ผลสำรวจ เอเชีย-ตะวันตก ชอบลงทุน “ESG” แบบไหน


ที่มาภาพ: https://theasset.com/article/46525/asian-and-western-investors-differ-in-esg-priorities

ผลสำรวจล่าสุดสองครั้งได้แสดงให้เห็นถึง ความแตกต่างในการจัดลำดับความสำคัญต่อผลิตภัณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ ESG ของนักลงทุนในประเทศและเขตปกครองของเอเชียและฝั่งประเทศตะวันตก

ตัวอย่างเช่น ในสหราชอาณาจักร นักลงทุนส่วนใหญ่เมื่อจะต้องเลือก ก็จะเลือกผลิตภัณฑ์ที่เน้นตอบสนองความต้องการทางสังคมมากกว่าความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม จากผลศึกษาวิจัยโดย Big Society Capital กลุ่มนักลงทุนที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ในการตอบแบบสอบถาม ผู้ตอบต้องเลือกหนึ่งจากสามตัวเลือก ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในแต่ละคำถามของแบบสอบถาม ที่จะบ่งบอกถึงความชอบในการลงทุน ซึ่งจากการสำรวจพบว่า มากกว่าครึ่ง (57%) ของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี และสองในสาม (67%) ของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี เลือกการลงทุนทางสังคมที่เกิดผลในหลายแบบ มากกว่าการลงทุนที่มีแรงจูงใจด้านสิ่งแวดล้อม

ส่วนผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีให้ความสำคัญกับการลงทุนในด้านที่สร้างผลกระทบทางสังคมในเชิงบวก ขณะที่ปัญหาด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีดึงดูดความสนใจมากที่สุดในกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 24 ปี และเกือบ 4 ใน 10 (39%) ตอบว่า จะเลือกลงทุนในองค์กรการกุศลส่งเสริมสุขภาพจิต ก่อนด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามเลือก 33%

อย่างไรก็ตาม การสำรวจความคิดเห็นของผู้ใหญ่ในสหราชอาณาจักรที่ตอบว่า มีการลงทุนนอกเหนือจากกองทุนบำนาญอย่างน้อยหนึ่งครั้ง แสดงให้เห็นว่าอายุส่งผลต่อแรงจูงใจในการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ เมื่ออายุมากขึ้น ดูเหมือนจะกังวลมากขึ้นกับการลงทุนในแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม

สำหรับผู้ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป สิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นอันดับต้นๆ ของการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบที่ต้องการ โดยมีสัดส่วนของคนที่เลือกด้านนี้เพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ตัวอย่างเช่น 42% ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 25-34 ปีต้องการลงทุนในการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ในกลุ่มเมื่อเทียบกับผู้ที่อายุมากกว่า 55 ปีแล้ว กลุ่มหลังมีสัดส่วนเลือกการลงทุนในเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมมากกว่า

ในขณะเดียวกัน มีงานศึกษาอีกชิ้นหนึ่งพบว่า แรงขับเคลื่อนและความมุ่งมั่นในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเพิ่มขึ้นในกลุ่มนักลงทุนในเอเชีย ผ่านการลงทุนแบบ Thematic Investment หรือ การลงทุนโดยอาศัยการจับทิศทางกระแสหลักของโลก (Mega Trend) ที่กำลังเปลี่ยนไป และจะมีการวิเคราะห์ถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว เพื่อกำหนดธีมในการลงทุน และการเป็นเจ้าของและคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพอย่างข็งขัน

ผลสำรวจ Global Climate Survey 2022 ของ Robeco พบว่า ความสนใจในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดย 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นศูนย์กลางของนโยบายการลงทุนหรือปัจจัยสำคัญ เพิ่มขึ้นจาก 57% ในปี 2564

การสำรวจครอบคลุมนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก 300 รายทั่วยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชียแปซิฟิก ที่มีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การบริหารรวมกันประมาณ 23.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

เมื่อพิจารณาถึงแนวทางสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) 57% ของนักลงทุนในเอเชียถือว่า ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศเป็นกลุ่มหลัก

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนชาวเอเชียตามหลังนักลงทุนชาวตะวันตกในเรื่องการยอมรับความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีเพียง 31% ของผู้ที่อยู่ในเอเชียมองว่าความหลากหลายทางชีวภาพเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายการลงทุนของพวกเขาหรือเป็นปัจจัยสำคัญในปัจจุบัน (ส่วนในยุโรปมี 57%, ในอเมริกาเหนือ 31% ) การให้ความสำคัญกับด้านนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 52% ในเอเชียในอีกสองปีข้างหน้า

Thematic investing เป็นกลยุทธ์ ESG ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในหมู่นักลงทุนชาวเอเชีย โดย 40% จัดว่ามีความสำคัญสูงหรือสำคัญ และ 31% จัดว่ามีความสำคัญต่ำ ตามด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ให้ความสำคัญสูง 40% ความสำคัญต่ำ 24%) และใช้ negative screening การคัดกรอง (ให้ความสำคัญสูง 36% ให้ความสำคัญต่ำ 31%)

อย่างไรก็ตาม

สำหรับนักลงทุนทั้งสองกลุ่ม การขาดข้อมูล ESG และกฎระเบียบที่สม่ำเสมอยังคงเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน

เช่นเดียวกับนักลงทุนในฝั่งตะวันตก นักลงทุนชาวเอเชียมองว่า การประสานงานด้านกฎระเบียบทั่วโลกเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการกับปัญหาต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดคาร์บอน (77% ในเอเชีย 90% ในยุโรป 77% ในอเมริกาเหนือ) อย่างไรก็ตาม นักลงทุนมองว่าเป็นการยากที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับการจัดประเภทความยั่งยืนของการลงทุนต่างๆ และการเปิดเผย ESG มากกว่าในภูมิภาคอื่นๆ (75% ในเอเชีย 63% ในยุโรปและ 61% ในอเมริกาเหนือ)

นักลงทุนทั้งในเอเชียและตะวันตกเห็นพ้องกันว่า ต้องการความโปร่งใสและตัวชี้วัดที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่กฎระเบียบที่มากขึ้น (74% ในเอเชีย 67% ในยุโรปและ 68% ในอเมริกาเหนือ)

เมื่อถามเกี่ยวกับอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์(net-zero economy) นักลงทุนเอเชีย 63% เน้นย้ำถึงการขาดข้อตกลงระดับโลกเกี่ยวกับนโยบาย (เช่น กฎระเบียบและภาษีอากร) ที่จะช่วยให้ตลาดทุนดึงเงินทุนออกจากกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูงไปสู่กิจกรรมที่ยั่งยืนอื่นๆ

ที่มา ไทยพับลิก้า