นวัตกรรมใหม่ ผลิตผงโปรตีนจากคาร์บอน อีกหนึ่งแนวทางลดการขาดแคลนอาหารแบบยั่งยืน

วงการอาหารคิดนวัตกรรมใหม่หลังโปรตีนทางเลือกและเนื้อที่ผลิตในแลปมีให้เห็นมากมายตามร้านค้า ล่าสุดผลิตผงโปรตีนจากการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์

ความน่าสนใจตรงที่แทนที่จะผลิตด้วยกระบวนการที่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซต์ กลับดักจับคาร์บอนได้ออกไซด์ที่มีอยู่แล้วในอากาศมาสร้างอาหารโดยใช้วิธีคล้าย ๆ กับการผลิตเนื้อสัตว์จากในแลป แต่เปลี่ยนจากการผลิตเซลล์โปรตีนในเนื้อสัตว์มาเป็นผลิตผงโปรตีน ผงที่ได้มีลักษณะเหมือนแป้งตามปกติแถมยังนำไปทำอาหารได้ทุกชนิด

บริษัทอาหาร Air Protein เป็นบริษัทหนึ่งที่พัฒนาเทคโนโลยีนี้โดยจะใช้ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์และไนโตรเจนที่มีอยู่แล้วในอากาศ จากนั้นก็ใช้แบคทีเรียที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเพื่อสร้างโปรตีน ส่วนแป้งโปรตีนที่ได้ออกมาก็สามารถนำมาทำอาหารได้ตั้งแต่นักเก็ตไก่ไปจนถึงเส้นพาสต้า

ปัจจุบัน Air Protein ได้นำแป้งที่ได้มาผลิตเป็นนักเก็ตไก่ที่ใช้ชื่อว่า Air Chicken และในอนาคตจะนำแป้งไปทำเส้นพาสต้าและโปรตีนเชคด้วย โดยจะร่วมมือกับบริษัทอาหารรายใหญ่อย่าง ADM เพื่อเปิดโรงงานผลิตอาหารครั้งแรกในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

Solar Foods บริษัทสตาร์ทอัพในฟินแลนด์ก็เป็นอีกบริษัทที่มีกระบวนการผลิตแป้งโปรตีนจากคาร์บอนไดออกไซด์ แป้งที่ทำออกมาได้เรียกว่า Solein เป็นผงแป้งสีเหลืองที่มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบ 60-70% มีรสชาติกลาง ๆ  ส่วนประกอบที่เหลือก็เป็นกรดไขมันและไฟเบอร์

Solar Foods ใช้คาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากโรงงานแคลเซียมคอลไรด์ผสมกับไนโตรไจนเพื่อผลิตแป้งโปรตีนของตัวเอง นอกจากนี้ ยังแยกไฮโดรเจนออกจากโมเลกุลน้ำด้วยอิเล็กโทรไลต์เพื่อให้เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนในกระบวนการ Juha-Pekka Pitkänen ผู้ก่อตั้งและซีทีโอได้เปรียบเทียบการทำว่าเหมือนกับการทำยีสต์ที่ใช้ในเบเกอรี่หรือกรดแลคติกในโยเกิร์ต

บริษัทตั้งเป้าขายผงโปรตีนให้กับบริษัทผลิตอาหารตั้งแต่ชีสไปจนถึงเนื้อสัตว์ทางเลือก ในปีที่แล้ว ก็ได้รับใบอนุญาตขายสินค้าในสิงคโปร์ที่นำ Solein ไปใช้ในการทำไอศกรีม ส่วนในปี 2024 บริษัทวางแผนที่จะขยายกำลังการผลิตในโรงงานใหม่ที่เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ Solein มีราคาที่แข่งขันกับโปรตีนถั่วได้ โดยน่าจะขายที่ราคา 3-6 ดอลลาร์ต่อกิโลกกรัม

การผลิตอาหารจากคาร์บอนช่วยแก้ปัญหา 2 อย่างในเวลาเดียวกัน คือ การขาดแคลนอาหารและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมอาหาร Air Perotein ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศของสหรัฐอเมริกาเพื่อผลิตอาหารในพื้นที่อ่อนไหวอย่างพื้นที่ภัยพิบัติหรือเขตสงครามเพื่อให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างรวดเร็วในสภาพแวดล้อมที่ทรัพยากรมีจำกัด

วิธีสร้างโปรตีนจากคาร์บอนไดออกไซด์ยังใช้ทรัพยากรน้อยกว่าและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงแทนที่การใช้ปุ๋ย ดิน น้ำ และแรงงานจากการเกษตรแบบปกติ แต่ต้นทุนที่มีมูลค่าสูงที่สุดก็คือการใช้พลังงาน อย่าง Solar Foods ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนก็ทำให้ต้นทุนราคาแพงมากขึ้น

แม้จะยังมีข้อจำกัดอยู่แต่ Lisa Dyson ผู้ก่อตั้ง Air Protein กล่าวว่า นี่เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยผลิตอาหาร เพราะประชากรโลกจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ขาดแคลนที่ดินในการทำการเกษตรและปศุวัตว์ หากมีกระบวนการสร้างอาหารใหม่ ๆ ก็จะทำให้หลีกเลี่ยงปัญหาขาดแคลนพื้นที่ซึ่งนำไปสู่ภาวะการขาดแคลนอาหารได้

ที่มา – GreenBiz , Brand Inside