CP ALL เขาบริหาร-จัดการพนักงาน 7-Eleven กว่าแสนคนทั่วประเทศได้อย่างไร?

รู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยมี 7-Eleven กว่า 12,000 สาขา และมีพนักงานอยู่ทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 100,000 คนคำถามที่เราอยากรู้คือ CP ALL ที่เป็นผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในประเทศไทย เขาบริหาร-จัดการ และดูแลพนักงานทั้งหมดได้อย่างไร?

คุณกรณิศ ธนสุนทรกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์ HR Information System ของบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บอกว่า CP ALL มีพนักงานเซเว่นที่ต้องดูแลกว่าแสนคน เขาทำได้อย่างไร? ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า

สาขา 7-Eleven ในประเทศไทยมีทั้งหมด 3 รูปแบบคือ
1. สาขาที่ CP ALL เป็นคนบริหารเอง
2. สาขาแบบแฟรนไชส์
3. สาขาที่ได้รับลิขสิทธิ์มาพร้อมๆ กับ CP ALL ในช่วงแรก (ส่วนใหญ่กระจายอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภูมิภาค)
ในทั้งหมด 3 รูปแบบนี้ สาขาที่ CP ALL เป็นคนบริหารเองมีจำนวนมากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่านอกจากจะต้องบริหารตัวสาขาแล้ว ตัวพนักงาน CP ALL ก็ต้องเป็นผู้จัดการ-บริหารโดยตรงเองทั้งหมด
• คุณกรณิศ บอกว่า “ถ้าดูจากสาขาที่มีทั่วประเทศกว่า 12,000 สาขา และหากนับเฉพาะแค่สาขาที่ CP ALL เป็นคนบริหารเอง ก็ต้องบอกว่ามีพนักงานไม่ต่ำกว่า 100,000 คนที่ CP ALL ต้องดูแล”
ที่สำคัญคือ ในจำนวนพนักงานกว่า 100,000 คนที่ CP ALL ต้องดูแล ไม่ได้มีเพียงพนักงานประจำสาขาที่เราคุ้นเคยเวลาเดินเข้าไปในร้านสะดวกซื้อเท่านั้น เพราะยังมีพนักงานฝ่ายโลจิสติกส์ที่ทำหน้าที่ส่งสินค้าให้กับแต่ละสาขาทั่วประเทศ และอีกฝ่ายที่ขาดไม่ได้ คือฝ่ายสนับสนุน (support) ที่ต้องคอยดูแลงานหลังบ้านและภาพลักษณ์ขององค์กร
แต่ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน คุณกรณิศ ย้ำว่า “สิ่งสำคัญคือวัฒนธรรมองค์กร” เพราะวัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งสำคัญที่สุด สำหรับ CP ALL เพื่อบริหาร-จัดการพนักงาน สำหรับที่นี่ใช้หลักการที่เรียกว่า Harmony Culture หมายความว่า แม้แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน มาจากต่างที่-ต่างถิ่นกัน แต่เมื่อมาอยู่ในองค์กรแล้ว ทุกคนต้องมีความกลมเกลียวกัน
“ผสมส่วนเหมือน ผสานส่วนต่าง สร้างความกลมเกลียว ดุจดนตรีวงเดียวกัน” คือหนึ่งในข้อความสำคัญของพนักงาน CP ALL ทุกคนที่ใช้ในการทำงาน
ไม่หมดเพียงเท่านั้น คุณกรณิศ อธิบายถึงสิ่งที่ร้อยรัดคนในองค์กร ตั้งแต่ระดับพนักงานหน้าร้านไปจนถึงผู้บริหาร คือคุณลักษณะ 5 ประการขององค์กรที่เรียกเป็นชื่อย่อว่า “ACIOT” ซึ่งประกอบไปด้วย Achievement, Customers, Integrity, Organization และ Team work

กระจายอำนาจลงสู่สาขา คัดเลือกพนักงานท้องถิ่นมาทำงาน ทุกวันนี้ เมื่อ 7-Eleven สาขาใดก็ตามในประเทศ ต้องการรับสมัครพนักงานใหม่เข้ามาทำงาน ไม่จำเป็นต้องส่งใบสมัคร หรือประวัติการทำงานเข้ามาที่สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพอีกต่อไปแล้วเพราะ CP ALL ให้อำนาจแต่ละสาขาในแต่ละพื้นที่บริหาร-จัดการ ดูแลตัวเองได้คุณกรณิศ อธิบายว่า นี่หลักคิดที่เชื่อว่าแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน “ทำไมเราต้องให้สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมาคอยคัดเลือกพนักงานที่จะทำงานในสาขาต่างจังหวัด อำนาจในการเลือกพนักงานมาทำงานในแต่ละพื้นที่ต้องเป็นของพื้นที่นั้นๆ เอง ไม่ใช่กรุงเทพ”
หน้าที่ของสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพจึงมีเพียงการเป็นฝ่ายที่สนับสนุนให้เกิดการคัดเลือกพนักงานมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทุกวันนี้ ในแต่ละสาขามีเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่หลังร้าน เพื่อไว้ใช้ทำการทดสอบทางเทคนิค รวมถึงหากมีการเทรนนิ่งเพื่อให้พร้อมทำงานในร้าน ก็สามารถใช้พื้นที่หลังร้านปฏิบัติการได้ทั้งหมด CP ALL เรียกระบบเหล่านี้ว่าเป็น E-learning คือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อลดกระบวนการ ทำให้ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพอีกต่อไป
และเอาเข้าจริงแล้ว หลักการบริหารจัดการสินค้าในร้าน 7-Eleven ก็ใช้แนวคิดนี้ เพราะถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นได้ว่า สินค้าใน 7-Eleven แต่ละสาขาจัดวางไม่เหมือนกัน บางสาขาเข้าไปเจอของกินก่อน บางสาขาเข้าไปเจอสินค้าอุปโภคบริโภคก่อน นี่คือหลักการเดียวกันที่เชื่อว่า “เพราะแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน จึงต้องบริหาร-จัดการให้แตกต่างกัน”

เส้นทางอาชีพของพนักงาน 7-Eleven คืออะไรบ้าง
คุณกรณิศ บอกว่า เส้นทางอาชีพของพนักงาน 7-Eleven มีหลากหลาย เพราะมีคนหลายช่วงอายุทำงานในร้าน 7-Eleven รู้หรือไม่ว่าในช่วงปิดเทอมมีน้องๆ มาทำงานในช่วงสั้นๆ ต่อปีไม่ต่ำกว่าหลายหมื่นคน บางคนมาทำงานแค่ช่วงปิดเทอม แต่สำหรับคนที่จริงจังทำเป็นอาชีพหลัก หนึ่งในเส้นทางอาชีพยอดฮิตก็คือการขึ้นไปเป็น “ผู้จัดการสาขา”
คุณกรณิศ เสริมว่า แต่อีกหนึ่งสิ่งที่ CP ALL สามารถให้กับพนักงาน 7-Eleven และถือเป็นสิทธิพิเศษ เพราะบริษัทอื่นๆ ส่วนใหญ่ในไทยทำไม่ได้ คือการที่เราเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถทำงานในบ้านเกิดได้
“หลายคนทำงานกับ 7-Eleven วันหนึ่งอยากกลับบ้านเกิด ก็มาขอกลับไป แต่ยังมีงานทำ เพราะ 7-Eleven มีสาขาทั่วประเทศ”
ส่วนถ้าพูดถึงเรื่องผลตอบแทน การเป็นพนักงาน 7-Eleven นอกจากจะมีรายได้เป็นเงินเดือนแล้ว ยังมีค่าเข้ากะ ซึ่งผลสำรวจของ CP ALL พบว่า พนักงานจำนวนไม่น้อยชอบทำงานกะดึก เพราะลูกค้าไม่วุ่นวาย แถมมีรายได้ที่เยอะกว่ากะกลางวัน รวมไปถึงค่าแคชเชียร์ ค่าตำแหน่ง (เช่น เป็นบาริสต้าชงกาแฟ) ค่าเบี้ยขยัน แถมยังจ่ายโบนัสทุกไตรมาสอีกด้วย
“ที่ CP ALL เราอยู่กันเป็นครอบครัว แตกต่างได้ แต่ต้องกลมเกลียวกัน” คุณกรณิศ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา Brand Inside