นักวิเคราะห์ชี้ ปัญหาธนาคารในสหรัฐฯ-ยุโรป ไม่ใช่วิกฤต แต่เป็นภาวะติดเชื้อทางความเชื่อมั่น

นักวิเคราะห์มองว่าการล่มสลายของ Silicon Valley Bank (SVB) ในสหรัฐอเมริกา และ Credit Suisse ในสวิตเซอร์แลนด์ ไปจนถึงเหตุการณ์หุ้น Deutsche Bank ร่วงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็นเพียงภาวะติดเชื้อทางความเชื่อมั่น (Sentiment Contagion) เท่านั้น ยังไม่ใช่วิกฤต

โดย Sara Devereux หัวหน้ากลุ่มตราสารหนี้ระดับโลกของ Vanguard มองว่าเหตุการณ์รอบนี้ไม่เหมือนกับตอนที่ Lehman Brothers เจอปัญหาด้านตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) ที่ซับซ้อนในช่วงวิกฤตซับไพรม์ โดยธนาคารที่ปรากฏในพาดหัวข่าวเมื่อเร็วๆ นี้มีปัญหาเรื่องการจัดการความเสี่ยงของสินทรัพย์แบบดั้งเดิม จากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยธนาคารถูกบังคับให้ต้องขายพันธบัตร และรับรู้ผลขาดทุน

Devereux มองด้วยว่า SVB และ Credit Suisse อาจยังคงอยู่ได้ในวันนี้ หากไม่สูญเสียความเชื่อมั่นจากลูกค้า ซึ่งเห็นได้จากการไหลออกของผู้ฝากเงินจำนวนมหาศาลจากทั้ง 2 ธนาคารในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

“มันเป็นการ ‘ติดเชื้อทางความเชื่อมั่น’ มากกว่าเป็นการลุกลามเชิงระบบจริงๆ ที่เราเคยเห็นในช่วงวิกฤตการเงินโลก ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ Vanguard เชื่อว่าความเสียหายส่วนใหญ่ถูกควบคุมไว้แล้ว ต้องขอบคุณการดำเนินการอย่างรวดเร็วของหน่วยงานรัฐบาลกลางและธนาคารอื่นๆ” Devereux กล่าว

ความตื่นตระหนกในตลาดดูเหมือนจะบรรเทาลงตั้งแต่วันจันทร์ (27 มีนาคม) หลังจากธนาคาร First Citizens บรรลุข้อตกตกลงซื้อสินทรัพย์จำนวนมากของ SVB โดยดัชนี S&P 500 Banks เพิ่มขึ้น 3% ในวันจันทร์ แต่ยังคงลดลง 22.5% ในช่วงเดือนมีนาคม ขณะที่ดัชนี Stoxx 600 Banks ของยุโรปปิดสูงขึ้น 1.7% ในวันจันทร์ แต่ลดลงมากกว่า 17% ในเดือนนี้

ขณะที่ Dan Scott, Head of Vontobel Multi Asset ชี้ให้เห็นว่า ก่อน UBS เทกโอเวอร์ Credit Suisse อย่างฉุกเฉิน อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของ (Common Equity Tier 1 Ratio: CET1 Ratio) และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความเสี่ยง (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ของทั้ง 2 ธนาคารแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง ทั้งความสามารถในการชำระหนี้ และสภาพคล่อง

Scott กล่าวอีกว่า การล่มของแบงก์ในสหรัฐฯ เป็นผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลกใช้นโยบายตึงตัวอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้นๆ แต่เน้นว่าธนาคารรายใหญ่ในยุโรปเผชิญกับภาวะที่แตกต่างกันมาก เมื่อเทียบกับธนาคารขนาดย่อมและขนาดกลางของสหรัฐฯ

“ผมคิดว่าปัญหาอยู่ที่ธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลางในสหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามหลัก Basel III ไม่ได้รับการทดสอบอย่างเข้มงวด สำหรับธนาคารขนาดใหญ่ในยุโรป ผมคิดว่าเรากำลังมองภาพที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และผมไม่กังวล” Scott กล่าว

ทั้งนี้ Basel III คือหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินของ Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) ซึ่งครอบคลุมเรื่องการดำรงเงินกองทุน และการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเงินสามารถต้านทานภาวะวิกฤตในระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจได้ดีขึ้น พร้อมทั้งลดการส่งต่อความเสี่ยงจากระบบการเงินไปยังภาคเศรษฐกิจจริงด้วย

อ้างอิง: