‘BKP และ LDC’ ร่วมมือใช้แผนที่ดาวเทียม ตรวจสอบย้อนกลับห่วงโซ่ถั่วเหลือง ยืนยัน ปลอดการตัดไม้ทำลายป่า

กรุงเทพโปรดิ๊วส หรือ BKP บริษัทย่อยของ CPF ผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารระดับโลก และ หลุยส์ เดรย์ฟัส หรือ LDC ผู้ค้าและแปรรูปสินค้าเกษตรชั้นนำระดับโลก ลงนามบันทึกความเข้าใจสร้างความร่วมมือการใช้แผนที่ดาวเทียมและข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับในการจัดหาถั่วเหลือง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นการจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ของ BKP ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า ร่วมขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการลดคาร์บอนเป็นศูนย์

BKP และ LDC มีเป้าหมายร่วมกันพัฒนาห่วงโซ่อุปทานถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า ภายในปี 2568 เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของสินค้ามากขึ้น โดยร่วมมือกันทุกมิติ ทั้งด้านการค้า เทคนิค และความยั่งยืน ครอบคลุมการใช้ข้อมูลระบบตรวจสอบย้อนกลับ รวมถึงการประยุกต์ใช้แผนที่ดาวเทียมในการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งปลูก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการจัดหาถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองจากบราซิล สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ของ BKP และ CPF ในไทย รวมถึงกิจการในภูมิภาคเอเชีย

คุณไพศาล เครือวงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BKP กล่าวว่า เราให้ความสำคัญกับสร้างความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำระดับโลก เพื่อยกระดับการจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การลงนามในครั้งนี้ เพื่อบูรณาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาภาคเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน มุ่งสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ภายในปี 2593 และสร้างความยั่งยืนของระบบการผลิตอาหารของโลก” คุณไพศาล กล่าว

ด้าน คุณเจมส์ โจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการค้า กลุ่ม LDC ผู้บริหารสูงสุด ด้านโซลูชั่นอาหารและอาหารสัตว์ และผู้บริหารสูงสุดประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า ยินดีที่ได้ร่วมกับ BKP นำร่องการตรวจสอบย้อนกลับวัตถุดิบทางการเกษตรเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความยั่งยืน และช่วยลดคาร์บอนในห่วงโซ่ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคมและสิ่งแวดล้อม รับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“โครงการนี้ ยังสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของ LDC แนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนตลอดทั้งกิจกรรมและการดำเนินธุรกิจของเรา โดยนำโซลูชั่นที่มีประสิทธิภาพตอบสนองความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภค สนับสนุนอนาคตการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรที่ยั่งยืน” คุณเจมส์ โจว กล่าว

ความร่วมมือในครั้งนี้ ยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยคาร์บอนและบูรณาการห่วงโซ่คุณค่าร่วมกัน เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บูรณาการระบบต่างๆ ที่รวมถึงการถ่ายโอนข้อมูลแบบเรียลไทม์ ปรับปรุงโซลูชั่นด้านดิจิทัลการตรวจสอบย้อนกลับให้สอดคล้องกับกฎหมายสินค้า ปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR, Regulation (EU) 2023/1115) รวมถึงมาตรฐานการรับรองความยั่งยืน เช่น Round Table on Responsible Soy (RTRS) การรับรองความยั่งยืนและคาร์บอนระหว่างประเทศ (International Sustainability and Carbon Certification : ISCC) และมาตรฐาน ProTerra ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานสากลที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์เกษตรกรรม ที่ผ่านขั้นตอนการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว และนำไปแปรรูป โดยไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ที่มา PR CPF