ธนาคารแห่งประเทศไทย มองเศรษฐกิจไทยปี 65 อย่างไร? เมื่อโอไมครอนซัด ของแพงซ้ำ นักท่องเที่ยวชะลอมาไทยถึงกลางปี

ปลายปีที่ผ่านมาเหมือนเศรษฐกิจจะฟื้น แต่ก็เกิดเหตุโควิดสายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ คำถามคือประเทศไทยหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร Brand Inside สรุปมุมมองจากธปท. มาเล่าให้ฟัง

ปี 2565 เศรษฐกิจไทย และ โอไมครอน

เศรษฐกิจของไทยดูจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา มาตรการควบคุมต่างๆ ผ่อนคลายลง ผู้คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านกันมากขึ้น และยังมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

แต่ในวันที่ 6 ธ.ค. 2021 มีการพบผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเป็นครั้งแรกในไทย และในวันที่ 20 ธ.ค. 2021 มีการติดเชื้อในประเทศรายแรก หลังจากนั้นก็สถานการณ์การระบาดในไทยก็เปลี่ยนไป

จากจำนวนผู้ป่วยรายวันที่ลดลงต่ำสุดอยู่ที่ 2,305 คน ในวันที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา ล่าสุด ผู้ป่วยใหม่ในประเทศไทยดีดกลับมาอยู่ที่ 7,133 คน

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดคำถามที่ว่า ประเทศไทยหลังจากนี้จะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร?

Brand Inside สรุปประเด็นจาก การประชุมนักวิเคราะห์ครั้งที่ 4/2564 โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อวานนี้ ชี้ให้ทุกท่านได้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ทั้งในปี 2565 และปี 2566 จะเป็นอย่างไรในมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย

กราฟแสดงยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันของประเทศไทย

ธปท. มองภาพรวมฟื้นตัว ปลายปี 64 มีมุมบวก

สิ่งที่น่าสนใจจากการประชุมครั้งนี้ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่า ปีที่ผ่านมาค่อนข้างจะเป็นปีที่ท้าทาย แต่ก็พอจะเห็นแสงสว่างอยู่บ้างในช่วงไตรมาสที่ 4 โดยในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในภาพรวม

ที่จริงแล้ว ประเทศไทยมีแรงส่งจากเศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เห็นได้จากตัวเลขในรายงานนโยบายทางการเงินของเดือนธันวาคม ปี 2564 ที่ดีขึ้นกว่าการประมาณการในเดือนกันยายน ปี 2564 เช่น

  • เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 0.9% ในปี 2564 จากที่ประมาณการไว้ที่ 0.7%
  • มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.8 แสนคน ในปี 2564 จากที่ประมาณการไว้ที่ 1.5 แสนคน
เศรษฐกิจไทยปี 64 ดีกว่าคาด แต่ปี 2565 โดนโอไมครอนกดดัน

4 ปัจจัย ท้าทายเศรษฐกิจปี 65

ในปี 2565 ประเทศไทยยังต้องเผชิญความท้าทาย โดย ดร. ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยสายนโยบายการเงิน ชี้ว่า แม้เศรษฐกิจจะฟื้นต่อเนื่อง แต่ต้องจับตาปัจจัยสำคัญ 4 อย่าง คือ

  • การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน
  • การฟื้นตัวของแต่ละสาขาเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน
  • ตลาดแรงงานที่ยังมีความเปราะบาง
  • แรงกดดันต่อเงินเฟ้อทั้งจากปัจจัยภายในและนอกประเทศ

ด้วยความเสี่ยงข้างต้น ธปท. จึงปรับประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2565 เหลือ 3.4% จากที่คาดไว้ก่อนหน้าที่ 3.9% และมองว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทย 5.6 ล้านคน จากที่คาดการณ์เอาไว้ที่ 6 ล้านคน

โอไมครอนกดดันเศรษฐกิจปี 65 แค่ครึ่งปี

ทั้งนี้ ดร. สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค อธิบายเพิ่มเติมว่าความเสี่ยงหลักๆ จากการระบาดของสายพันธุ์ โอไมครอน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอยู่แค่ช่วงครึ่งปีแรก

โอไมครอน

แม้โควิดสายพันธุ์ โอไมครอน จะแพร่กระจายได้เร็วกว่า แต่วัคซีน (ซึ่งตอนนี้มีการแจกจ่ายดีขึ้นกว่าเดิม) จะช่วยลดความรุนแรงของการเจ็บป่วย ทำให้ระบบสาธารณสุขสามารถรองรับผู้ป่วยหนักได้ดีขึ้น และภาครัฐเองก็จะไม่ต้องใช้มาตรการควบคุมการระบาดในวงกว้าง ใช้แค่ในพื้นที่ต่างๆ ที่เกิดการระบาด

ธปท. ยังคาดการณ์เอาไว้ว่าการยกเลิกมาตรการ Test & Go จะเป็นแค่มาตรการชั่วคราวในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนในต่างประเทศ การจำกัดการเดินทาง กักตัว และปิดพรมแดน จากประเด็นโอไมครอนน่าจะผ่อนคลายในครึ่งปีหลัง

ด้วยปัจจัย 3 อย่าง ธปท. จึงชี้ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจจะถูกกระทบชั่วคราว และจะกดดันเศรษฐกิจแค่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565

เศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวไม่เท่ากัน

แม้ว่าในภาพรวมประเทศไทยจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่เมื่อแยกมองแต่ละสาขาเศรษฐกิจ เรากลับพบว่าแต่ละอุตสาหกรรมกลับฟื้นตัวได้ไม่เท่ากัน เช่น

  • HDD, IC & Semiconductor, เครื่องใช้ไฟฟ้า เติบโตกลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิดแล้วตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 เพราะเชื่อมโยงกับการส่งออก
  • ภาคบริการและท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ยังฟื้นตัวได้ช้า เพราะเชื่อมโยงกับจำนวนนักท่องเที่ยว

ที่สำคัญก็คือ ธปท. มองว่า แม้จะเข้าสู่ช่วงปลายปีนี้ ธุรกิจโรงแรมก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาคึกคักเท่ากับช่วงก่อนการระบาดอยู่ดี เพราะ ธปท. มองว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแค่ 5.6 ล้านคน

ดร. สักกะภพ ระบุว่า “ถ้าเศรษฐกิจสามารถโตได้ตามกรณีฐานที่ 3.4% ผลประโยชน์ก็จะลงมาในแง่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน แต่เราก็เห็นได้ว่ามีความไม่เท่าเทียมทั้งในแง่ของการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ของแต่ละสาขาเศรษฐกิจอยู่”

“เราจึงให้ความสำคัญกับการจ้างงานและการสร้างรายได้ แน่นอนว่านโยบายการเงินก็มีบทบาท แต่ส่วนที่ตรงจุดจริงๆ คือ นโยบายการคลัง การขยายเพดานหนี้สาธารณะและการเพิ่มวงเงินจะสามารถนำไปกระตุ้นการจ้างงานและการสร้างรายได้ ทำให้ภาคเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ฟื้นตัวช้า” ดร. สักกะภพเสริม

HDD, IC & Semiconductor, เครื่องใช้ไฟฟ้า เติบโตกลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิดแล้วตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 เพราะเชื่อมโยงกับการส่งออก แต่ภาคบริการและท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ยังฟื้นตัวได้ช้า เพราะเชื่อมโยงกับจำนวนนักท่องเที่ยว

ส่วนในอนาคต ดร. สักกะภพ ระบุว่า ธปท. คาดเอาไว้ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะเติบโตได้ที่ 4.7% และจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทย 20 ล้านคน หรือประมาณ 50% ของช่วงก่อนการระบาด ซึ่งแม้จะไม่ใช้ตัวเลขระดับปกติ แต่ก็ถือเป็นปัจจัยผลักดันการฟื้นตัวที่สำคัญ

ที่มา – ธนาคารแห่งประเทศไทย