อินเดียพร้อมยื่นมือช่วยโลก กู้วิกฤตข้าวสาลีราคาแพง หลังสงครามยูเครนยืดเยื้อ

ปัญหาข้าวยากหมากแพงทั่วโลกซึ่งข้าวสาลีเป็นสาเหตุหลักอาจทุเลาเบาบางลงได้บ้างจากความช่วยเหลือของประเทศใหญ่ในเอเชียใต้

ท่ามกลางประเด็นมากมายที่นายกรัฐมนตรี Narendra Modi ของอินเดียกล่าวระหว่างหารือกับประธานาธิบดี Joe Biden ของสหรัฐฯ แบบออนไลน์เมื่อไม่นานนี้ หนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจคือการที่ฝ่ายแรกกล่าวว่าพร้อมคลายวิกฤตอาหารแพงทั่วโลก เพราะอินเดียสามารถส่งออกข้าวสาลี เข้ามาทดแทนส่วนที่หายไปจากสงครามยูเครน

แม้สมรภูมิของวิกฤตโลกครั้งล่าสุดอยู่ในยูเครนและประเด็นหลัก ๆ ที่คนส่วนใหญ่ต่างติดตามกันอยู่คือรัสเซียจะโจมตีไปอีกนานแค่ไหน ยูเครนจะยืนหยัดต่อไปได้อีกเท่าไร และการประลองกำลังกันระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกโดยมีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ ทว่าก็มีอีกประเด็นที่มองข้ามไม่ได้ เพราะส่งผลต่อปากท้องของคนทั่วโลก

รัสเซียและยูเครนถือเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวสาลีแหล่งใหญ่และส่งออกพืชชนิดนี้ปริมาณมหาศาลไปทั่วโลก โดยมีการประมาณกันว่า 3 ใน 4 ของข้าวสาลีที่ซื้อ-ขายกันอยู่ทั่วโลก มาจากทั้งสองประเทศนี้ และได้กลายเป็นวัตถุดิบหลักให้อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารจำพวกแป้งมากมาย ซึ่งในจำนวนนี้มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรวมอยู่ด้วย

ดังนั้น จากการที่รัสเซียรุกรานยูเครน บานปลายเป็นสงครามขั้นแตกหักและยังยืดเยื้อ จึงส่งผลให้การส่งออกข้าวสาลีจากทั้งสองประเทศหยุดชะงัก พร้อมกระทบต่อเนื่องทำให้ข้าวสาลีราคาแพงขึ้น ซ้ำร้ายยังดันราคาอาหารประเภทต่าง ๆ ที่ทำจากแป้งให้แพงตามไปด้วย

ตัวอย่างของผลกระทบของสงครามยูเครนต่อปากท้องผู้คนไกลจากพื้นที่สู้รบปรากฏให้เห็นผ่านราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในอินโดนีเซียที่แพงขึ้น เพราะอินโดนีเซียนำเข้าข้าวสาลีจากยูเครนมากเป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่ Indomie แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขายดีสุดของอินโดนีเซียก็กำลังกลายเป็นสินค้าหายาก

อินเดียจับตาดูสถานการณ์เหล่านี้มาพักใหญ่และเห็นว่าประเทศตนน่าจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้ โดยนายกรัฐมนตรี Narendra Modi ของอินเดียกล่าวระหว่างหารือกับประธานาธิบดี Joe Biden ของสหรัฐฯ แบบออนไลน์เมื่อต้นเมษายนที่ผ่านมาว่า “อินเดียมีอาหารเพียงพอสำหรับเลี้ยงดูประชากร 1,400 ล้านคนในประเทศ และพร้อมส่งออกเพื่อช่วยโลกได้ตั้งแต่พรุ่งนี้”

อาหารซึ่งนายกรัฐมนตรี Narendra Modi กล่าวถึงคือข้าวสาลี โดยอินเดียเป็นประเทศเพาะปลูกข้าวสาลีและข้าวสารรวมกันได้มากเป็นอันดับสองของโลก โดยเมื่อเมษายนที่ผ่านมาอินเดียมีปริมาณพืชทั้งสองชนิดเก็บเกี่ยวแล้วคงคลังอยู่ที่ 74 ล้านตัน

นับเฉพาะข้าวสาลีอินเดียส่งออกไปยัง 68 ประเทศ โดยมีปริมาณส่งออกระหว่างปี 2020 ถึง 2021 อยู่ที่ 7 ล้านตัน และเมษายนถึงมิถุนายนปีนี้บรรลุข้อตกลงในการส่งออกข้าวสาลีปริมาณ 3 ล้านตัน ซึ่งมีส่วนทำให้มูลค่าส่งออกผลิตผลทางเกษตรระหว่างปี 2021 ถึง 2022 ของอินเดียเพิ่มเป็น 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.6 ล้านบาท) ถือเป็นสถิติใหม่

มีการคาดการณ์ว่า ปีงบประมาณนี้ อินเดียจะมีศักยภาพการส่งออกข้าวสาลีไปยังตลาดโลกได้ 16 ล้านตัน นี่ทำให้อินเดียสามารถเข้ามามีบทบาทในการช่วยบรรเทาวิกฤตอาหารแพงทั่วโลก หากองค์กรการค้าโลก (WTO) อนุญาตให้อินเดียเพิ่มสัดส่วนการส่งออก

อย่างไรก็ตาม อินเดียจะเข้ามาช่วยเหลือได้เพียงระดับหนึ่ง เพราะคาดกันว่าปริมาณผลผลิตข้าวสาลีอินเดียปีนี้มีแนวโน้มจะน้อยกว่าที่คาดไว้ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากปุ๋ยที่นำเข้ามาจากรัสเซียน้อยกว่าในระดับปกติ

นอกจากนี้ ถ้าสงครามในยูเครนยังคงยืดเยื้อต่อไป การส่งออกข้าวสาลีของอินเดียเพื่อทดแทนส่วนของรัสเซียกับยูเครนที่หายไป ก็จะเป็นการกู้สถานการณ์ได้ชั่วคราวเท่านั้น และประเทศอื่น ๆ ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยด้วย

ขณะเดียวกันในภาพใหญ่ราคาอาหารทั่วโลกก็จะยังคงสูงกว่าปกติ เพราะรัสเซียกับยูเครนยังเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่ ครองสัดส่วนตลาดโลก 55% และยังครองสัดส่วนการส่งออกข้าวโพดกับข้าวสาลีในตลาดโลกเกือบ 1 ใน 5

ที่มา Marketeer