เปิดภูมิทัศน์โลกการเงินยุคใหม่กับ 5 แนวนโยบายพาไทยสู่เศรษฐกิจสีเขียว

โดย นางสาวธนิดา ลอเสรีวานิช ผู้วิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ไม่ว่าเราจะมองเรื่อง “โลกร้อน” หรือภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าไกลตัวแค่ไหน แต่ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ “ผลกระทบจากโลกร้อน” ได้เกิดขึ้นเร็วและรุนแรงกว่าที่คาด ซึ่งจะกระทบกับความเป็นอยู่ของเราและเศรษฐกิจไทยในอนาคตอันใกล้

ผลกระทบจากโลกร้อนที่เริ่มรุนแรง รวมถึงหากไม่มีการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง อาจจะถึงจุดที่แก้ไขอะไรไม่ได้ ส่งผลให้ประเทศพัฒนาแล้วเริ่มออกมาตรการทางการค้าที่สนับสนุนการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจกลายเป็นจุดจบหรือจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมไทยที่ยังใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมที่ส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม และหากไม่มีการปรับตัวในเรื่องนี้ อาจนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่อาจคาดไม่ถึง

ธุรกิจภาคการเงินเริ่มตระหนักถึงภูมิทัศน์ทางการเงินที่เปลี่ยนไปด้วยภาวะโลกร้อน จึงได้เร่งวางแนวทางในการบริหารความเสี่ยงและการสร้างโอกาส โดยมุ่งบริหารทรัพยากรในภาคการเงินเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในภูมิทัศน์โลกการเงินใหม่ให้ผนวกประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินงานด้วย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เร่งเดินหน้า เพื่อมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิด “เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ และได้ย้ำจุดยืนที่จะผนวกความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ทางการเงินในโลกใหม่ไว้ในเอกสารระดมความคิดเห็น “ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน” เพื่อสื่อสารแนวคิดและนโยบายสำคัญด้านนี้ และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

ธปท. จะเดินไปทางไหน สถาบันการเงินต้องทำอะไร และภาคธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง สรุปไว้แล้วใน 5 แนวนโยบายสำคัญที่จะพาเศรษฐกิจไทยมุ่งสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ในเร็ววัน

1. วางรากฐานเริ่มต้นที่ “การจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจสีเขียวตามนิยามเดียวกัน (taxonomy)”

ธปท. มีแนวคิดวางรากฐานที่สำคัญของระบบนิเวศทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงผลักดันให้มีการจำกัดนิยามกิจกรรมทางเศรษฐกิจสีเขียวในบริบทของไทย เพื่อจำแนกและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้อย่างเหมาะสม

การมีคำนิยามที่เป็นมาตรฐานเดียวกันจะช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถติดตามสถานะและดูแลให้สถาบันการเงินจัดสรรเงินทุนไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ รวมถึงธุรกิจที่อยู่ระหว่างการปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านได้อย่างเหมาะสม โดยต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไปจนเกิด “green bubble” หรือภาวะการปรับตัวเพิ่มขึ้นและรวดเร็วเกินปัจจัยพื้นฐานของราคาสินทรัพย์ในธุรกิจสีเขียว

การจัดกลุ่มตามนิยามนี้ ธปท. ได้ระดมความคิดและร่วมมือกับหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้นิยามสะท้อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ และธุรกิจสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง โดยจะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล เช่น ASEAN Taxonomy1, EU Taxonomy2 และ Climate Bonds Taxonomy3 ด้วยเช่นกัน

2. ใคร ทำอะไร อย่างไร ดูได้ที่ “แนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน (standard practice)”

ธปท. อยู่ระหว่างหารือกับสถาบันการเงินในการพัฒนาแนวปฏิบัติกลางเพื่อประเมินรวมถึงบริหารความเสี่ยงและโอกาสด้านสิ่งแวดล้อมในการทำธุรกิจอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดทำสถานการณ์แบบจำลองและการทดสอบภาวะวิกฤติ (scenario analysis and stress testing) ที่คำนึงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวและเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนได้

แนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานจึงเปรียบได้กับคู่มือการแสดงจุดยืนอันมุ่งมั่นของสถาบันการเงิน ที่จะผนวกแนวทางการธนาคารเพื่อความยั่งยืนเข้ามาในกระบวนการดำเนินงานอย่างจริงจังอีกด้วย

3. สร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชน ด้วย “มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล (disclosure)”

ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลสามารถดึงดูดความสนใจ สร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มนักลงทุน เพิ่มความโปร่งใสในการตรวจสอบและกำกับดูแล และยกระดับภาพลักษณ์ขององค์กรต่อสาธารณชนได้ดี

ธปท. สนับสนุนให้สถาบันการเงินแสดงความมุ่งมั่นในการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมผ่านการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานสากล เช่น ข้อเสนอแนะของ Task Force on Climate-related Financial Disclosures (TCFD) และจะพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำฐานข้อมูล เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นในการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงและโอกาสด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป

4. ช่วยคนตัวเล็กเปลี่ยนผ่านด้วย “โครงสร้างแรงจูงใจ (Incentive Structure)”

เพราะทุกการเปลี่ยนผ่านนั้นเต็มไปด้วยความท้าทาย ธปท. อยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณากลไกหรือมาตรการที่ช่วยลดภาระต้นทุนให้แก่ทั้งสถาบันการเงินและภาคธุรกิจ โดยจะออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจ เพื่อเร่งให้เกิดการปรับตัวและเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน

โครงสร้างแรงจูงใจจะให้น้ำหนักกับการเพิ่มโอกาสให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น ลดต้นทุนการประเมินเพื่อรับรองการขอสินเชื่อ โดยมุ่งให้ธุรกิจมีเงินทุนต่อยอดเพื่อปรับตัวเข้าสู่กิจกรรมที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

5. “สร้างคน สร้างความสัมพันธ์ (capacity building and collaboration)” เพื่อก้าวที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

ธปท. ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรบุคคลในภาคการเงิน ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการธนาคารเพื่อความยั่งยืน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนให้มีการพัฒนาทักษะและความสามารถของบุคลากรในภาคการเงินจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายในต่างประเทศ

นอกจากนี้ ธปท. ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาคการเงินอื่น เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างกัน โดยกำหนดแนวทาง Sustainable Finance Initiatives for Thailand4 ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมแห่งความยั่งยืนไปพร้อมกัน

ต่อยอดจากการปรับตัวเข้าสู่ภูมิทัศน์ทางการเงินในโลกใหม่ ธปท. วางแผนที่จะลงรายละเอียดเรื่องการดำเนินงานเพื่อบริหารความเสี่ยงและโอกาสด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมในเอกสาร Managing Transition towards Greater Environmental Sustainability ซึ่งมีกำหนดเผยแพร่ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

หมายเหตุ

1.สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของ ASEAN Taxonomy ได้ทาง https://afcwp.asean.org/wp-content/uploads/2021/11/ASEAN-Taxonomy.pdf
2.สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของ EU Taxonomy ได้ทาง https://ec.europa.eu/info/sites/default/files/business_economy_euro/banking_and_finance/documents/200309-sustainable-finance-teg-final-report-taxonomy_en.pdf
3.สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของ Climate Bonds Taxonomy ได้ทาง https://www.climatebonds.net/files/files/Taxonomy/CBI_Taxonomy_Tables-08A%20%281%29.pdf
4. สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของ Sustainable Finance Initiatives for Thailand ได้ทาง https://www.bot.or.th/Thai/SustainableBanking/Documents/Sustainable_Finance_Initiatives_for_Thailand.pdf

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่มา ไทยพับลิก้า