คอนวัตกรรมอาหารรอชิม เนื้อแซลมอนเทียมรมควันทำจากสาหร่ายฝีมือ บ.อิสราเอล

จับตามองการคิดค้นนวัตกรรมอาหารเมนูปลาจากประเทศ “ยักษ์เล็ก” ในตะวันออกกลาง ที่เคยเรียกเสียงฮือฮาด้วยการปลูกมะเขือเทศในทะเลทรายสำเร็จแล้ว

Simpliigood บริษัทนวัตกรรมอาหารในอิสราเอล กำลังเดินหน้าพัฒนาเนื้อแซลมอนเทียมรมควันจากสาหร่าย ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์พืชทะเลชนิดนี้ที่ทางบริษัทเชี่ยวชาญ ท่ามกลางการเติบโตของตลาดนวัตกรรมอาหาร ซึ่งสามารถลดการบริโภคแซลมอนในธรรมชาติและการทำประมงระดับอุตสาหกรรมที่ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

อาหารญี่ปุ่นเป็นที่นิยมกันทั่วโลกมานานแล้ว โดยหนึ่งในเมนูยอดฮิตคือเนื้อปลาแซลมอนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ซาชิมิ ชูชิ หรือแซลมอนรมควัน แต่ผลจากการบริโภคกันในปริมาณมากนี้ทำให้แซลมอนในธรรมชาติมีไม่พอ นำมาสู่การเลี้ยงในระดับอุตสาหกรรมที่ใช้สารเร่งโต และยาปฏิชีวนะ ที่ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศและสุขภาพ ทว่าก็มีแสงสว่างปลายอุโมงค์ปรากฏออกมา โดยเริ่มมีบริษัทนวัตกรรมอาหารพัฒนาเนื้อแซลมอนเทียม เช่น Wildtype ของสหรัฐฯ ที่มี Jeff Bezos มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Amazon ยักษ์ E-commerce หนุนหลัง

Jeff Bezos

Wildtype ที่สามารถระดมทุนรอบล่าสุดได้สูงถึง 100 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,300 ล้านบาท) เพาะเนื้อแซลมอนเทียมขึ้นจากเซลล์ไข่ปลาและใช้เวลาผลิตเพียง 4-6 สัปดาห์ ต่างจากปลาแซลมอนในฟาร์มที่ต้องใช้เวลาเลี้ยง 2-3 ปี

ล่าสุดมีอีกบริษัทที่พัฒนาเนื้อแซลมอนเทียมอยู่เช่นกัน โดย Simpliigood บริษัทนวัตกรรมอาหารในอิสราเอลก็กำลังพัฒนาเนื้อแซลมอนเทียมรมควันจากสาหร่าย Spirulina หรือสาหร่ายเกลียวทอง

นอกจากจุดเด่นเรื่องความเป็น Super Food เพราะมีปริมาณโปรตีนสูงถึง 40% แล้ว เนื้อแซลมอนเทียมรมควันของ Simpliigood ยังทำมาจากสาหร่ายเกลียวทองที่เลี้ยงในฟาร์มเรือนกระจกแบบประหยัดน้ำในทะเลทราย ย้ำถึงความก้าวหน้าของอิสราเอลได้อีกด้วย

ส่วนเรื่องรสชาติ Simpliigood มั่นใจว่าจะเหมือนกับเนื้อแซลมอนรมควันจริงแบบแทบแยกไม่ออก เพราะได้ IFF-Dupont ยักษ์ด้านเทคโนโลยีอาหารของสหรัฐฯ มาดูแลให้

คอนวัตกรรมอาหารและชาวมังสวิรัติผู้ชื่นชอบความแปลกใหม่ที่อยากชิมเนื้อแซลมอนเทียมรมควันดังกล่าว อาจต้องรออีกหน่อย โดย Simpliigood คาดว่าจะสามารถผลักดันนวัตกรรมอาหารเมนูออกสู่ตลาดได้ปลายปีหน้า

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีความน่าสนใจ ทั้งในเรื่องตลาดนวัตกรรมอาหาร โดยเฉพาะเนื้อเทียมซึ่ง Barclays สถาบันการเงินใหญ่ของอังกฤษประเมินว่า จะโตต่อเนื่อง จนปี 2029 มูลค่าตลาดเพิ่มเป็น 140,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 4.6 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 10% ของตลาดเนื้อแปรรูปทั่วโลก

ขณะเดียวกันยังย้ำความสามารถด้านนวัตกรรมของอิสราเอล โดยหลายปีก่อนหน้านี้ก็สามารถปลูกมะเขือเทศในทะเลทรายได้เป็นผลสำเร็จ และบริษัทของอิสราเอลก็พัฒนานวัตกรรมจากสาหร่ายมาอย่างต่อเนื่อง จนทำเงินเข้าประเทศแล้วถึง 100 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,300 ล้านบาท)/trendhunter, newatlas, israel21c, cnbc, cnn

ที่มา Marketeer Online