื่อแรงงานต้องพัฒนา ‘ทักษะดิจิทัล’ องค์กรต้องเปลี่ยน ‘แนวคิดบริหาร’ เพื่อรักษาคน

ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่จากโควิด-19 ที่ได้เข้ามาสร้างความเสียหายและผลกระทบในทุก ๆ ด้าน และยังเป็นตัวเร่งสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้พฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป องค์กรต่าง ๆ ต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล

ตลาดแรงงานเผชิญกับการรุกคืบของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น อีกทั้งยังถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ประชากรวัยแรงงานจำเป็นต้องพัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะความรู้และทักษะในรูปแบบเดิมนั้นไม่เพียงพอต่อโลกของการทำงานอีกต่อไปแล้ว

ข้อมูลของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) พบว่า ทักษะที่นายจ้างต้องการมากที่สุดในปัจจุบัน คือ “ทักษะทางด้านเทคนิคดิจิทัล” และยังพบว่าแรงงานไทยที่มีความรู้ด้านทักษะมีเพียงร้อยละ 54.9 สะท้อนให้เห็นว่ายังมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ต้องได้รับการพัฒนาทักษะดิจิทัลและทักษะด้านอื่น ๆ เพื่อต่อยอดโอกาสในการประกอบอาชีพ

จึงเป็นความท้าทายของสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องปรับบทบาทในการผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน

นอกเหนือจากประเด็นการปรับตัวของสถาบันการศึกษาแล้ว รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้วิเคราะห์อุปสรรคและความท้าทายที่พบในช่วงโควิด-19 รวมถึงเทรนด์ที่ทั้งสถาบันการศึกษาและผู้ประกอบการควรให้ความสนใจ เพื่อใช้กำหนดแนวทางพัฒนาผู้เรียนและบุคลากรของตนให้มีความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต

เรียนออนไลน์ กับข้อจำกัดที่ทุกฝ่ายต้องเผชิญ

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากโควิด-19 คือการเปลี่ยนจากการเรียนการสอนในห้องเรียนสู่การเรียนรูปแบบออนไลน์ แม้เทคโนโลยีในปัจจุบันจะช่วยอำนวยให้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ยังคงมีข้อจำกัดอีกมากมายที่ทุกคนต้องพบเจอ ได้แก่ 1. Hardware ความพร้อมของเครื่องมือและอุปกรณ์ ไปจนถึงระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทั้งของผู้สอนและผู้เรียน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีอุปกรณ์หรือความพร้อม 2. Software ระบบที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างอุปกรณ์ทางการศึกษาและสื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการเรียนออนไลน์ เป็น Passive Learning ที่ผู้เรียนและผู้สอนมีการโต้ตอบกันน้อย แตกต่างจากการสอนในห้องเรียนที่เป็นแบบ Active Learning และ 3. Humanware ซึ่งอาจเกิดขึ้นในหลายระดับ ตั้งแต่สถานศึกษาที่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุนการพัฒนาความรู้ทักษะด้านเทคโนโลยีให้กับครูผู้สอน และสำหรับครูผู้สอนเองก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบการเรียนการสอนด้วยเทคนิคต่าง ๆ ที่สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้เรียน เนื่องจากบรรยากาศการเรียนออนไลน์และการเรียนแบบเห็นหน้าในห้องเรียนนั้นมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

เทรนด์ Hard Skills–Soft Skills ที่ต้องมี ในศตวรรษที่ 21

เมื่อความรู้วิชาการจากในตำราไม่เพียงพออีกต่อไป สถาบันการศึกษาต้องปรับแนวทางการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ด้วยการให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างทักษะให้ผู้เรียน ทั้งด้าน Hard Skills โดยเฉพาะทักษะดิจิทัล ความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี
ไปจนถึงการทำงานร่วมกับ AI และด้าน Soft Skills ไม่ว่าจะเป็นทักษะการสื่อสาร การสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การเสริมสร้างความมุ่งมั่น แรงบันดาลใจ และวิสัยทัศน์ให้กับผู้เรียน เสริมสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงทักษะความเป็นผู้นำ หากสถาบันการศึกษาสามารถเตรียมความพร้อมในทักษะด้านต่าง ๆ ให้กับผู้เรียนได้อย่างครบถ้วนก่อนเข้าสู่โลกการทำงาน ก็จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับผู้เรียนได้มองเห็นอนาคต เห็นคุณค่า และคุณประโยชน์ของการศึกษามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องสนับสนุนให้ผู้เรียนมองเห็นความสำคัญของประเด็นสังคมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น พัฒนาการด้านการเงิน พัฒนาการทางการแพทย์ ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

รักษาคนทำงาน ด้วยแนวคิดบริหารยุคใหม่

ในแต่ละองค์กรหรือบริษัทย่อมมีคนจากหลาย Gen ที่เข้ามาทำงานร่วมกัน การที่จะบริหารให้ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข จำเป็นต้องเข้าใจคนแต่ละ Gen ด้วยสำหรับการบริหารกลุ่มคน Gen Y และ Gen Z ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในตลาดแรงงานในขณะนี้ ผู้บริหารจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงนิสัยและความต้องการของกลุ่มคนเหล่านี้ก่อน ว่าโดยส่วนใหญ่มักมีความเป็นอิสระและยืดหยุ่นสูง จึงต้องให้ความเคารพในความคิดเห็นและสิทธิต่าง ๆ ทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญแม้จะเป็นพนักงานใหม่ เปิดโอกาสให้เติบโตก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน ให้ผลตอบแทนที่สร้างคุณค่าต่อการทำงาน ให้การตอบสนองที่รวดเร็ว ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ได้ เนื่องจากคนกลุ่มนี้มักมีความอยากรู้อยากเห็นและใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา และต้องให้ความสำคัญกับ Work Life Balance และการสร้างพื้นที่เพื่อการผ่อนคลายจากการทำงาน

การสนับสนุนประชากรวัยแรงงานให้มีทักษะรองรับความเปลี่ยนแปลงของโลก ถือเป็นหนึ่งในภารกิจของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ภายใต้กิจกรรมบิ๊กร็อกที่ 1 โดยมีตัวอย่างความสำเร็จคือ โครงการ “วิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานของประเทศไทย” พัฒนาเครื่องมือการประเมินศักยภาพของประชากรกลุ่มวัยแรงงาน ภายใต้ความร่วมมือของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปัจจุบันเตรียมนำผลจากความร่วมมือต่อยอดสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ทั้งด้านการวางแผนหลักสูตร การผลิตนักศึกษาของภาคการศึกษา และกำหนดแนวทางพัฒนาทักษะแรงงานกลุ่มต่าง ๆ ของภาคธุรกิจเอกชน อย่างไรก็ตาม คาดว่าประเทศไทยจะมีกลไกอื่น ๆ ที่จะช่วยสร้างเสริมผลิตผลทางการศึกษาที่เป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้

ที่มา Marketeer